×

ขึ้นแล้ว! ‘ชาเขียว-กาแฟกระป๋อง’ ปรับราคารับภาษีความหวาน

09.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ผลกระทบของการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่มตามโครงสร้างใหม่ ไวน์เพิ่มสูงสุด 21.1%
  • ประกาศเพิ่มภาษีความหวานครอบคลุมเครื่องดื่ม 3 in 1
  • เครื่องดื่มหวานจัดจะถูกเก็บภาษีลิตรละ 5 บาท ในปี 2566

 

โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ กดดันอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

     เป็นที่ทราบดีว่าภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีจากการขายที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท ซึ่งมีเหตุผลสมควรที่จะต้องรับภาระภาษีสูงกว่าปกติ โดยหนึ่งในกลุ่มสินค้าประเภทนี้คือสินค้าที่บริโภคแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจเครื่องดื่มหลายประเภทถูกวิจารณ์มาโดยตลอดเรื่องปริมาณน้ำตาลที่สูงและอาจจะไม่ได้ส่งผลทางบวกต่อสุขภาพ

     ความเห็นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ผลกระทบจากเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่มตามโครงสร้างใหม่โดยชี้ว่า แม้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มจะมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท แต่อัตราการเติบโตค่อนข้างต่ำและเป็นสินค้าที่สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมการจับจ่ายในขณะนี้

     และการประกาศอัตราภาษีใหม่นี้จะเป็นแรงกดดันต่อทั้งอุตสาหกรรมให้เติบโตในกรอบที่จำกัด โดยสินค้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกมากที่สุดคือไวน์ ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่ม 21.1% ของราคาขายปลีก ขณะที่ชาพร้อมดื่มจะขยับ 7.5% ของราคาขายปลีก โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวทั้งส่วนผสมหรือสัดส่วนของกำไรต่อผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการกระทบกับภาพรวมของธุรกิจให้มากที่สุด

 

ประกาศเก็บภาษีเครื่องดื่มชงพร้อมดื่มเพิ่ม

     หลังจากที่กรมสรรพสามิตประกาศกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา สาระสำคัญคือการเก็บ ‘ภาษีความหวาน’ เช่นเดียวกับสินค้าเครื่องดื่มอย่างชาเขียว เป็นต้น โดยระบุชัดเจนถึงเครื่องดื่มแบบเกล็ดหรือผงที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและชงละลายน้ำดื่มได้ที่เรารู้จักกันในลักษณะ 2 in 1 หรือ 3 in 1 ก็ตามที อาจยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนจากสินค้ายอดนิยมก็คือกาแฟกระป๋อง ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีโครงสร้างสรรพสามิตใหม่ดังนี้

 

 

     อัตราดังกล่าวจะปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี โดยจะปรับในวันที่ 1 ตุลาคมของปี 2562, 2564 และปรับสู่เพดานสูงสุดในปี 2566 ซึ่งจะเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 6 กรัมขึ้นไปเป็นขั้นบันได โดยถ้ามีน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะถูกเก็บภาษีถึงลิตรละ 5 บาท

     สำหรับการคิดอัตราภาษีความหวานจะวัดค่าน้ำตาลตามหน่วยบริโภค โดยคิดหลังจากผสมน้ำตามสัดส่วนที่กำหนด แล้วจึงคำนวณภาษีตามอัตราใหม่ที่กรมสรรพสามิตกำหนด

 

ภาษีความหวานไม่ใช่ของใหม่

     การเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในระดับที่สูงนั้น ในต่างประเทศใช้มาตรการนี้มานานแล้ว แต่สำหรับประเทศในเอเชียก็เริ่มตื่นตัวเช่นกัน เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ประเทศฟิลิปปินส์เพิ่งปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตของเครื่องดื่ม ครอบคลุมทั้งน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ชา และกาแฟพร้อมดื่ม ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาเครื่องดื่มเพิ่มตั้งแต่ 2% ไปจนถึง 140% เลยทีเดียว โดยต้นทุนของเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์โดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นถึง 36%

     ขณะที่สิงคโปร์ รัฐบาลก็ขอความร่วมมือให้บริษัทเอกชนลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลง กระทั่งนายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ยังออกมาเรียกร้องให้ประชาชนดื่มน้ำเปล่าแทน นอกจากการขึ้นภาษีแล้วยังผลักดันการติดป้ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลสูงเพื่อกระตุ้นการรับรู้อีกด้วย โดยสิงคโปร์วางแผนควบคุมเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศให้มีน้ำตาลไม่เกิน 12% ภายในปี 2020

 

 

     ขณะนี้มีรายงานว่าผู้ประกอบการชาเขียวเริ่มปรับขึ้นราคารายละ 2-5 บาท ส่วนผู้ผลิตกาแฟกระป๋องเริ่มปรับราคาขึ้น 2 บาท เพื่อรับกับภาระด้านภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เราคาดการณ์ได้ไม่ยาก เพราะเป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการจะผลักภาระให้กับผู้บริโภคเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอาไว้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X