×

Green Book (2018) เรื่องดีงามในความอัปลักษณ์

02.01.2019
  • LOADING...
oscasrs2019

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ที่มาของชื่อหนัง Green Book หรือสมุดปกเขียว ก็คือไกด์บุ๊กการเดินทางด้วยรถยนต์สำหรับคนอเมริกันผิวสีในช่วงเวลาที่ ‘การแบ่งแยก’ ยังเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม
  • การเฝ้าดูทั้ง วิกโก มอร์เทนเซน และมาเฮอร์ชาลา อาลี รับส่งบทบาทที่ฉูดฉาดบาดตา แลกเปลี่ยนทัศนคติและความเห็นด้วยปฏิภาณไหวพริบอันแหลมคม และแน่นอนว่าการแสดงออกอย่างหน้าตายและอมพะนำก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างสนั่นหวั่นไหวและครึกโครม

 

ตามเนื้อผ้า Green Book (2018) ก็เป็นหนัง ‘บัดดี้ คอเมดี้ โรดมูฟวี่ และฟีลกู๊ด’ ที่สอดแทรกไว้ด้วยมุกตลกและอารมณ์ขันที่เรียกเสียงหัวเราะได้อย่างหรรษาครื้นเครง และว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเท่าใดนัก เมื่อคำนึงว่านี่เป็นผลงานกำกับของ ปีเตอร์ ฟาร์เรลลี คนที่ทำหนังตลกโปกฮาเรื่อง Dumb and Dumber, Shallow Hal และ There’s Something About Mary ซึ่งหลายคนคงรู้สึกเหมือนๆ กันว่านี่เป็นหนังจำพวกที่ไม่ต้องถือสาหาความ หรือไหนๆ ก็ไหนๆ จะผนวกตัวคนทำหนังเข้าไปด้วยก็คงจะได้ (ในฐานะที่เจ้าตัวเคยชนะรางวัลราสป์เบอร์รีทองคำจากหนังเรื่อง Movie 43)

 

แต่ก็นั่นแหละ ถึงแม้ Green Book จะสังกัดอยู่ภายใต้แนวหนังและกรอบเนื้อหาเดียวกัน ผู้ชมก็ไม่อาจเหมารวมว่านี่เป็นหนังตลกเถิดเทิงหรือบ้าบอคอแตกแบบเดียวกัน อย่างน้อยที่สุดอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะก็ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง หรือว่ากันตามจริง มันเหมือนกับถูกใช้เพื่ออำพรางประเด็นนำเสนอที่เคร่งขรึมจริงจัง กระทั่งคอขาดบาดตาย และข้อสำคัญคือผูกโยงอยู่กับหน้าประวัติศาสตร์ที่เป็นทั้งความอัปยศและรอยด่างพร้อยในดินแดนที่เชื่อมั่นและชอบโอ้อวดในเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียม

 

 

เพื่อเป็นข้อมูล ที่มาของชื่อหนังหรือสมุดปกเขียวก็คือไกด์บุ๊กการเดินทางด้วยรถยนต์สำหรับคนอเมริกันผิวสีในช่วงเวลาที่ ‘การแบ่งแยก’ ยังเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม จุดประสงค์ของคู่มือติดรถยนต์เล่มนี้ซึ่งเขียนโดย วิกเตอร์ เฮช. กรีน เจ้าหน้าที่ส่งพัสดุผิวสีจากเมืองนิวยอร์ก ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากและเรื่องน่าอับอายขายหน้าอันอาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องเชื้อชาติและสีผิว และเนื้อหาภายในได้แก่การแนะนำที่พัก ร้านอาหาร และปั๊มน้ำมันที่ต้อนรับคนผิวสี

 

ลำพังการมีอยู่ของไกด์บุ๊กเล่มนี้ก็ฟ้องถึงสภาวะที่คับแคบของผู้คนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการที่หนังสือได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจนถึงกับต้องตีพิมพ์เพื่ออัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่องทุกปีก็ยิ่งฟ้องว่านอกจากนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สถานการณ์ก็เป็นอย่างที่รู้ๆ กันว่ามันสาหัสสากรรจ์

 

ว่ากันตามจริง บทบาทของสมุดปกเขียวตามท้องเรื่องของหนังเรื่อง Green Book ก็ไม่ได้โดดเด่นเท่าใดนัก มันถูกใช้เป็นเพียงแค่หลักฐานที่ช่วยยืนยันในสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่แล้วทั้งกับตัวละครและผู้ชม นั่นคือบรรยากาศการเหยียดผิวในอเมริกา และเรื่องราวของหนังที่ข้อมูลระบุว่า ‘ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง’ ก็พาผู้ชมไปสำรวจแง่มุมดังกล่าว ซึ่งพูดแบบไม่อ้อมค้อม ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปจากเส้นทางที่หนังเรื่องก่อนๆ เหยียบย่ำมานับไม่ถ้วน แต่ในความไม่มีอะไรแปลกใหม่ของสิ่งที่บอกเล่า คนทำหนังก็โชว์ให้เห็นการพลิกแพลงในหลายแง่มุมที่น่าสนใจ และทำให้ความเป็นหนังที่คาดเดาได้และค่อนข้างจำเจซ้ำซาก ไม่ใช่ข้อบกพร่องหรือความอ่อนด้อยสักเท่าใด

 

 

อย่างที่รู้กัน คุณสมบัติประการหนึ่งของหนังคู่หูหรือหนังบัดดี้ได้แก่ตัวละครสองคนที่ผิดแผกแตกต่างกันอย่างชนิดไม่อาจหลอมรวม ทว่าถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องมาเกี่ยวข้องเชื่อมโยง ในกรณีของ Green Book หนึ่งในสองได้แก่ แอนโทนี วัลเลอลองกา หรือโทนี่ ลิป (วิกโก มอร์เทนเซน ในบทบาทการแสดงที่จะทำให้ภาพของ อารากอน นักรบเจ้าเสน่ห์จากหนังชุด The Lord of the Rings กลายเป็น ‘ผลงานแต่ชาติปางก่อน’ โดยปริยาย) หนุ่มใหญ่อิตาเลียน-อเมริกันผู้ซึ่งแนะนำตัวเองว่าทำงานด้านประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่เราได้เห็นจริงๆ ก็คือบอดี้การ์ดประจำไนต์คลับของเมืองนิวยอร์ก และงานหลักคือการจับลูกค้าที่เมาอาละวาดโยนออกนอกร้าน

 

อีกรายละเอียดหนึ่งที่หนังบอกเกี่ยวกับโทนี่ซึ่งออกจะดูเจตนาไปสักนิด แต่ก็ช่วยให้ผู้ชมตระหนักถึง ‘ค่าเริ่มต้น’ ของตัวละครที่แจ่มชัดได้แก่ฉากที่เขาแอบโยนแก้วน้ำที่ช่างประปา 2 คนดื่มไว้ทิ้งลงถังขยะด้วยความรังเกียจ ซึ่งโดยอัตโนมัติ เหตุการณ์เล็กๆ นี้ก็ช่วยสนับสนุนประโยคที่น่าสนใจของ ดอน เชอร์ลีย์ (มาเฮอร์ชาลา อาลี) นักเปียโนผิวสี ผู้ซึ่งในอีกไม่นานนักโทนี่ในฐานะโชเฟอร์จะต้องขับรถพาเขาตะลอนไปเล่นคอนเสิร์ตในแดนไกลเป็นเวลานาน 2 เดือน ทำนองว่าเขาไม่จำเป็นต้องกังวลถึงการเดินทางไปรัฐทางตอนใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องเหยียดผิว เพราะการเหยียดผิวดำรงอยู่ทุกหนทุกแห่งอยู่แล้ว

 

 

กระนั้นก็ตาม ความแตกต่างอย่างชนิดฟ้ากับเหวระหว่างโทนี่กับดอน เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสีผิว แต่เป็นเรื่องของรากเหง้าและกำพืด โทนี่มาจากโลกที่ไม่ได้แตกต่างไปจากหนังเรื่อง Mean Streets หรือ Goodfellas ของมาร์ติน สกอร์เซซี ที่ดูเอะอะมะเทิ่ง ปราศจากทั้งความละเอียด อ่อนไหว ตลอดจนการขัดเกลาทั้งด้านการศึกษาและรสนิยม เขาพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดโดยไม่แคร์ว่ามันจะดูโง่หรือฉลาดอย่างไร และนั่นตรงกันข้ามกับดอนผู้ซึ่งจบด็อกเตอร์ด้านดนตรี และความสามารถในฐานะนักเปียโนของเขาได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญว่าอัจฉริยะ เขาแสดงออกอย่างห่างเหิน รัดกุม สำรวม และถือเนื้อถือตัว ข้อสำคัญ ไม่ปิดบังความเหนือกว่าทั้งฐานะ ชนชั้น และระดับสติปัญญา อันที่จริงในตอนที่เราได้เห็นตัวละครนี้ เขาแต่งเนื้อแต่งตัวราวกับเป็นเจ้าผู้ครองนคร นั่งอยู่บนเก้าอี้ที่อาจเรียกได้ว่าบัลลังก์ และพูดกับโทนี่เหมือนเขาเป็นข้าทาสบริวาร

 

ไม่มากไม่น้อย นั่นนำไปสู่สถานการณ์ที่กลับตาลปัตรและย้อนแย้ง คนขาวขับรถให้คนดำนั่งในช่วงเวลา (ค.ศ. 1962) และสถานที่ (มลรัฐทางตอนใต้ของอเมริกา) ที่การเหยียดผิวยังเป็นอุณหภูมิปกติ หรืออย่างน้อยก็เป็นอะไรที่แสดงออกได้ตรงๆ ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน อ้อมค้อม หรือมีลักษณะซุ่มโจมตีอย่างในปัจจุบัน

 

และว่าไปแล้ว ขณะที่ข้อมูลที่หนังถ่ายทอดไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์สำหรับคนดูที่รู้ข้อเท็จจริงอยู่แล้วถึงระดับความน่าสะอิดสะเอียนของพฤติกรรมเหยียดผิวในอเมริกา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังคงเป็นเรื่องน่าขัดเคืองอยู่ดี และบางครั้งก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าผู้คนที่มีสติสัมปชัญญะและสามัญสำนึกตอนนั้นปล่อยให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น การที่คนผิวสีไม่ได้รับอนุญาตให้ไปไหนมาไหนหลังพระอาทิตย์ตกดิน หรือนั่งในร้านอาหารของคนขาวทั้งๆ ที่เขาเป็นแขกคนสำคัญ หรือฉากหนึ่งที่น่าเชื่อว่าคนทำหนังไม่ได้แสดงออกอย่างเกินเลย นั่นคือเหตุการณ์หลังจากดอนเพิ่งจะเล่นคอนเสิร์ตจบและได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง แต่เขากลับไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องน้ำซึ่งจำกัดเอาไว้เฉพาะคนขาว และภาพห้องน้ำของคนผิวสีที่เจ้าของบ้านผายมือให้เห็นก็ย่ำยีความรู้สึกของทั้งตัวละครและคนดูอย่างไม่น่าให้อภัย

 

 

อย่างที่พวกเราคาดเดาได้ไม่ยาก มรรคผลจริงๆ จากการเดินทางไกลครั้งนี้ไม่ใช่การทำให้บรรดาผู้คนที่อยู่กับสังคมเหยียดผิวทางตอนใต้เปิดกว้างและยอมรับมากขึ้น เพราะนั่นเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินไป ทว่าตัวละครที่หวนกลับไปเป็นเหมือนกับในตอนเริ่มต้นไม่ได้อีกแล้วก็คือโทนี่ ผู้ซึ่งระหว่างการร่อนเร่พเนจรไปบนท้องถนน มิตรภาพที่งอกเงยก็ทำให้เจ้าตัวตระหนักในสิ่งที่ผู้ชมน่าจะรู้คำตอบดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่า สุดท้ายแล้วความแตกต่างในเรื่องสีผิวเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา

 

รวมๆ แล้ว Green Book ไม่ใช่หนังที่ทะเยอทะยาน ทั้งในแง่ของเนื้อหาสาระซึ่งก็ดังที่กล่าวว่าไม่ได้พาผู้ชมไปรับรู้อะไรที่แปลกใหม่ หรือวิธีการนำเสนอซึ่งก็ดำเนินตามสูตรสำเร็จ แต่อย่างที่ใครๆ ก็น่าจะบอกได้เหมือนกัน ส่วนสำคัญของความสนุกสนานและตลกขบขันของหนังมาจากแอ็กติ้งที่สอดประสานกลมกลืนระหว่างสองนักแสดงที่พวกเขาอาจจะไม่มีภาพของการเล่นหนังตลกมาก่อนหน้าอย่างจริงๆ จังๆ กระนั้นก็ตาม การเฝ้าดูทั้งวิกโก มอร์เทนเซน และมาเฮอร์ชาลา อาลี รับส่งบทบาทที่ฉูดฉาดบาดตา แลกเปลี่ยนทัศนคติและความเห็นด้วยปฏิภาณไหวพริบอันแหลมคม และแน่นอนว่าผ่านการแสดงออกอย่างหน้าตายและอมพะนำ ก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างสนั่นหวั่นไหวและครึกโครม

 

แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่การแสดงอันล้ำเลิศของคนทั้งสองหยิบยื่น และในห้วงเวลาที่ตัวละครต้องเผชิญกับภาวะบีบคั้นกดดัน เราก็สัมผัสได้ถึงความอ่อนไหว อ่อนโยน ความห่วงหาอาทรในฐานะเพื่อนร่วมวิบากกรรม และทั้งหลายทั้งปวง มันไม่เพียงทำให้สิ่งละอันพันละน้อยที่ได้รับการบอกเล่าเต็มเปี่ยมไปด้วยสีสัน ความสนุกสนาน และความมีชีวิตชีวา

 

แต่ยังช่วยแปรเปลี่ยนให้การดูหนังเรื่อง Green Book กลายเป็นเสมือนการเดินทางที่ช่างเพลิดเพลินและน่ารื่นรมย์

 

Green Book (2018)

กำกับ: ปีเตอร์ ฟาร์เรลลี

นักแสดงนำ: วิกโก มอร์เทนเซน, มาเฮอร์ชาลา อาลี, ลินดา คาร์เดลลินี

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising