×

เป้าหมายของ AIS ตั้งใจลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เดินหน้าจับมือ GULF ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนห่างไกล ผ่านโครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย

โดย THE STANDARD TEAM
11.06.2024
  • LOADING...
AIS

HIGHLIGHTS

  • ในอดีตคนมักพูดว่าที่ไหนมีไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตไปถึง พื้นที่นั้นก็จะมีความเจริญตามมา แต่ในความเป็นจริงแล้วในประเทศไทยยังมีอีกหลายชุมชนที่ห่างไกลไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งๆ ที่ปัจจัยทั้งหมดนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันดับต้นๆ ที่จะช่วยสร้างชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
  • บริบทดังกล่าวจุดประกายให้ AIS, GULF และ สวพส. ผนึกกำลังเข้าไปติดตั้งพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตโดยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ พร้อมติดตั้งสถานีฐานโดยใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ เชื่อมต่อระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลให้กับชุมชนพื้นที่ห่างไกล
  • ผ่านโครงการ Green Energy Green Network for THAIs วางโรดแมประยะยาวลุยขยายอีก 50-60 โครงการใน 5 ปี ปัจจุบันนำร่อง 2 พื้นที่ห่างไกล ชุมชนบ้านดอกไม้สด และชุมชนมอโก้โพคี ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
  • ทั้งหมดมีเป้าหมายให้ชุมชนเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับชุมชน

เป้าหมายของ AIS ไม่ใช่แค่สร้างรายได้ แต่ตั้งใจลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

 

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ฉายภาพให้เห็นถึงการทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในทุกด้าน ตลอด 34 ปีที่ผ่านมาเราตั้งใจสร้างโครงข่ายดิจิทัลขึ้นมาเพื่อให้คนไทยได้ใช้งาน ทั้งเครือข่ายมือถือและเน็ตบ้าน ที่สามารถเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรงตามเป้าหมาย

 

 

ถึงวันนี้ AIS จะมีโครงข่ายหรือสัญญาณโมบายล์ครอบคลุมแล้ว 98% มี 5G ครอบคลุม 90% ของพื้นที่ในประเทศ และอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือน แต่เป้าหมายของ AIS ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้เท่านั้น แต่เราตั้งใจยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

วางโรดแมประยะยาวลุยขยายอีก 50-60 โครงการใน 5 ปี

 

สำหรับโครงการ Green Energy Green Network for THAIs นั้น วางโรดแมปให้เป็นโครงการระยะยาว พร้อมเดินหน้าเข้าไปติดตั้งพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตโดยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ พร้อมติดตั้งสถานีฐานโดยใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ เชื่อมต่อระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลให้กับชุมชน

 

 

นับเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อขยายผลให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม โดยถือเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ทั้งนี้ จะเลือกเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเดือดร้อนมากที่สุด โดยพิจารณาจากพื้นที่ ที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในการคัดเลือกพื้นที่ที่สัญญาณยังเข้าไม่ถึง

 

 

ทั้งนี้ หลังจากติดตั้งเสาสัญญาณแล้ว AIS จะมีการประเมินและติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในชุมชน หรือ Social Impact Assessment – SIA โดยเชื่อว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับชุมชน

 

 

เรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่นอกจากจะต่อยอดให้ AIS ส่งมอบบริการได้ครอบคลุมมากขึ้นแล้ว ในฐานะที่เป็นบริษัทชั้นนำและมีความพร้อมเชื่อมต่อการทำงานกับทุกภาคส่วน ยังตอบโจทย์หัวใจสำคัญคือ การพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลเข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ทลายข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่

 

 

ขับเคลื่อนด้วยการใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้ และเข้าถึงแหล่งความรู้ บริการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข

 

ไม่หมดเพียงเท่านั้น AIS และพาร์ตเนอร์จะมีการติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการนี้ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆ อย่างยั่งยืน

 

 

ต่อยอดโครงการให้มากกว่าไฟฟ้า

 

มาดูในฝั่งของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จุดเริ่มต้นของโครงการ Green Energy Green Network for THAIs เกิดขึ้นจากการที่ GULF และ GULF1 บริษัทในเครือ นำร่องติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ทุรกันดารมาตั้งแต่ปี 2566 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยน้ำไซ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก, เกาะทุ่งนางดำ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และบ้านดอกไม้สด อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

 

ที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งทีมวิศวกรจาก GULF1 มาให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาและวิธีการใช้งานชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ในชุมชน แต่เมื่อได้ลงพื้นที่จริงและมีการพูดคุยกับชุมชน

 

ทำให้เห็นถึงปัญหาในการสื่อสารกับคนภายนอกพื้นที่ จึงต่อยอดโครงการด้วยการชักชวนพันธมิตรอย่าง AIS มาร่วมขยายสัญญาณเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข

 

 

ธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลายคนคงไม่รู้มาก่อนว่า GULF ได้พัฒนาโครงการ CSR มากว่า 30 ปี และหนึ่งในโครงการคือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2566 ตอนนี้ติดตั้งไปแล้ว 3 พื้นที่ ได้แก่ ดอยมอโก้โพคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก, บ้านแม่ตอละ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบ้านผีปานเหนือ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

 

ถือว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัท ที่ต้องการการขับเคลื่อนให้สังคมมุ่งสู่อนาคตคาร์บอนต่ำผ่านการใช้พลังงานสะอาด

 

สร้างรายได้ให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ยกตัวอย่างชุมชนมอโก้โพคี หนึ่งในหลายชุมชนที่เข้าถึงระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ และระบบสื่อสารดิจิทัลของโครงการดังกล่าว ทำให้ชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกไร่ข้าวโพดเป็นหลัก ซึ่งมีการทำลายป่าเป็นวงกว้าง และยังทำลายสุขภาพผู้ปลูกจากการใช้สารเคมี นอกจากนั้นยังมีการเผาในฤดูเก็บเกี่ยว ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 อีกด้วย จากนั้นได้เปลี่ยนมาปลูกเมล็ดกาแฟ และเมื่อเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็มีโอกาสหาความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟ และพัฒนาช่องทางการทำตลาดเมล็ดกาแฟให้เป็นที่รู้จักได้กว้างขึ้น และจะนำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมั่นคง

 

และ GULF เข้าไปสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟ มีคุณภาพมากขึ้นผ่านการใช้พลังงานสะอาด

 

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในการปลูกกาแฟมากขึ้น และในอนาคตยังเพิ่มโอกาสที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน นับว่าเป็นช่องทางการสร้างอาชีพและการรักษาป่าควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน

 

ยังมีหลายพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

 

โครงการจะสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. โดย ชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ยังมีหลายพื้นที่ห่างไกลเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภค โดยภารกิจสำคัญของ สวพส. คือการนำความรู้ของโครงการหลวงไปพัฒนาให้ชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พึ่งพาตัวเองได้ พร้อมช่วยให้ชุมชนบนพื้นที่สูงเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สวพส. ดูแลพื้นที่ที่อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 500 เมตร ประมาณ 20 ล้านไร่ กระจายกันอยู่ใน 20 จังหวัด รวมแล้วกว่า 4,000 ชุมชน แต่เราสามารถเข้าถึงได้ประมาณ 2,000 ชุมชน และคาดว่ามีอีก 1,000 ชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าหรือสัญญาณดิจิทัล

 

โดย สวพส. จะทำหน้าที่พิจารณาการให้ช่วยเหลือผ่านโครงการ Green Energy Green Network for THAIs ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ GULF และ AIS ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่สูงสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

เปิดโอกาสให้พันธมิตรภาคเอกชนร่วมยกระดับชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

“สุดท้ายแล้ว AIS ยังเชื่อมั่นใน Ecosystem Economy หรือการทำงานร่วมกันกับพันธมิตร ในอนาคตเราหวังว่าจะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือกันเข้าไปช่วยยกระดับชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม แม้วันนี้เราจะพยายามลดความเหลื่อมล้ำแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่เท่าเทียม เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยเหลือกัน” แม่ทัพใหญ่ AIS ย้ำ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising