กองทุน Green Energy หรือกองทุนที่เน้นลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด เป็นหนึ่งในธีมการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา อย่างกองทุนเปิดธนชาต อีสท์สปริง Global Green Energy (T-ES-GGREEN) +25% ภายใน 1 เดือน หรือกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี รีนิวเอเบิล เอนเนอร์จี (MRENEW) +13% ใน 1 เดือน
หรืออย่างกองทุนต่างประเทศที่เน้นลงทุนในด้านนี้ อาทิ ALPS Clean Energy ETF ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหน่วยลงทุนก็ขยับขึ้น 35%
ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ธุรกิจพลังงานสะอาดอยู่ในโฟกัสของการลงทุนในขณะนี้ และมีแนวโน้มจะต่อเนื่องไปในอนาคต คือการหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของบรรดาประเทศต่างๆ อย่าง กรณีของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ก็ชูนโยบายที่จะสนับสนุนด้าน Green Energy
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าเทรนด์การลงทุนใน Green Energy น่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากนโยบายสนับสนุนของโจ ไบเดน
โดยหนึ่งในนโยบายเด่นที่จะถูกผลักดันคือ การพาสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อลงทุนด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรม รวมถึงการลด Carbon Footprint ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2578
“ธีม Green Energy เป็นหนึ่งในเทรนด์อนาคต ซึ่งน่าจะเห็นกองทุนด้านนี้ออกมามากขึ้น คล้ายๆ กองทุนด้านอินโนเวชัน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มีมากนัก แต่ปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ถูกจากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นกระแสการลงทุน หากมีการพักฐานเกิดขึ้น มองว่าเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ”
สำหรับปี 2564 ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาดมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ต่อเนื่อง ซึ่ง Bloomberg Green ได้ระบุถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตดังกล่าว ประเด็นแรกคือ การติดตั้งแผงโซลาร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสองประเทศใหญ่ อย่างสหรัฐฯ และจีน
สำหรับในสหรัฐฯ แม้ว่าจะเห็นตัวเลขการหดตัวถึง 20% ช่วงไตรมาส 2 ปีก่อน จากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดย Wood Mackenzie และ SEIA คาดว่า ตัวเลขกำลังการผลิตติดตั้งจากโซลาร์ในสหรัฐฯ จะสูงเป็นสถิติใหม่ถึง 19 กิกะวัตต์ สำหรับตลอดทั้งปี 2563
ขณะเดียวกันจะเห็นว่าเม็ดเงินลงทุนในส่วนของ Green Energy ทั่วโลก เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 6-8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อไตรมาส สำหรับ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2562 มีเงินลงทุนจากทั่วโลกในธุรกิจนี้ถึง 2.82 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการลงทุนในพลังงานลมมากสุด ประมาณ 1.38 แสนล้านดอลลาร์ และรองลงมาในพลังงานแสงอาทิตย์ 1.31 แสนล้านดอลลาร์
มูลค่าของเงินลงทุนใน Green Energy เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ในจีน จากเป้าหมายของประเทศที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากธุรกิจให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2603 ทำให้คาดว่าจะเห็นกำลังการผลิตติดตั้งในจีนเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากประมาณ 35 กิกะวัตต์ เมื่อปี 2563 เป็น 70-90 กิกะวัตต์ต่อปี ระหว่างปี 2564-2568
นอกจากนี้ ทางฝั่งของทวีปยุโรป ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40% สูงกว่าสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากฟอสซิล ซึ่งอยู่ที่ 34% โดยประเทศอย่างสหราชอาณาจักร ซึ่ง
เคยใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าในปี 2562 การใช้ถ่านหินก็แทบจะไม่เกิดขึ้น จนทำให้ธุรกิจถ่านหินเหมือนจะกลายเป็นธุรกิจที่ตกยุคไปแล้ว
ยุโรปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูงกว่าพลังงานฟอสซิล
ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนไทยที่เน้นลงทุนใน Green Energy ทั้งสองกองทุนข้างต้น คือ T-ES-GGREEN จะเน้นลงทุนในพลังงานลมและโซลาร์ประมาณ 70% โดยจะนำเงินไปลงทุนในกองทุน Brookfield Global Renewables and Sustainable Infrastructure UCITS Fund ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในประเทศไอร์แลนด์ โดยมีหุ้นหลักในพอร์ต อาทิ EDP Renovaveis SA สัดส่วน 8.02% Orsted A/S สัดส่วน 7.63% และ NextEra Energy Inc สัดส่วน 7.39%
โดยกองทุน T-ES-GGREEN เรียกเก็บค่าใช้จ่ายรวมจากผู้ถือหน่วย 1.7334% โดยมีค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน (Front-end fee) 1.5%
ด้านกองทุน MRENEW เน้นลงทุนในกองทุน BGF Sustainable Energy Fund ภายใต้การบริหารงานของ BlackRock Global Fund โดยจัดตั้งกองทุนที่ประเทศลักเซมเบิร์ก ซึ่งกองทุน BGF จะเน้นลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่มีการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนอย่างน้อย 70% โดยหุ้นหลักในพอร์ต คือ NextEra Energy Inc. สัดส่วน 4.78% ENEL SPA สัดส่วน 4.65% และ SCHNEIDER ELECTRIC SE สัดส่วน 3.67%
โดยกองทุน MRENEW เรียกเก็บค่าใช้จ่ายรวมจากผู้ถือหน่วย 1.9581% โดยมีค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน (Front-end fee) 1.5%
เปรียบเทียบกองทุนธีม Green Energy
ภาพประกอบ: ธิดามาศเขียวเหลือ
อ้างอิง: