×

PTT จับมือ GPSC เปลี่ยน Digital Disruption เป็นความท้าทาย เพิ่มทางเลือกใหม่ให้การใช้พลังงานไฟฟ้าแก่คนไทยทุกคน

โดย THE STANDARD TEAM
17.09.2019
  • LOADING...
GPSC-PTT

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • ความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าของมนุษยชาติเพิ่มขึ้นทุกวัน ในขณะที่วัตถุดิบซึ่งนำมาใช้ในการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า นับวันก็จะยิ่งร่อยหรอลงไป
  • แม้ผู้คนจะหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ แต่ก็ยังคงมีข้อเสีย โดยเฉพาะเรื่องการให้ไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอ
  • กลุ่ม ปตท. และ GPSC ร่วมกันปูพรมเส้นทางของพลังงานรูปแบบใหม่จากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพื่ออุดช่องโหว่ในสิ่งที่พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถทำได้
  • หากไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในระยะเวลา 2 ปี โรงงานต้นแบบดังกล่าวก็จะเริ่มงานผลิตพลังงานด้วยกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งปลอดภัยและช่วยลดต้นทุนในอุตสาหกรรมได้อย่างมาก

ทุกๆ ความเจริญที่ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนเรามีการขับเคลื่อนของพลังงานบางอย่างซ่อนตัวอยู่ มันสว่างไสว วูบวาบ และทรงพลังถึงขั้นเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก

 

เรากำลังพูดถึง ‘พลังงานไฟฟ้า’

 

ในแต่ละวันที่ผ่านพ้นไป ความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าของมนุษยชาติเพิ่มขึ้นไปด้วยทุกวัน ในขณะที่วัตถุดิบซึ่งนำมาใช้ในการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งก็คือฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน นับวันก็จะยิ่งร่อยหรอลงไป มนุษย์เราจึงต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาแทนที่ แล้วเช่นนี้จะไม่ให้อุตสาหกรรมพลังงานถูก Disrupt จากเทคโนโลยีไปได้อย่างไร

 

ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างคนกับธรรมชาติก็ทำให้เราได้เห็นเทรนด์การใช้พลังงานใหม่ๆ คือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมด แถมยังเป็นพลังงานสะอาดที่มาแรงแซงพลังงานไฟฟ้าแบบหมุนเวียนอื่นๆ เช่น ลม ชีวมวล ฯลฯ อีกทั้งต้นทุนจากที่เคยแพงแสนแพงก็ขยับลดลงจนครัวเรือนสามารถแตะต้องได้มากขึ้น ข้อเสียเพียงอย่างเดียวในตอนนี้คือให้ไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอ 

 

สถานการณ์ในเมืองไทยก็ไม่แตกต่าง เกิดโครงการเพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ซึ่งกำลังปรับปรุงสู่แผนใหม่ AEDP 2018 และยังวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ‘ไทยแลนด์ 4.0’ มุ่งนำนวัตกรรมมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีไฮไลต์เด่นอยู่ที่ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า’ เมื่อประเทศหันทิศทางมายังจุดหมายนี้ ปตท. ในฐานะหัวเรือใหญ่ด้านพลังงานของประเทศที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานจึงไม่ทิ้งโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ๆ ในการตอบโจทย์การใช้พลังงานที่ทวีคูณมากขึ้นในอนาคต

 

GPSC-PTT

 

ปูพรมเพื่อบรรลุเป้าหมาย

โครงการวิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid) ได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้การลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นองค์กรแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เพื่อร่วมกันปูพรมเส้นทางของพลังงานจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ให้สำเร็จ เพื่ออุดช่องโหว่ในสิ่งที่พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถทำได้

 

“ไฟฟ้าเป็นพลังงานที่กักเก็บไม่ได้ หรือกักเก็บได้แต่ก็ยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ ขณะเดียวกันเราจะใช้ไฟได้ก็ต้องมีระบบสายส่งไปถึงบ้านเรือนเรา สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายว่าเราจะทำเรื่องนี้ได้อย่างไร ขณะที่โลกกำลังเคลื่อนไปหาพลังงานหมุนเวียน เพราะไม่มีประเด็นเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC ชวนตั้งคำถามต่อความท้าทายครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้น

 

GPSC-PTT

 

ปักหมุดประเทศแม่แบบ

เมื่อมองเห็นชัดเจนแล้วว่าตลาดแบตเตอรี่คือทางออกของธุรกิจพลังงานและกำลังเป็นที่ต้องการสูงในภาคธุรกิจ เพื่อต่อยอดไปสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ปตท. และ GPSC จึงจับมือกันรันวงการพลังงานไฟฟ้าโดยปักหมุดสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบด้วยกระบวนการผลิต Semi-Solid ในสหรัฐอเมริกา ฐานปฏิบัติการของ 24M Technologies ที่ GPSC เข้าไปร่วมทุน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการพัฒนาคุณภาพ ลดต้นทุน และทำให้การบริหารจัดการพลังงานภายในชุมชนหรือเมืองมีประสิทธิภาพ

 

Semi-Solid คำตอบของนวัตกรรม

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในระยะเวลา 2 ปี โรงงานต้นแบบดังกล่าวก็จะเริ่มผลิตพลังงานด้วยกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถผลิตแบตเตอรี่สูตร LFP เพื่อใช้ในที่พักอาศัย และแบตเตอรี่ Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide หรือ NMC สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า (EV) ได้ ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งนี้จะเป็นคำตอบของนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technologies ด้วย โดยมีจุดเด่นอยู่ที่เรื่องความปลอดภัย และสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ถึง 50% โดยที่คุณภาพไม่ลดลง แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำวัสดุบางอย่างกลับมาใช้ได้  

 

“ในอนาคตหากโรงงานต้นแบบสำเร็จแล้ว เชื่อว่ากลุ่ม ปตท. จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว แต่เป็นขนาดเล็ก เพื่อใช้ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับผลิตไฟฟ้าสูงก่อน” ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวด้วยความมุ่งมั่นถึงการนำพลังงานนั้นไปใช้จริง

 

GPSC-PTT

 

ภาพทั้งหมดนี้อาจจะยังอยู่ในระยะไกลอีก 2 ปี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแท้จริงแล้ว GPSC และ ปตท. ได้ร่วมกันทดลองนำร่องดำเนินการพัฒนา Smart Energy Community ไปเบื้องต้นแล้วในพื้นที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ทั้งติดตั้งโซลาร์รูฟและโซลาร์ลอยน้ำ มีการนำบล็อกเชนมาใช้ซื้อขายไฟฟ้าในแต่ละอาคาร และมีการใช้ AI ติดตามสภาพอากาศที่เหมาะสมในการผลิตและเลือกใช้แหล่งผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของกลุ่ม ปตท. ที่ไม่หยุดพัฒนานวัตกรรม แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแต่ละยุคมากมายแค่ไหน เพราะพลังงานคือจุดเริ่มต้นของทุกชีวิต และพลังงานไฟฟ้าก็เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงต่อไป

 

นี่คือภาพอนาคตที่ไม่ไกลเกินเอื้อม และกำลังจะมาเยือนเราจริงๆ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X