Grab ผู้ให้บริการไรด์แชริ่งเปิดวิสัยทัศน์สู่การเป็นแอปพลิเคชันสำหรับทุกวันของผู้ใช้ (Everyday Application) มุ่งรวม 3 บริการครบจบในแอปฯ เดียว เปรยรอแบงก์ชาติอนุมัติลุยตลาดธุรกรรมเปิด e-Wallet และบริการปล่อยเงินกู้คนขับ เผยฟีดแบ็กหลังรวมกับ Uber จำนวนคนขับเพิ่มขึ้น 10-15% เชื่อไม่ผูกขาดตลาดเพราะผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย
วันนี้ (8 พ.ค.) Grab ประเทศไทย ได้เปิดแถลงการณ์ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์การเป็น Everyday Application หรือแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันสำหรับทุกวันของผู้ใช้ โดยจะรวมทุกบริการในปัจจุบันที่มีใน 3 หมวดหมู่ให้ครบครันและใช้งานได้ง่ายมากขึ้นผ่านแอปพลิเคชันของ Grab เพียงแอปฯ เดียว ได้แก่
- Transport Solutions (GrabTaxi, GrabCar, GrabBike (Win), GrabXL, GrabRent, GrabRoddaeng)
- Delivery Solution (ส่งของทางมอเตอร์ไซค์ (GrabBike, GrabFood)
- Payment Financial Solution (GrabPay (ลิงก์กับบัตรเครดิต), Grab Rewards)
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab ประเทศไทย เผยว่า เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากฉลองการให้บริการผู้โดยสารในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครบหลัก 1 พันล้านครั้งตั้งแต่เปิดตัว บริษัทจึงได้ทำแบบสอบถามกับผู้ใช้ว่าต้องการเห็น Grab เป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า และพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่อยากให้บริการของ Grab กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ครบเบ็ดเสร็จในแอปฯ เดียว ด้วยเหตุนี้เอง Grab จึงมุ่งสู่การพัฒนาให้บริการแบบไร้รอยต่อพร้อมๆ ไปกับการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ
“นี่คือที่มาของแรงบันดาลใจที่ทำให้เราปรับปรุงแอปพลิเคชันหรือรวมทุกบริการให้อยู่ในแอปฯ เพียงแอปฯ เดียว หรือ Daily Life Application ของผู้ใช้บริการทุกคน ทำให้แอปฯ ออนไลน์ของเราตอบสนองการใช้ชีวิตออฟไลน์ของผู้บริโภคได้ครบทุกด้านในแอปฯ เดียว (O2O Market) ตัวอย่างเช่น สมมติในอนาคต การเดินทางไปสถานที่ใดสถานที่หนึ่งอาจจะจำเป็นต้องต่อระบบขนส่งมวลชนหลายต่อ แต่ Grab อยากให้ในอนาคตผู้ใช้สามารถจองบริการบนแอปฯ แค่ครั้งเดียวก็สามารถเดินทางได้ต่อเนื่องเลย เช่น สมมติเรียกบริการมอเตอร์ไซค์ไปสถานีรถไฟฟ้า เลือกไปสถานีที่ต้องการ พอลงมาก็ต่อมอเตอร์ไซค์ไปถึงที่หมายได้เลยทันที ทำทุกอย่างนี้ด้วยการบุ๊ก (จองบริการ) แค่ครั้งเดียว Grab จะช่วยคิดวิธีที่ง่ายที่สุดจองบริการครั้งเดียวไปได้ทั้ง Chain
“การเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนต่างๆ เข้าด้วยกันคือเรื่องที่สำคัญ นั่นคือส่ิงที่เราคิดคร่าวๆ ว่าอยากให้เป็น เพราะว่ารัฐบาลในทุกประเทศแม้กระทั่งประเทศไทยควรจะให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานการคมนาคมภายในประเทศ ทั้งสถานีขนส่งรถไฟ, สนามบิน, ท่าเรือ และสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้เชื่อมต่อเข้าถึงกัน ซึ่งเราจะพยายามสร้างบริการเพื่อแก้ Pain point การเดินทางของคนในสังคมวันนี้”
ส่วนการเปิดแพลตฟอร์มขยายไปบนบริการ Payment Financial Solution นั้น Grab บอกว่ากำลังรอให้ทางแบงก์ชาติดำเนินการอนุมัติออกใบอนุญาตให้อยู่ โดยปัจจุบัน Grab มี GrabPay (ยังต้องผูกกับบัตรเครดิต) และ GrabRewards แล้ว แต่ในอนาคตอยากเปิดให้บริการ Grab e-Wallet หรือกระเป๋าสตางค์ออนไลน์เป็นของตัวเอง และยังมีแพลนจะเปิด Better 365 บริการปล่อยเงินกู้สำหรับคนขับ Grab ในระบบอีกด้วย เนื่องจากการเข้าถึงธุรกรรมเงินกู้บนธนาคารยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่สำหรับใครหลายๆ คน
“วันนี้คนขับมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่ส่วนใหญ่มักจะเลือกกู้เงินนอกระบบ หรือหากเป็นในระบบก็จะไม่ใช่ธนาคารและมีราคาสูง สร้างภาระการใช้ชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่เราต้องการทำคือ ปกติถ้าพี่ๆ คนขับเหล่านี้จะขอกู้เงินจากธนาคารก็จะต้องมี Statement เงินเดือน ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะไม่มี ดังนั้นสิ่งที่เรามีในตอนนี้คือ เมื่อคุณมาขับรถบนแพลตฟอร์ม Grab เราจะรู้เลยว่า Cash flow และรายรับที่คุณได้แต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง และจากข้อมูลเหล่านั้นเราสามารถนำมาใส่ในระบบ Scoring ของเราเพื่อช่วยตัดสินใจในการเลือกปล่อยกู้เพื่อให้ชีวิตพาร์ตเนอร์คนขับของเราดีขึ้นได้ นี่คือหนึ่งในวิสัยทัศน์ที่เราอยากเปิดเป็นบริการให้กับคนขับของเรา”
ขณะที่ภาพรวมหลังเข้าควบรวมกิจการกับ Uber เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธรินทร์บอกว่า ในแง่การดำเนินการและการตอบรับเป็นไปด้วยดี เพราะพาร์ตเนอร์คนขับส่วนใหญ่ก็ใช้ทั้ง Grab และ Uber อยู่แล้ว เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง คนขับหลายคนก็ให้ฟีดแบ็กว่าคล่องตัวขึ้น เพราะไม่ต้องสลับใช้หลายๆ แอปฯ โดยมีสัดส่วนคนขับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่ 10-15% ส่วนคำถามที่ว่าผูกขาดการให้บริการหรือไม่ ตนไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกบริการอยู่มากมายในปัจจุบัน แต่ผู้ให้บริการเองก็ต้องพัฒนาและปรับปรุงระบบของตนให้ดีด้วย
พร้อมกันนี้ Grab ยังได้เปิดตัว GrabFood บริการส่งอาหารอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ใช้ ด้วยจำนวนร้านอาหารในระบบที่มีมากถึง 4,000 ร้าน และจำนวนคนขับส่งของที่มีอยู่มากมาย ผู้ใช้สามารถเลือกสั่งอาหารจากร้านในรัศมี 5 กิโลเมตรที่ตนอยู่ เพื่อให้ส่งอาหารได้รวดเร็ว และยังมีโปรโมชันต่างๆ ให้เลือกอีกมาก โดยจะประเดิมให้บริการในกรุงเทพฯ ก่อนมองถึงโอกาสความเป็นไปได้ขยายพื้นที่ให้บริการในอนาคต