×

ผลวิจัยสะท้อนโลกร้อนขั้นวิกฤต พบน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายเร็วขึ้น ทำระดับน้ำทะเลสูงเกินคาด

23.02.2022
  • LOADING...
โลกร้อน

สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยรายงานการวิจัยล่าสุดที่พบว่า อัตราการละลายของฐานน้ำแข็งในกรีนแลนด์เร็วกว่าผลการศึกษาในครั้งก่อน ทำให้มีน้ำและน้ำแข็งหลอมละลายลงสู่มหาสมุทรมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งหมายรวมถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์เช่นกัน

 

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า มีอัตราการละลายที่ ‘ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน’ และการละลายของน้ำแข็งจะส่งผลให้น้ำบริเวณฐานน้ำแข็งอุ่นขึ้น สามารถวัดเป็นระดับพลังงานรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในกระบวนการนั้นการศึกษาพบว่าการละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์สามารถผลิตพลังงานมากกว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก 10 แห่งรวมกัน

 

อย่างไรก็ตามความร้อนที่เกิดจากน้ำแข็งละลายไม่ได้นำมาผลิตไฟฟ้า แต่นำมาใช้ละลายน้ำแข็ง และน้ำแข็งที่ละลายออกมาจะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเล เป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลายเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและถิ่นที่อยู่อาศัยของประชากรมากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก   

 

โปล คริสตอฟเฟอร์เซน (Poul Christoffersen) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเข้าร่วมทีมการศึกษาสำรวจในครั้งนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงหลายเดือนที่อากาศอุ่น แอ่งน้ำที่หลอมละลายลงสู่ทะเลสาบและลำธารบนพื้นผิวของแผ่นน้ำแข็งบางส่วนจะไหลลงสู่ก้นของแผ่นน้ำแข็งผ่านตามรอยแตกและรอยร้าวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นภายในชั้นน้ำแข็ง ก่อให้เกิดการเสียดทานและแรงกดดัน

 

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า น้ำที่หลอมละลายดังกล่าวนั้นมีส่วนทำให้เกิดการหลอมเหลวมากขึ้นที่บริเวณฐานของแผ่นน้ำแข็ง แถมน้ำที่หลอมละลายดังกล่าวยังทำหน้าที่เสมือนสารหล่อลื่นที่ช่วยให้รอยแตกในแผ่นน้ำแข็งหลอมเร็วขึ้น ปริมาณน้ำแข็งที่ปล่อยลงสู่มหาสมุทรจึงเพิ่มขึ้น

 

คริสตอฟเฟอร์เซนกล่าวว่า ในกรณีส่วนใหญ่ การวิจัยการละลายของแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งมักมุ่งไปที่ฐานเป็นหลัก โดยการศึกษามักจะเน้นที่แหล่งความร้อนภายนอก ทำให้มองข้ามความร้อนที่เกิดขึ้นภายในแผ่นน้ำแข็งที่ละลายตัวเอง

 

“มีพลังงานจำนวนมากที่สะสมอยู่ในน้ำซึ่งก่อตัวขึ้นบนพื้นผิว และเมื่อมันตกลงมา พลังงานจะต้องไปที่ไหนสักแห่ง” คริสตอฟเฟอร์เซนกล่าว

 

ทั้งนี้แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์เป็นแผ่นน้ำแข็งที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และถือเป็นหนึ่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น

 

คริสตอฟเฟอร์เซนกล่าวเสริมอีกว่า น้ำแข็งในกรีนแลนด์กำลังละลายบนพื้นผิวเร็วกว่าที่หิมะจะตกทันเพื่อทดแทนการละลายดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่จากการละลาย โดยในส่วนของน้ำแข็ง ทีมวิจัยสามารถประเมินอัตราการหลอมเหลว ซึ่งสูงถึง 5 หรือ 6 เซนติเมตร

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ท้าทายสำหรับการศึกษาแผ่นน้ำแข็งในขณะนี้ก็คือการวัดสภาพโดยตรงที่ฐานน้ำแข็ง ซึ่งอยู่ต่ำกว่าพื้นผิวประมาณ 1 กิโลเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรีนแลนด์ ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มธารน้ำแข็งที่มีการเคลื่อนที่เร็วที่สุดในโลก

 

งานนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จึงร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ และโครงการสำรวจทางธรณีวิทยาของเดนมาร์และกรีนแลนด์ เพื่อดำเนินการศึกษาสถานการณ์การละลายของน้ำแข็งที่ฐานอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นไปที่ Store Glacier ซึ่งเป็นทางออกขนาดใหญ่จากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์

 

ในการวัดอัตราการหลอมเหลว นักวิจัยได้ใช้เทคนิคที่พัฒนาขึ้นใน British Antarctic Survey ที่เรียกว่าเสียงสะท้อนด้วยคลื่นวิทยุที่ไวต่อเฟส (phase-sensitive radio-echo sounding) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ทีมนักวิจัยสามารถวัดความหนาของน้ำแข็งได้ และเป็นวิธีการเดียวกันกับที่เคยใช้วัดแผ่นน้ำแข็งที่ลอยอยู่รอบๆ ทวีปแอนตาร์กติกา

 

อย่างไรก็ตาม ตุนจันยัง (Tun Jan Young) ผู้ดำเนินการศึกษาในครั้งนี้ และเป็นผู้ที่ดำเนินการติดตั้งระบบตรวจวัดบน Store Glacier ไม่แน่ใจว่าเทคนิคที่นำมาใช้นี้จะได้ผลกับแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่มีการเคลื่อนที่และหลอมละลายได้อย่างรวดเร็วกว่าน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาหรือไม่ ยังไม่นับถึงปริมาณน้ำแข็งที่ละลายออกมาจำนวนมากในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอาจทำให้การทำงานเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น

  

อ้างอิง: 

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X