×

ย้อนประวัติศาสตร์ Green Book ไกด์บุ๊กของคนผิวสี ที่มาของหนังโรดทริปแห่งมิตรภาพ

20.12.2018
  • LOADING...
oscasrs2019

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • หลังจากปี 1877 มีการออกกฎหมาย Jim Crow ออกมาเพื่อกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับคนผิวสีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ทำให้การเดินทางไปยังภาคใต้เป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ สำหรับคนผิวสี
  • วิกเตอร์ ฮูโก กรีน เลยมีความคิดที่จะสร้างไกด์บุ๊กเพื่อแนะนำร้านค้าและที่พัก ที่เป็นมิตรและยินดีให้บริการกับคนผิวสีอย่างเท่าเทียมขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า The Negro Motorist Green Book ในปี 1936
  • The Negro Motorist Green Book ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือน ‘ไบเบิลในการเดินทางของคนผิวสี’ และยังถูกใช้เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญในช่วงการต่อสู้เพื่อ ‘สิทธิพลเมือง’ จนสามารถออกกฎหมาย Civil Rights Act ได้ในปี 1964
  • Green Book ถูกนำมาเสนอในภาพยนตร์ที่ชื่อเรื่องเดียวกัน ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงระหว่างการเดินทางของ ดร.ดอน เชอร์ลีย์ นักเปียโนผิวสีที่ต้องเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตในพื้นที่รัฐภาคใต้ ที่มีประวัติศาสตร์การเหยียดผิวรุนแรงที่สุด

ก่อนที่จะไปรับชม Green Book หนังโรดมูฟวี่ฟีลกู๊ดที่บอกเล่าเรื่องราวมิตรภาพระหว่างการเดินทางในช่วงปี 1960 ของ ดร.ดอน เชอร์ลีย์ (รับบทโดย มาเฮอร์ชาลา อาลี) นักเปียโนผิวสีชื่อดังที่ต้องเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา พื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์การ ‘เหยียดผิว’ รุนแรงที่สุด ไปพร้อมๆ กับบอดี้การ์ดผิวขาวชาวอเมริกันที่นิสัยแตกต่างกันสุดขั้วอย่าง โทนี ลิป วัลเลลองก้า (รับบทโดย วิกโก้ มอร์เทนเซน) โดยพวกเขามีเพียง ‘Green Book’ ไกด์บุ๊กแนะนำสถานที่ในภาคใต้ที่ ‘เป็นมิตร’ กับคนผิวสี เป็นที่พึ่งเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้การเดินทางในครั้งนี้ปลอดภัยและราบรื่น

 

THE STANDARD POP จะขอพาไปย้อนประวัติศาสตร์จุดกำเนิดของ Green Book ว่าเหตุใดหนังสือไกด์บุ๊กเล่มเล็กๆ ถึงถูกยกย่องให้เป็นเหมือน ‘ไบเบิลในการเดินทางของคนผิวสี’ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 และกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกยกมาพูดถึงในภาพยนตร์ที่กำลังตระเวนกวาดรางวัลใหญ่จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอยู่ในเวลานี้

 

https://www.youtube.com/watch?v=yV25pDaSCMw&feature=youtu.be

ตัวอย่างภาพยนตร์ Green Book 

 

1. สงครามกลางเมือง การเลิกทาส และกฎหมาย Jim Crow

 

Photo: kylarsroleplay.wikia.com

 

จุดเริ่มต้นของหนังสือ Green Book ต้องย้อนไปไกลถึงสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกา ในช่วงปี 1861-1865 หลังจากสมาพันธรัฐอเมริกาฝ่ายใต้ที่มีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้แรงงานทาสผิวสีในการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ แพ้สงครามให้กับสหภาพฝ่ายเหนือที่ส่วนใหญ่เป็นรัฐอุตสาหกรรม ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดที่ไม่ต้องพึ่งแรงงานทาสมากนัก รวมทั้งถูกบังคับให้ยกเลิกกฎหมาย Black Code ที่เคยใช้กำหนดสิทธิระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสี และให้ทุกคนมีสิทธิในฐานะพลเมืองเท่าเทียมกัน  

 

กระทั่งในปี 1877 ที่เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในผลการเลือกตั้ง ทำให้พรรคเดโมแครตที่มีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ทำข้อตกลงว่าจะยอมให้ รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์จากพรรครีพับลิกันเป็นประธานาธิบดี เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อตกลงว่ารัฐบาลกลางจะต้องถอนกองกำลังทหารทั้งหมดออกจากรัฐทุกรัฐในภาคใต้ เป็นจุดเริ่มต้นให้เดโมแครตกลับมามีอำนาจในพื้นที่ภาคใต้ และออกกฎหมาย ‘Jim Crow’ ที่คล้ายๆ กฎหมาย Black Code ที่ถูกยกเลิกไปหลังจากแพ้สงครามกลับมาอีกครั้ง ภายใต้นโยบายที่ฟังสวยหรูแต่ย้อนแย้งที่ว่า ‘แบ่งแยกอย่างเท่าเทียม’ (Separate but equal)

 

ทำให้ทั้งๆ ที่การปกครองประเทศทั้งหมด ยังอยู่ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อ 14 (Fourteenth Amendment) ที่มีใจความสำคัญในการให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาวผิวสีในฐานะพลเมืองอเมริกันเช่นเดียวกับคนผิวขาว และไม่มีการใช้แรงงานทาสให้เห็นอย่างเป็นทางการอีกต่อไป แต่แท้จริงแล้วชาวผิวสีในพื้นที่ภาคใต้ยังถูกกดขี่ กีดกันและเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด

 

2. นโยบายการแบ่งแยกแต่เท่าเทียม ภายใต้กฎหมาย Jim Crow

 

Photo: n.wikipedia.org

 

ในแต่ละรัฐทางภาคใต้ก็จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของคนผิวสีเอาไว้แตกต่างกันไป แต่จุดร่วมก็คือการแบ่งแยกพื้นที่และการปฏิบัติตัวระหว่างคนผิวขาวและคนผิวสีออกจากกันอย่างชัดเจน

 

เช่น การกำหนดว่าเด็กๆ ผิวสีจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนเฉพาะที่ถูกกำหนดไว้สำหรับคนผิวสีโดยเฉพาะ ต้องอาศัยอยู่เฉพาะบริเวณใดของเมือง ร้านอาหารและโรงแรมบางแห่งก็ไม่อนุญาตให้คนผิวสีใช้บริการอย่างเด็ดขาด (ถ้าโชคดีหน่อยก็อาจจะให้เข้ามาซื้ออาหารได้ แต่ต้องออกไปกินที่อื่น) แม้กระทั่งระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างรถสาธารณะ ห้องน้ำ ปั๊มน้ำมัน ที่กดน้ำดื่ม ชายหาด สระว่ายน้ำ โรงหนัง ฯลฯ ก็ต้องดูให้ดีเสียก่อนว่ามีป้าย ‘อนุญาต’ ให้คนผิวสีใช้บริการได้หรือเปล่า หรือถ้าคนผิวสีได้ที่นั่งในรถสาธารณะก่อน แต่มีคนผิวขาวขึ้นมาทีหลัง คนผิวสีก็ต้องสละที่นั่งให้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง กระทั่งทางเข้าออกอาคารบางแห่ง ก็ยังถูกกำหนดไว้ชัดเจนว่าคนผิวสีไหนต้องใช้ทางออกไหนโดยเฉพาะ เพราะไม่อย่างนั้นอาจถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้ง่ายๆ

 

สถานการณ์ดังกล่าวดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 ในช่วงที่เศรษฐกิจของอเมริกากำลังพัฒนาแบบก้าวกระโดด พร้อมๆ กับไฟสงครามและความขัดแย้งที่ค่อยๆ จางหายไปพร้อมๆ กับวัฒนธรรมการขับรถที่กำลังรุ่งเรือง โดยเฉพาะการเดินทางของชาวภาคเหนือ ที่อยากรับรู้ความเป็นไปในอีกฝากหนึ่งของประเทศที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อน แน่นอนว่าหากเป็นคนผิวขาวอยู่แล้วคงไม่มีปัญหา หากแต่คุณเป็นคนผิวสีที่อยากเดินทางในช่วงเวลานั้นสถานการณ์จะพลิกกลับเป็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ส่วนใหญ่ถึงขนาดต้องเตรียมเครื่องนอน เครื่องทำอาหารและน้ำมันสำรองใส่รถติดเอาไว้สำหรับเดินทางไกลไปด้วยเลย

 

มีเรื่องเล่าตลกร้ายทำนองว่า มีคนผิวสีที่อยู่ทางตอนเหนือของสหรัฐฯ ไปเที่ยวรัฐทางใต้กับเพื่อนผิวขาว แล้วถูกปฏิเสธจากร้านอาหารแห่งหนึ่ง เขาต้องย้ายไปอีกร้านหนึ่ง ให้เพื่อนผิวขาวเข้าไปก่อน แล้วบอกพนักงานเสิร์ฟว่ามี ‘คนขับรถ’ ตามมาด้วย คือต้องเข้าไปในสถานะคนที่ ‘ต่ำกว่า’ เท่านั้นถึงจะเข้าไปใช้บริการร่วมกับคนผิวขาวแบบ ‘แบ่งแยกแต่เท่าเทียม’ ได้

 

3. วิกเตอร์ ฮูโก้ กรีน ผู้บุกเบิก Green Book ไกด์บุ๊กสำหรับคนผิวสี

 

Photo: en.wikipedia.org

 

ปัญหาดังกล่าวทำให้วิกเตอร์ ฮูโก้ กรีน ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ที่ขนาดทำงานเป็นพนักงานไปรษณีย์อยู่ที่นิวยอร์ก ก็ยังเจอปัญหาการแบ่งแยกทำนองเดียวกัน เขาเลยเริ่มคิดขึ้นมาว่า จะทำไกด์บุ๊กขึ้นมาสักเล่มเพื่อนำเสนอร้านค้า ที่พัก (รวมทั้งบ้านพักของคนธรรมดาที่ยินดีแบ่งห้องเช่าให้กับนักท่องเที่ยวทุกสีผิว) และปั๊มน้ำมันที่ยินดีต้อนรับคนผิวสีเช่นเดียวกับคนขาวตามปกติทั่วไป เขาเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1930 จนตีพิมพ์ The Negro Motorist Green Book ที่รวบรวมสถานที่เฉพาะในนิวยอร์กขึ้นมาได้ในปี 1936   

 

ปรากฏว่า The Negro Motorist Green Book ของเขาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีคนเรียกร้องให้ทำไกด์บุ๊กแบบนี้สำหรับเมืองอื่นๆ ออกมาด้วย เขาเลยเริ่มรวบรวมข้อมูลจากเครือข่ายเพื่อนๆ พนักงานไปรษณีย์ทั่วประเทศ ที่เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดในการทำไกด์บุ๊ก ทั้งยังได้รับการสนับสนุจากหนังสือพิมพ์ของคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาอย่าง Call and Post และ Louisville Leader รวมทั้งปั๊มน้ำมัน Standard Oil (ปัจจุบันคือปั๊มน้ำมัน Esso) ที่ต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าผิวสี เพื่อแข่งกับปั๊ม Shell ที่มีนโยบายปฏิเสธคนผิวสีอย่างชัดเจน

 

4. พัฒนาการของ Green Book

 

Photo: ncptt.nps.gov

 

The Negro Motorist Green Book กลายเป็นไกด์บุ๊กที่ตีพิมพ์แบบรายปีและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะต้องหยุดการผลิตจากผลของสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปี 1940 และกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งในปี 1946

 

โดยตอนหลังได้พัฒนาไปยังเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกา รวมไปถึงพื้นที่บางส่วนของแคนาดา เม็กซิโก และเบอร์มิวดา รวมทั้งการเพิ่มเนื้อหาที่ไม่ได้มีแค่ร้านค้าและที่พัก แต่ยังรวมไปถึงทุกสถานบริการตั้งแต่ร้านหนังสือไปยันร้านเสริมความงาม ทำให้ The Negro Motorist Green Book ฉบับปี 1949 มีความหนารวมโฆษณามากถึง 80 หน้า จากฉบับแรกในปี 1936 ที่มีเพียง 10 หน้าเท่านั้น

 

ในปี 1952 The Negro Motorist Green Book ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Negro Travelers’ Green Book เพราะเพิ่มเนื้อหาที่สนับสนุนคนที่เดินทางด้วยเครื่องบิน เรือ และรถไฟเข้ามาด้วย และเพิ่มราคาขายจาก 25 เซนต์ เป็น 1.25 เซนต์ ในปี 1957

 

ปัจจุบัน Green Book กลายเป็นหนังสือหายากที่มีมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่าตัว ในปี 2015 พิพิธภัณฑ์ Smithsonian ได้ประมูล The Negro Motorist Green Book ฉบับปี 1941 ไปด้วยราคา 22,500 เหรียญ 

 

5. ปิดตำนาน Green Book เพื่อเฉลิมฉลองให้กับความเท่าเทียม  

 

Photo: www.amazon.com

 

หลังจากวิกเตอร์ ฮูโก้ กรีน เสียชีวิตในปี 1960 ความนิยมของ Green Book ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ รวมทั้งผลกระทบจากขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ที่ออกมาเรียกร้องและต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมกันของคนผิวสี ซึ่ง Green Book และจดหมายที่คนอ่านเขียนมาบอกเล่าประสบการณ์ความไม่เท่าเทียมระหว่างการเดินทางนี่ล่ะ ที่กลายเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่นำมาใช้อ้างอิง จนนำไปสู่การยกเลิกกฎหมาย Jim Crow และแทนที่ด้วยกฎหมาย ‘สิทธิพลเมือง’ (Civil Rights Act) ในปี 1964

 

ถึงแม้ว่าวิกเตอร์ ฮูโก้ กรีน จะไม่มีชีวิตอยู่ถึงวันที่ชาวอเมริกันมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่เขาก็เฝ้ารอวันนี้มาตลอด เหมือนที่เคยเขียนเอาไว้ในบทบรรณาธิการฉบับหนึ่งทำนองว่า “ในวันที่ไม่จำเป็นต้องมี Green Book อีกต่อไป นั่นหมายความว่าการต่อสู้ของเขาสิ้นสุดลงแล้ว”

 

รวมทั้งทีมงานที่รับไม้ต่อจากเขาก็รู้ดีว่า หากยังฝืนทำต่อไป การดำรงอยู่ของ Green Book มีแต่จะเป็นการตอกย้ำว่าความเท่าเทียมระหว่างคนทุกผิวสีนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคม พวกเขาได้เปลี่ยนชื่อหนังสืออีกครั้งเป็น ‘Travelers’ Green Book: International Edition’ พร้อมด้วยคอนเซปต์พ่วงท้ายที่บอกว่า ‘สำหรับการท่องเที่ยวที่ปราศจากความรุนแรง’ เป็นการปิดท้ายตำนานไกด์บุ๊กที่อยู่คู่คนผิวสีมาตลอด 30 ปี ลงอย่างสวยงามในปี 1966

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

FYI
  • ภาพยนตร์เรื่อง Green Book เข้าฉายในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2019
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X