หลังจากปั้นธุรกิจจนติดตลาด และแฝงตัวเองไปเป็นซูเปอร์แอปพลิเคชันบนมือถือของผู้บริโภคทั่วประเทศในกลุ่มอาเซียนมาได้นานกว่า 9 ปีเต็ม และฉวัดเฉวียนป้วนเปี้ยนจ่อเข้าตลาดหุ้นมาแล้วหลายครั้ง ในที่สุดก็มีรายงานข่าวที่ระบุว่า Grab สตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ระดับ Decacorn ตัวแรกจากอาเซียน ใกล้จะเตรียม IPO เข้าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาแล้วในเร็วๆ นี้
สื่อท้องถิ่นอย่าง FT (Financial Times ในสิงคโปร์) ระบุว่า Grab เตรียมจะใช้วิธีการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ด้วยวิธีการพิเศษ SPAC (Special Purpose Acquisition Companies) ผ่านการควบรวมกับกลุ่มธุรกิจ SPAC ที่มีบริษัทอย่าง Altimeter Growth Corp. 2 หนุนหลัง
โดยการควบรวมกิจการและตบเท้าเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในครั้งนี้คาดว่าน่าจะเพิ่มให้มูลค่าบริษัท Grab ทะยานขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท ได้ไม่ยาก และคาดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะหาข้อตกลงในการพาตัวเองเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างเร็วที่สุดก็ภายในสัปดาห์นี้เลย หลังจากที่คณะกรรมการของ Grab ได้ตกลงข้อตกลงเบื้องต้นบางส่วนไปตั้งแต่เดือนที่แล้ว
ทั้งนี้ FT ยังคงนิยาม Grab ว่าเป็นธุรกิจที่ ‘ยังไม่ทำกำไร’ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2012 ที่เริ่มเปิดตัวจนถึงปัจจุบัน พวกเขาได้รับเงินระดมทุนไปแล้วทั้งสิ้นรวมกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.76 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกระแสเงินสดสำรองที่ 5 พันล้านดอลลาร์ และถูกตีตราประเมินมูลค่าบริษัทเอกชนก่อนเปลี่ยนนามสกุลเป็นมหาชนไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์
แหล่งข่าววงในยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า หากการเข้า IPO อยู่ในกระบวนการที่เริ่มรันจริงเมื่อไร แอนโทนี ตัน ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและแพลตฟอร์มจะได้ครอบครองหุ้นในสัดส่วน 2% ของบริษัทดังกล่าวด้วย
ปัจจุบัน พวกเขาให้บริการใน 8 ประเทศกลุ่มอาเซียน ทั้งสิงคโปร์, ไทย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, กัมพูชา, เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยมีผู้ใช้บริการรวมกว่า 655 ล้านราย ซึ่งการที่พวกเขาสามารถครองตลาดในฝั่งอาเซียนได้เบ็ดเสร็จและกินรวบ เป็นผลมาจากดีลที่ทำร่วมกับ Uber ไว้ตั้งแต่ปี 2018 หลัง Uber ตัดสินใจขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดให้ Grab เพื่อแลกกับการได้ถือครองหุ้นบริษัท Grab กว่า 27.5% พร้อมเปิดทางให้ ดารา คอสราวชาฮี ซีอีโอของ Uber ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของ Grab
ประเด็นที่น่าสนใจที่สื่อชี้ว่าต้องเริ่มจับตาให้ดีคือ การผงาดของสตาร์ทอัพจากอาเซียน ที่นับวันก็เริ่มมีทิศทางชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ Gojek สตาร์ทอัพสัญชาติอินโดนีเซีย อีกหนึ่งในคู่แข่งคนสำคัญของ Grab ก็เตรียมเข้าสู่กระบวนการควบรวมกิจการกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Tokopedia ก่อนจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: