ผลการวิจัยล่าสุดชี้ว่า น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายตัวเฉลี่ยถึง 30 ล้านตันในทุกๆ 1 ชั่วโมง สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตการณ์โลกรวนนับวันจะยิ่งสร้างผลกระทบที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับการศึกษานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อระบุตำแหน่งสิ้นสุดของธารน้ำแข็งหลายแห่งของกรีนแลนด์ทุกเดือน นับตั้งแต่ปี 1985-2022 ซึ่งผลออกมาว่า น้ำแข็งมีการหดตัวลงอย่างมากและเกิดขึ้นในหลายจุด โดยรวมแล้วปริมาณน้ำแข็งที่หายไปมีมากนับล้านล้านตัน
อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบว่า น้ำแข็งกรีนแลนด์มีการสูญเสียมวลน้ำแข็งปริมาณมหาศาลตั้งแต่ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิโลกของเราปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จะใช้วิธีการตรวจวัดระดับความสูงของแผ่นน้ำแข็งหรือน้ำหนักของมันผ่านข้อมูลแรงโน้มถ่วง ซึ่งทำให้สามารถประเมินปริมาณน้ำแข็งที่สูญเสียไปได้แม่นยำขึ้น
นักวิทย์หวั่น การละลายตัวของน้ำแข็งกรีนแลนด์อาจทำให้กระแสน้ำ AMOC ล่มสลาย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเกิดความวิตกกังวลว่า การที่ธารน้ำแข็งละลายตัวจะทำให้มีน้ำจืดไหลลงมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของกระแสน้ำ AMOC ในแอตแลนติกเหนือ อันเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของเทอร์โมฮาไลน์ (Thermohaline Circulation) หรือสายพานลำเลียงกระแสน้ำขนาดยักษ์ที่ไหลเวียนไปในทุกมหาสมุทรทั่วโลก และคอยทำหน้าที่รักษาสมดุลของภูมิอากาศ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษยชาติ
ปัจจุบันกระแสน้ำ AMOC อยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวมากที่สุดในรอบ 1,600 ปี เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกรวนส่งผลให้ธารน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์เกิดการละลาย น้ำจืดปริมาณมหาศาลจะไหลลงสู่จุดเริ่มต้นของ AMOC ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของเทอร์โมฮาไลน์ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ บริเวณนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกรีนแลนด์ และเมื่อความเค็มของน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวเจือจาง จะทำให้กระบวนการจมตัวของมวลน้ำบริเวณดังกล่าวค่อยๆ ช้าลงจนหยุด ส่งผลให้สายพานการไหลเวียนทั้งระบบทั่วโลกจะไหลช้าลง จนในที่สุดก็จะหยุดชะงักตามไปด้วย โดยผลการวิจัยล่าสุดชี้ว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด การล่มสลายอาจเริ่มเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปี 2025
ภาพ: Jason Edwards Via Getty Images
อ้างอิง: