×

GRAMMY ขาดทุนตรงไหน? มองอนาคตสื่อบันเทิงไทยหลังบิ๊กดีลของกลุ่มเสี่ยเจริญ

28.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • กลุ่มธุรกิจของตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้าจองซื้อหุ้น 50% ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ภายใต้แกรมมี่ มูลค่า 1 พันล้านบาท
  • ช่วงปี 2558-2559 บริษัทปรับโครงสร้างองค์กร-พอร์ตหุ้น ขายกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก หวังลดอัตราการขาดทุนและใช้เป็นเงินหมุน เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัล เช่น ขายหุ้นซีเอ็ด, ขายธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ 6 หัว, ยุติบริการ Z Pay TV ผ่านกล่อง GMM Z และขายหุ้น บมจ. อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ
  • แกรมมี่ปรับกลยุทธ์มาเป็น Total Media Solution Provider ที่ตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจครอบคลุมทุกสื่อครบวงจร

     สะท้านวงการอุตสาหกรรมบันเทิงกันทีเดียว สำหรับกลุ่มธุรกิจในเครือสิริวัฒนภักดีของเจ้าสัวเจริญ ที่เข้าจองซื้อหุ้น 50% ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของธุรกิจสื่อ เช่น ช่อง GMM 25 และธุรกิจวิทยุ เอ-ไทม์ มีเดีย ในมูลค่า 1 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2560

     บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ แกรมมี่ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ได้ลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ร่วมกับ บริษัท อเดลฟอส จำกัด ซึ่งมี ฐาปน สิริวัฒนภักดี และ ปณต สิริวัฒนภักดี ลูกชายของเจ้าสัวเจริญเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อเดลฟอสจะถือหุ้นในสัดส่วน 50% และจะปรับโครงสร้างการลงทุน ซึ่งจะทำให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด มีบริษัทอยู่ภายใต้กลุ่มทั้งสิ้น 5 บริษัท ประกอบด้วย

  1. บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (GMM 25)
  2. บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด
  3. บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน)
  4. บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด
  5. บริษัท เอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ จำกัด

     เท่ากับว่ากลุ่มสิริวัฒนภักดีแห่งอาณาจักรไทยเบฟ จะมีสื่อในมือทั้ง จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง (50%) และ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์และทีวีดิจิทัลช่องอมรินทร์ 34 ซึ่งขายให้กับบริษัท วัฒนภักดี จำกัด (47.62%) ซึ่งมีฐาปนและปณต สิริวัฒนภักดีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มูลค่า 850 ล้านบาท ในวันที่ 25 พ.ย. 2559

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แกรมมี่ขายหุ้นธุรกิจในเครือ เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มปราสาททองโอสถ ทุ่มเงิน 1,900 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นช่อง ONE จากบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ โดยถือหุ้น 50% แกรมมี่จึงถือหุ้นเพียง 25.5% และกลุ่มของนายถกลเกียรติเหลือหุ้น 24.5% เท่านั้น

     หรือนี่จะเป็นสัญญาณว่าค่ายยักษ์แห่งอุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะไปต่อไม่ไหว แม้แต่ ‘อากู๋’ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการใหญ่แห่งแกรมมี่ ก็ยังต้องหันไปพึ่ง ‘แหล่งทุนที่ใหญ่กว่า?’

 

Photo: grammy-th.listedcompany.com

 

ย้อนรอยเส้นทางธุรกิจ แกรมมี่ปรับสภาพ-ขาดทุนต่อเนื่อง

     หลายปีที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิงเร่งปรับสภาพเพื่อเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจชะลอตัวและการแข่งขันของตลาดที่เปลี่ยนไป ไม่ต่างจากวงการสื่อ เช่น ภาวะขาดทุนจากการประมูลทีวีดิจิทัล งบโฆษณาหดตัว รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาเขย่าอุตสาหกรรมเพลงยุคดิจิทัล จนต้องหันไปพึ่ง ‘สายป่าน’ ที่ยาวกว่า ในทางกลับกัน ก็เปิดช่องให้กลุ่มธุรกิจของตระกูลเศรษฐีใหญ่ในไทยเข้ามาครองอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

     หากพิจารณาโครงสร้างตามประเภทธุรกิจ GRAMMY มีธุรกิจหลัก (Core Business) อยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน คือ

  1. ธุรกิจเพลงที่ให้บริการแบบครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจสินค้าเพลง (Physical Products), ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content), ธุรกิจบริหารและจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ (Copyright Management), ธุรกิจโชว์บิซ เช่น จัดคอนเสิร์ต (รายได้หลักมาจากการขายบัตร สินค้าบันทึกการแสดงสด และสปอนเซอร์)
  2. ธุรกิจทีวีดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วยช่อง GMM 25 (ขายหุ้นเพิ่มทุน 50% ให้กับกลุ่มสิริวัฒนภักดี) และช่อง ONE (ขายหุ้นเพิ่มทุน 50% ให้กับกลุ่มปราสาททองโอสถ)

     นอกจากนี้ก็มีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น สื่อวิทยุ ภาพยนตร์ โฮมช้อปปิ้ง ทีวีดาวเทียม ที่ถูกปรับโครงสร้างต่อเนื่องเช่นกัน

     ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแกรมมี่เจอแรงกระทบจากหลายด้าน และส่อแววขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการเข้าสู่สนามออนไลน์จะทำให้ธุรกิจเพลงฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังเจ็บตัวหนักจากศึกการแข่งขันทีวีดิจิทัล งบโฆษณาถูกแบ่งชิ้นเค้ก และรายได้ไม่เป็นไปตามคาด

 

Photo: hwww.gmmgrammy.com

 

     สรุปภาพรวมคร่าวๆ จากรายงานประจำปี 2559 ของบริษัทได้ดังนี้

     ปี 2557 รายได้รวม 9,264 ล้านบาท ขาดทุน 2,345.3 ล้านบาทโดยประมาณ

     ปี 2558 รายได้รวม 9,704 ล้านบาท ขาดทุน 1,135.2 ล้านบาทโดยประมาณ

     ปี 2559 รายได้รวม 7,430 ล้านบาท ขาดทุน 533.4 ล้านบาทโดยประมาณ

 

     จะเห็นได้ว่าปี 2559 แกรมมี่มีรายได้รวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ขาดทุนน้อยลงเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทตัดสินใจขายธุรกิจบางส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-Core Business) ออกไปตั้งแต่ปี 2558 เพื่อลดหนี้สิน และนำมาใช้เป็น ‘เงินหมุน’ ขยายกิจการหลักให้เดินหน้าต่อ ซึ่งก็คือธุรกิจเพลงและทีวีดิจิทัลนั่นเอง โดยคาดว่าหลังปรับผังธุรกิจแล้ว บริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว ตามที่ จิราภรณ์ รุ่งศรีทอง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนกล่าวว่า ปี 2558 ขาดทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพราะขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไปแล้ว

     “ตอนนี้ธุรกิจหลัก ประกอบด้วยเพลงและทีวี ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทเป็นอย่างมาก แต่มองแนวโน้มปีหน้ามีโอกาสกลับมามีกำไร หากการเปลี่ยนถ่ายจากทีวีอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัลสมบูรณ์แบบก็จะทำให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลเติบโตอย่างโดดเด่น” (อ้างอิง: www.bangkokbiznews.com/news/detail/666120)

 

     บริษัทที่แกรมมี่ขายหุ้น-ปิดตัว ได้แก่

  1. ขายหุ้นซีเอ็ดที่ถืออยู่ 12.64% ให้กับนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร น้องชายของทวีฉัตร จุฬางกูร หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของซีเอ็ด
  2. ขายหุ้นธุรกิจสิ่งพิมพ์-นิตยสาร 6 ฉบับ คือ Image, In Magazine, Madame Figaro, Maxim, Her World และ Attitude ให้กับนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย
  3. ยุติบริการ Z Pay TV ผ่านกล่อง GMM Z และขายให้ CTH
  4. ขายหุ้นทั้งหมดที่เอ-ไทม์ถืออยู่ใน บมจ. อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ให้กับบมจ. เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  5. บมจ. จีเอ็มเอ็ม ไท หับ หรือ GTH ปิดตัว และจัดตั้งบริษัทย่อย GDH 559 ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ สื่อโฆษณา และบริการจัดหานักแสดง

     แต่แกรมมี่ก็ต้องเผชิญกับผลกระทบจากงบการใช้สื่อโฆษณาผ่านสื่อทุกประเภทที่ลดลงจาก 122,175 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 107,896 ล้านบาทในปี 2559 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยสื่อวิทยุและทีวีดิจิทัลลดลง 7.28% และ 2.57% ตามลำดับ (อ้างอิงจาก บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย))

     ในปีเดียวกันข่าวปลดพนักงานในกลุ่มธุรกิจเพลงราว 80 คน ทำให้หลายคนตกใจไม่น้อย แม้ว่าไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จะอ้างว่าเป็นการปรับบุคลากรให้เหมาะสมก็ตาม
     “มีการสื่อสารเรื่องปรับบุคลากรในธุรกิจเพลงมาล่วงหน้า การลดพนักงานครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานปัจจุบัน เป็นการปรับบุคลากรตามปกติของธุรกิจเพลงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี และตลอดช่วงกว่า 32 ปีของแกรมมี่ มีคนลาออกไม่มาก ธุรกิจเพลงวันนี้จึงมีพนักงานกว่า 800 คน” (อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com/news/detail/688709)

     เท่านั้นไม่พอ มี.ค. 2560 ธุรกิจวิทยุคลื่นดังของเอ-ไทม์ มีเดีย ได้ปรับตัวครั้งใหญ่ เหลือคลื่นวิทยุเพียง 2 คลื่น คือ Greenwave 106.5 FM ซึ่งมีกลุ่มผู้ฟังเหนียวแน่น ย้ายคลื่น EFM มาเป็น 104.5 แล้วคืนคลื่น 94 ส่วนคลื่น Chill FM โยกมาอยู่บนโลกออนไลน์เต็มตัว

     หลังจากกลุ่มปราสาททองโอสถประกาศเข้าถือหุ้นครึ่งหนึ่งของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ เจ้าของช่อง ONE มาจนถึงบิ๊กดีลพันล้านของกลุ่มสิริวัฒนภักดี ทำให้หลายคนตั้งคำถาม หรือแกรมมี่จะถอดใจแล้ว?

 

Photo: นวลตา วงศ์เจริญ

 

ปรับกระบวนทัพสู่ Total Media Solutions Provider

     เอาเข้าจริงแกรมมี่ย่อมรู้ดีว่าธุรกิจหลักไม่สามารถพึ่งการขาย ‘เพลง’ หรือ ‘คอนเทนต์’ ได้อย่างเดียว บริษัทจึงยังปรับกลยุทธ์ใหม่ วางตัวเป็นบริษัทด้านคอนเทนต์ที่ครอบคลุมทุกสื่อครบวงจร หรือ Total Media Solutions Provider

     นั่นหมายความว่าแกรมมี่จะไม่ใช่แค่ผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่ดึงทรัพยากรจาก In-House มาให้บริการกับลูกค้าพาร์ตเนอร์ที่ต้องการโปรโมตแบรนด์สินค้า ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ มีเดีย หรือศิลปิน โดยดึงตัว เจ๋อ-ภาวิต จิตรกร จากเอเจนซีดัง Ogilvy & Mather ประเทศไทย มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่การตลาด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจดังกล่าว นอกจากนี้ ยังรุกเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เร่งสร้างฐานผู้ชมบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, LINE TV, Youtube และ Google

     และยังจับมือกับมิวสิกสตรีมมิงรายใหญ่ เช่น Joox, Line Music, Apple Music เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกช่องทาง

     การปรับกระบวนทัพทางธุรกิจทั้งหมด จึงไม่น่าจะใช่ว่าอากู๋ไพบูลย์ปรับตัวไม่ทันจนถอดใจ แต่เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ ที่ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล โดยยังคงรักษา ‘ความแข็งแกร่ง’ ของบริษัทได้มากกว่า

     THE STANDARD เคยพูดคุยกับเจ๋อ ภาวิต ถึงอนาคตของสื่อ ในวันที่เขาเปลี่ยนมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค (อ่านต่อ)

     ภาวิตบอกกับเราว่า สิ่งสำคัญคือคนทำธุรกิจต้องรู้จุดแข็งหรือ Core Competency ของตัวเอง

     “เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงทุกวินาที พฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่คือการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่ผมว่าเป็นคำถามที่ใหญ่ที่สุด ถ้าพูดเป็นภาพรวมคือเรารู้หรือเปล่าว่าอะไรคือจุดที่เราแข็งแรงที่สุด หรือเราเจ๋งที่สุด อะไรคือ core competency ของตัวเรา หรือองค์กรเหล่านั้น

     “ผมคิดว่าแกรมมี่ไม่ได้เป็นสื่อ 100% เราเป็นทุกอย่างเลย เราเป็น content provider เจ้าใหญ่ เราเป็น music provider เราเป็น TV content provider เราเป็น แพลตฟอร์มถูกไหมครับ เราเป็นคนถือลิขสิทธิ์ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดต้องรู้ให้ได้ว่าเราเป็นอะไร”

     ภาวิตเปรียบเทียบว่าแกรมมี่ก็คือ ‘เหมืองทอง’ มีความแข็งแกร่งด้าน Content Provider ในทุกมิติ ผลิตทั้งเพลง ละคร รายการเกมโชว์ แถมยังมีศิลปินและโปรดักชันในมือ ซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะขยาย ‘ความแข็งแกร่ง’ ที่ว่านี้สู่เอเชียและระดับโลก

     “ถ้าเราจะทำอะไรที่ไม่ต้องเป็นแนวทางของแกรมมี่ มันน่าจะสนุกนะ คุณอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าเพจที่อยู่ในตลาดสัก 10 เพจเป็นของผม เพราะผมไม่ต้องใช้ชื่อแกรมมี่แล้วก็ได้ เพราะโลกทุกวันนี้มัน move ไปสู่สิ่งที่อยู่ในระนาบเดียวกันไง”

     ยิ่งธุรกิจเปลี่ยนผ่าน ผู้บริหารก็ต้องเข้าใจแหล่งที่มาของรายได้ในบริษัท แบ่งสัดส่วนของธุรกิจแอนะล็อกและดิจิทัลให้ชัดเจน คำนึงถึงจุดแข็งของโปรดักต์ และใช้ดิจิทัลเข้ามาต่อยอด แทนที่จะโฟกัสกับตัวเทคโนโลยีอย่างเดียว

     เขามองว่าไอเดียที่ดี (idea excellent) จะนำไปสู่โปรดักต์ที่ดี โดยแปลงไอเดียนั้นให้เกิดขึ้น (operation excellent) ต้องมีทีมเซลที่ดี ทำให้โปรดักต์ขายได้ (sale excellent)

     แต่เป้าหมายของแกรมมี่ (ในทัศนะของภาวิต) คงไม่ใช่การสร้างโปรดักต์ที่เป็น killer อย่างเดียว

     “ที่เมืองนอกตอนนี้เราจะเริ่มเห็น platform provider ที่เริ่มลงทุนในคอนเทนต์อย่างเป็นรูปธรรม เราเห็นเฟซบุ๊กเริ่มลงทุนสร้างคอนเทนต์ของตัวเอง เราจะเห็น Apple มีความต้องการที่จะลงทุนหรือซื้อคอนเทนต์จาก HBO หรือ Warner Bros. เราเริ่มเห็น consulting company อย่าง Baker McKenzie, Accenture หรือ IBM อยากจะลงทุนในบริษัทโฆษณา นี่คือการควบรวมระหว่างคนที่เป็น creative industry กับคนที่เป็น innovative industry อันนี้ผมว่าเป็นหัวใจที่สำคัญมาก และเป็นความเชื่อที่แกรมมี่กำลังมุ่งไป

     “ผมเชื่อว่าถึงจุดหนึ่ง แพลตฟอร์มอาจจะมีคอนเทนต์ที่ฟรี อาจจะมีคอนเทนต์ที่สามารถสร้างฐานผู้ชมหรือคนอ่านได้มหาศาล แน่นอนว่าแพลตฟอร์มอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ มันจะเดินไปสู่ยุคที่เกิดเป็นเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ เพราะไม่มีแพลตฟอร์มไหนอยากจะแจกของฟรีให้คนไปตลอดชีวิต”

      นี่เป็นหนึ่งในทิศทางสำคัญที่บริษัทเก่าแก่อย่างแกรมมี่ตั้งเป้าไว้

 

     ขณะเดียวกัน หากมองในมุมของนายทุนใหญ่ กลุ่มสิริวัฒนภักดีก็ได้โอกาสเคลื่อนย้ายทุนจากอุตสาหกรรมเดิม มาสู่อุตสาหกรรมสื่อทีวีดิจิทัล ซึ่งยังมีศักยภาพเติบโตในอนาคต เพราะ GRAMMY โดดเด่นด้านการผลิตคอนเทนต์อยู่แล้ว เช่น ช่อง GMM 25 เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเพิ่มช่องทางรับชมผ่าน LINE TV รายได้ตามโครงสร้างธุรกิจเพิ่มขึ้นจาก 1,645 ล้านบาทปี 2558 เป็น 1,772 ล้านบาทในปี 2559 หรือคิดเป็น 24% ของรายได้ธุรกิจทั้งหมด 7,430 ล้านบาทของ GRAMMY รายการที่มีเรตติ้งสูงสุดของ GMM 25 (ปี 2559) คือ ซีรีส์ Club Friday To Be Continued ตอน เพื่อนรัก เพื่อนร้าย ได้เรตติ้งระดับ 5.5

     เหลือเพียงแต่ว่าแกรมมี่จะบรรลุเป้าหมายได้เร็วพอที่จะปิดบาดแผลของบริษัทและได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นที่พอใจสำหรับผู้ถือหุ้นหรือไม่

 

*ตัวเลขส่วนใหญ่อ้างอิงจากรายงานประจำปี 2559 ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X