×

เกรแฮม พอตเตอร์ กับความลับในโรงเรียนลูกหนัง

12.09.2022
  • LOADING...
เกรแฮม พอตเตอร์

“พอตเตอร์ เธออีกแล้วเหรอ!” เสียงของศาสตราจารย์หญิงดังลั่นโถงทางเดินไปสู่ห้องอาหาร

 

พอตเตอร์หันกลับมา หน้าตาของเขาเปลี่ยนไปจากเมื่อหลายปีก่อนพอสมควร แต่ก็ยังพอมองเห็นเค้าลางของชายหนุ่มที่เคยใช้ช่วงเวลา 3 ปีอยู่ที่โรงเรียน เอ๊ย มหาวิทยาลัยแห่งนี้ รูปร่างสูงโปร่งของเขาทำให้ใครก็จดจำได้ง่าย (บางทีก็ชวนให้รู้สึกว่าเขาคล้ายกับ เนวิลล์ ลองบอตทอม มากกว่า) แม้ว่าหนวดเคราจะทำให้ใบหน้าดูเคร่งขรึมขึ้นมาบ้างก็ตาม

 

“สวัสดีครับศาสตราจารย์ สบายดีไหมครับ” พอตเตอร์ทักทายด้วยน้ำเสียงแจ่มใส แม้ว่ามันจะผ่านมานานเกือบ 20 ปีแล้วก็ตามที่เขาเคยอยู่ที่นี่ และเชื่อไหมว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่ยังอยู่ที่นี่หรือเคยอยู่ที่นี่ก็ยังจดจำช่วงเวลาในตอนนั้นได้เป็นอย่างดี

 

16 ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยฮัลล์ มหาวิทยาลัยไม่ค่อยดังที่อยู่ในเมืองฮัลล์ หรือชื่อแบบทางการที่ไม่มีใครเรียกคือ คิงสตัน ออฟ ฮัลล์ ทางอีสต์ยอร์กเชียร์ที่ซึ่งแม่น้ำฮัลล์ไหลมาบรรจบกับปากแม่น้ำฮัมเบอร์ พอตเตอร์ในวัย 31 ปีถูกตามตัวให้มาที่นี่

 

ถึงจะนามสกุลพอตเตอร์ (ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่ามันเป็นนามสกุลที่ฟังแล้วห่างไกลจากการทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นนามสกุลที่เซ็กซี่) แต่เขาก็ไม่ได้เป็นคนเด่นคนดังอะไรในโลกเวทมนตร์ เขาเป็นแค่มักเกิลธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อาจจะเคยไปที่สถานีคิงส์ครอสบ้าง แต่ไม่น่าจะเคยขึ้นรถไฟที่ชานชาลา แน่ๆ

 

และเขาก็ชื่อว่าเกรแฮมด้วย ไม่ใช่แฮร์รี

 

เพราะเป็นมักเกิล เกรแฮม พอตเตอร์ก็เลยไม่เคยเล่นควิดดิชเหมือนพวกพ่อมดน้อย เขาเป็นแค่นักฟุตบอลที่เพิ่งจะเลิกเล่นในวัย 31 ปี และก็ไม่ได้อยู่กับสโมสรระดับชั้นนำของประเทศอย่างลิเวอร์พูลหรือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดด้วย สโมสรของเขาชื่อว่าแม็คเคิลสฟิลด์ ทาวน์ ที่หากจะมีใครพอเคยได้ยินชื่อบ้างก็คงเป็นพวกแฟนบอลเนิร์ดๆ ที่ใช้เวลาครึ่งวันในการจัดแผนการเล่น และอีกครึ่งวันในการกดค้นหานักเตะใหม่ๆ ในลีกล่างๆ ที่เป็นกิจวัตรของคนเล่นเกม Football Manager

 

ถึงอย่างนั้นเขาก็เป็นคนที่ถูกคาดหวัง

 

ทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยฮัลล์ในตอนนั้นผลงานเลวร้ายอย่างมาก ภายในทีมแบ่งออกเป็น 4 ชุดตามระดับของฝีเท้า แต่ต่อให้เป็นทีมชุดแรก ผลงานก็ไม่เอาอ่าวเอาเสียเลย พวกเขาเป็นสมันน้อยที่รอให้เหล่าเสือร้ายในบริติช ยูนิเวอร์ซิตี้ ลีก หรือลีกฟุตบอลมหาวิทยาลัย อย่างทีมลัฟโบโรห์ (Loughborough) และบาธ (Bath) ไล่ขม้ำอย่างสนุกสนาน

 

พอตเตอร์หนุ่มถูกดึงตัวมาก็เพื่อเปลี่ยนสมันน้อยอย่างฮัลล์ให้เป็นเสือร้ายเหมือนทีมฟุตบอลอาชีพของเมืองอย่างฮัลล์ ซิตี้ ที่มีสมญาว่าเป็น ‘The Tigers’

 

แต่โค้ชที่หน้าตาจืดๆ ดูไม่มีสง่าราศรี เงียบๆ ติ๋มๆ คนนี้จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้? เขาดูห่างไกลจากบรมกุนซือในวงการฟุตบอลอย่าง บิลล์ แชงคลีย์, เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หรือ ไบรอัน คลัฟ จอมปากตะไกรมาก และต่อให้เทียบกับคนที่ได้รับการนับถือในความเป็นสุภาพบุรุษอย่าง เซอร์บ็อบบี ร็อบสัน ก็ดูเหมือนพอตเตอร์คนนี้ยังไม่มีแววจะเป็นแบบนั้น

 

จนกระทั่งเขาได้เริ่มต้นงานในฐานะโค้ช ความเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆ เกิดขึ้น สิ่งละอันพันละน้อยถูกแต่งเติมเข้ามาจนทำให้ทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยฮัลล์กลายเป็นทีมที่เต็มไปด้วยความสนุก และที่สำคัญกว่านั้นคือชีวิตของทุกคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 

ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็เช่น การทำงานแบบบูรณาการกับคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาของมหาวิทยาลัย โดยขณะที่นักฟุตบอลในทีมจะได้รับการดูแลประหนึ่งนักกีฬามืออาชีพจริงๆ อีกฝั่งก็ได้ประสบการณ์ในการทำกายภาพให้แก่นักกีฬาของจริงอย่างถูกต้องด้วย

 

เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีในเกมกีฬาค่อยๆ ถูกนำมาใช้ เช่น การตรวจวัดสภาพความฟิตของร่างกายด้วยเครื่อง VO2 Max ซึ่งใช้มากทางเวชศาสตร์การกีฬา เป็นการวัดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำออกซิเจนจากเลือดส่งไปยังกล้ามเนื้อ เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่านักเตะหลายๆ คนในทีมไม่เคยลองมาก่อน ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าเครื่องนี้มันคืออะไรในเวลานั้น

 

หรือความใส่ใจในการออกแบบการฝึกซ้อม พอตเตอร์รู้ว่าหนึ่งในปัญหาคือการที่นักเตะในทีมมีเวลาซ้อมกันไม่พอ เขาเลยไล่ดูตารางเรียนของแต่ละคน และหาช่วงเวลาว่างที่ทุกคนจะสามารถลงมาซ้อมด้วยกันได้ระหว่างคาบ หรือบางครั้งว่างกันตอนค่ำก็ซ้อมกันตอนนั้น

 

ก่อนเกมเขาจะทำการบ้านของตัวเองอย่างหนัก ด้วยการศึกษาคู่แข่งและออกแบบการซ้อม เพื่อให้ทีมสามารถสู้กับคนอื่นได้

 

พอตเตอร์คนนี้ยังเก่งในเรื่องการชักจูงใจผู้คน นักฟุตบอลฝึกหัดของสโมสรฮัลล์ ซิตี้หลายคนที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน (ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของโลกที่โหดร้ายอย่างโลกฟุตบอล) จะได้รับการชักชวนให้ลองสมัครมาเล่นในทีมของมหาวิทยาลัยแทน เพราะเขาเชื่อว่าทุกคนย่อมมีเวทีของตัวเอง และเวทีนั้นอาจจะอยู่ในระดับทีมมหาวิทยาลัยก็ได้ เหมือนกับตัวของเขาเอง

 

เกรแฮม พอตเตอร์

ก่อนจะมาคุมทีม เกรแฮม พอตเตอร์ ก็เคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อน!

 

ตอนนั้นเขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะไปถึงจุดไหนในโลกนี้ แต่อย่างน้อยที่นี่ก็มอบสิ่งล้ำค่าที่สุดให้แก่เขา คือ เวลา อิสระ และโอกาสในการได้ทดลองทำในสิ่งที่อยากทำในการเป็นโค้ชฟุตบอล

 

ความตั้งใจของพอตเตอร์คนหนุ่มนั้นเหมือนเปลวไฟในเตาผิง มันไม่ได้ให้ความร้อนจัดจนทนไม่ได้ หากแต่เป็นเปลวไฟอ่อนๆ ที่อุ่นกำลังดี ที่ทำให้ทุกคนกลับมามีเรี่ยวมีแรงอีกครั้งหลังวันและคืนที่หนาวเหน็บ

 

หนึ่งในเด็กๆ ของเขาในวันนั้นอย่าง ชิล ชิลากา นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ที่อีกภาคคือกองหน้าของทีมน็อตต์ส เคาน์ตี ยังจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดี “ที่ข้างสนามพอตเตอร์ไม่เคยออกมาโวยวายหรือตะคอกใครเลย เพราะเขาไม่ได้เป็นคนแบบนั้น แล้วก็ไม่ได้เป็นผู้จัดการทีมในแบบนั้นด้วย”

 

แล้วพอตเตอร์เป็นผู้จัดการทีมแบบไหนกันนะ? ชิลากาบอกว่า พอช่วงพักครึ่งหลังหลังจบเกม เขามักจะชอบถามว่าทำไมเราถึงขยับไปอยู่ตรงนั้นในเวลาที่เสียการครองบอล หรือไม่ก็จะบอกว่ายังจำตอนที่เราซ้อมเกี่ยวกับเรื่องความสมดุลในเกมได้หรือเปล่า พอตเตอร์ไม่ต้องการที่จะเหยียบเด็กๆ ของเขาให้จมดินเพียงเพราะเล่นไม่ดี ในทางตรงกันข้ามเขาอยากให้ทุกคนสะท้อนปัญหาออกมา เพื่อที่สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะรู้คำตอบว่าสิ่งที่ควรจะทำจริงๆ แล้วคืออะไร

 

ในความเป็นจริงแล้วพอตเตอร์เองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับทุกคน เหมือนที่เขาบอกตั้งแต่แรกว่า “ผมมาที่นี่เพื่อเรียนรู้มากเท่าๆ กับทุกคน ผมมาเพื่อจะมอบประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับเกมของผม แต่นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นการเป็นโค้ชของผมเหมือนกัน ผมก็จะต้องเรียนรู้จากพวกคุณเหมือนกัน”

 

และนั่นคือสิ่งที่เด็กๆ รักเขามากที่สุด เพราะเขาปฏิบัติต่อทุกคนอย่างที่มนุษย์ดีๆ สักคนพึงมี

 

ความตั้งใจของพอตเตอร์ (เคราเมอร์ลินเป็นพยาน! จะเรียกกี่ครั้งเขาก็ไม่เคยรู้สึกว่าชื่อของตัวเองเซ็กซี่สักที!) ทำให้ทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยฮัลล์ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ทีมขี้แพ้ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นทีมผู้ชนะ พวกเขาได้แชมป์ BUSA ทันทีในฤดูกาลแรกที่เขามา

 

แต่สิ่งที่มีความหมายมากกว่าถ้วยแชมป์คือการที่ทุกคนสนุกกับการเล่นฟุตบอล และค้นพบความหมายใหม่ที่นอกเหนือไปจากการลงสนามด้วย มีหลายคนที่เก็บแรงบันดาลใจจากเขาติดตัวไปตลอดชีวิต จากการที่พอตเตอร์มักจะชวนเด็กๆ ในทีมไปช่วยกันสอนทีมฟุตบอลระดับประถมในท้องถิ่นในช่วงที่มีเวลาว่างด้วยกัน และช่วงเวลานั้นทำให้หลายคนค้นพบว่าการเป็นโค้ชก็สนุกไม่แพ้การลงไปเตะเองเลย

 

ชิลากาเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น จากคนที่เคยหมดหวังกับเกมฟุตบอล เพราะไปต่อไม่ได้ในเส้นทางสายอาชีพ ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็นความมืดมนอนธการกลับสวยงามเหมือนทุ่งดอกไม้หลากสีในฮัลล์พาร์ก

 

เขาทำให้หลายคนมองเห็นทางไปต่อในชีวิตอีกครั้ง

 

แต่ตัวของพอตเตอร์เองก็เหมือนกัน เขาต้องเติบโตและเดินทางไป หลังช่วงเวลา 3 ปีที่ฮัลล์ เขาออกเดินทางต่อไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการเทคนิคของทีมฟุตบอลหญิงกานา ก่อนจะเป็นผู้ช่วยโค้ชทีมมหาวิทยาลัยอังกฤษ ไปต่อที่มหาวิทยาลัยเมโทรโปลิตัน ลีดส์ (ตอนนี้เปลี่ยนเป็นชื่อลีดส์ เบ็คเกตต์แล้ว) ที่ซึ่งเขาได้สำเร็จการศึกษาในศาสตร์เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)

 

แล้วก็ขึ้นเครื่องบิน (ขอโทษนะที่ไม่ใช่ฮิปโปกริฟฟ์) ข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึงสวีเดน เพื่อเริ่มต้นการทำทีมฟุตบอลอาชีพทีมแรกอย่าง ออสเตอร์ซุนด์ สโมสรฟุตบอลเล็กๆ ในระดับดิวิชันที่ 4 ของสวีเดน ซึ่งเขาได้งานนี้หลังจากที่ออสเตอร์ซุนด์มาอุ่นเครื่องกับสวอนซี และเพื่อนสนิทของเขา แกรม โจนส์ ที่เป็นผู้ช่วยของ โรเบร์โต มาร์ติเนซ ผู้จัดการทีมในขณะนั้นช่วยแนะนำต่อให้อีกที

 

ที่นั่นเองที่เขาเปลี่ยนแปลงออสเตอร์ซุนด์ให้เป็นทีมมหัศจรรย์ ทีมจากดิวิชัน 4 ตะลุยฝ่าขึ้นมาจนถึงดิวิชัน 1 คว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วย ได้ไปเล่นรายการระดับยูโรปาลีก ที่อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนรายการควิดดิชชิงแชมป์โลก

 

จากนั้นสวอนซีก็ดึงตัวเขากลับมา ต่อด้วยไบรท์ตัน และตอนนี้อย่างที่ทุกคนรู้

 

เกรแฮม พอตเตอร์ ที่เริ่มฟังดูเซ็กซี่ขึ้น ได้กลายมาเป็นผู้จัดการทีมของสโมสรฟุตบอลที่ใหญ่โตที่สุดของอังกฤษอย่างเชลซีไปแล้ว

 

และนั่นทำให้เรื่องราว 3 ปีแรกในทีมมหาวิทยาลัยฮัลล์ของเขากลายเป็นเรื่องที่ควรถูกเล่าต่อ ในฐานะจุดเริ่มต้นของโค้ชฟุตบอลธรรมดาๆ คนหนึ่งที่กำลังกลายเป็นคนไม่ธรรมดาไปแล้ว

 

“ฉันสบายดี เธอล่ะสบายดีไหมพอตเตอร์” ศาสตราจารย์ที่ดูแก่ลงไปมากเพราะเวลาก็ผ่านมากว่า 16 ปีแล้วตอบกลับ

 

“ผมสบายดีครับ คิดถึงที่นี่ก็เลยแวะมา” พอตเตอร์ตอบกลับ

 

รอยยิ้มเล็กๆ ของศาสตราจารย์ทำให้เขารู้สึกดึ “เธอกลับมาได้เสมอ ที่นี่ยินดีต้อนรับเธอนะ เกรแฮม พอตเตอร์ แต่ช่วยโกนหนวดหน่อยจะได้ไหมล่ะ มันรุงรัง!”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X