×

กบข. ลุยเพิ่มสัดส่วนลงทุนหุ้นไทย มองราคาถูก เน้นเลือกหุ้นรายตัวปัจจัยพื้นฐานดี-ปันผลสูง ใน SET50FF

25.02.2025
  • LOADING...
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการ กบข. เผยแผนเพิ่มการลงทุนในหุ้นไทย SET50FF

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) งานแถลงข่าว ‘กบข. เปิดผลการดำเนินงานปี 2567 และแนวทางลงทุนปี 2568’ ระบุว่า ในปี 2567 กบข. ได้มีการทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยลงทุนในระดับประมาณ 4% หลังจากเห็นว่าตลาดหุ้นไทยมีราคาปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าที่ถูกและมีความน่าสนใจ

 

พร้อมทั้งมีการปรับกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นไตรมาส 3/2567 ที่ผ่านมาจากเดิมที่ลงทุนบนดัชนี SET50 โดยปรับเปลี่ยนนโยบายมาลงทุนใน SET50FF (Fee Float) โดยพิจารณาเลือกลงทุนเป็นหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีมีโอกาสการเติบโต รวมทั้งมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่สูง

 

ทั้งนี้ส่งผลให้ในปี 2567 มีผลตอบแทนการลงทุนเฉพาะส่วนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย หากรวมผลแทนจากส่วนต่างกำไร (Capital Gain) กับเงินผลลัพธ์ ยังสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นบวกได้ และสามารถเอาชนะภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในปี 2567 ที่ติดลบได้

 

ทรงพลยังกล่าวต่อว่า ในช่วงต้นปี 2568 กบข. ได้ทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อเปรียบเทียบจากปี 2567 เนื่องจากตลาดหุ้นไทยที่ราคาปรับตัวลดลงมาต่อเนื่องนับเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานที่ดีและมีมูลค่าที่เหมาะสม

 

โดยประเมินว่า กลุ่มหุ้นหรือธุรกิจที่มีโอกาสเห็นการเติบโตได้แก่ กลุ่มโรงแรม รวมทั้งกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว, การขนส่งเดินทาง, ธุรกิจโรงพยาบาล, การบริโภคของประเทศ 

 

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการ กบข. ให้ข้อมูลในงานแถลงข่าว กบข. เปิดผลการดำเนินงานปี 2567 และแนวทางลงทุนปี 2568

 

“หุ้นที่ กบข. เลือกลงทุนเราต้องมีความเข้าใจในธุรกิจ และมีความเชื่อมั่นว่ามีโอกาสเติบโตได้ เพราะทุกตลาดหุ้นมีความเสี่ยงทั้งหมด เพียงเราต้องเลือกในหุ้นที่เรามีความเข้าใจ การลงทุนในหุ้นไทยในช่วงที่ราคาลงมาเยอะก็มีการ Rebalance พอร์ต ทยอยเพิ่มสัดส่วนเพิ่มขึ้นเพราะเป็นตลาดที่เรามีความเข้าใจ” ทรงพลกล่าว

 

สำหรับภาพรวมการลงทุนในปี 2568 ประเมินว่าจะเห็นความผันผวนมากกว่าปี 2567 จากผลกระทบของนโยบายการกีดกันทางการค้า, การตั้งกำแพงภาษี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนในปีนี้อย่างต่อเนื่อง

 

โดยปัจจุบันพอร์ตลงทุนของกบข. มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ สัดส่วนไม่เกิน 60% และในประเทศอีก 40% โดยมีการลงทุนทั้งในตลาดหุ้น, ตราสารหนี้ รวมทั้งสินทรัพย์ทางเลือก เช่น อสังหาริมทรัพย์, บริษัท บริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้น (Private Equity) ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นในตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Market) กับ เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ Emerging Market จะยังให้ความสำคัญลงทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเมินว่าจะยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดี

 

อีกทั้งภายในปีนี้จะเริ่มลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยหลังเกษียณ (Retirement Complex) ในต่างประเทศ เนื่องจากมีความสนใจในโครงการดังกล่าวเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนในประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพราะถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกบข.ที่มีการลงทุนโครงการอสังหาฯ ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนอาคารสำนักงาน และ โรงแรม

 

ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ปัจจุบันยังไม่ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มดังกล่าวเพราะยังไม่ความเข้าใจเพียงพอ

 

เป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนของ กบข.

 

โดยในปี 2568 จะพยายามสร้างผลตอบแทนให้เป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวชนะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง อยู่ที่ระดับ 0.9% บวกกับ 2% ซึ่งใน 2567 กบจ.สามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดังนี้

 

  • ส่วนของสมาชิก 4.12%
  • ผลตอบแทนแผนสมดุลตามอายุ สัดส่วนใหม่ 8.93% 
  • แผนทองคำ 24.67%
  • แผนหลัก 3.73% 

 

ผลตอบแทนการลงทุนของ กบข. ในปี 2567

 

โดย ณ สิ้นปี 2567 กบข. มีขนาดกองทุนใหญ่ขึ้น 1.06 แสนล้านบาท รวมมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ รวมเงินสำรอง ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี ภาพรวมนโยบายพอร์ตลงทุนของ กบข.ในปีนี้ และจัดทำ Strategic Asset Allocation (SAA) ฉบับใหม่ ที่จะกำหนดกรอบนโยบายการลงทุนระหว่างปี 2569-2571 ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ลงจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับนิยามของสินทรัพย์ของ กบข. ใหม่ จากเดิมที่กำหนดกลุ่มสินทรัพย์ออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ  Risky Assets กับ Safety Assets เปลี่ยนมาเป็น Growth Assets กับ Defensive Assets  โดยเห็นว่าปัจจุบันการลงทุนในตราสารหนี้ แม้เป็นการลงทุนกลุ่ม Investment Grade มีความเสี่ยงสูงเช่นกันจากประเด็นการผิดชำระหนี้ และยังเป็นตราสารที่ไม่มีหลักค้ำประกัน

 

ส่วน SAA ฉบับใหม่จะให้น้ำหนักกับปัจจัยสำคัญ ดังนี้ 

  1. ประเภทสินทรัพย์ลงทุน 
  2. การเติบโตประเทศของสินทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุน 
  3. ความเสี่ยง 
  4. อัตราแลกเปลี่ยน

 

ปัจจุบัน กบข.มีข้าราชการที่เป็นสมาชิกจำนวนประมาณ 1.2 ล้านรายซึ่งแต่ละรายจะมีรูปแบบการออมที่มีความแตกต่างกัน โดยในปี 2567 ที่ผ่านมาถือว่ามีความท้าทายในหลายด้านและเผชิญปัจจัยเสี่ยงในหลายๆ เรื่องทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมทั้งฮามาสกับอิสราเอลที่ยังคงยืดเยื้อ โดยในแต่ละช่วงเวลาที่มีสถานการณ์จะมีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังมีสถานการณ์สงครามการค้า (Trade War) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่าน โดยมีการเลือกตั้งในหลายประเทศซึ่งสหรัฐฯ มีโดนัลด์ ทรัมป์ มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่

 

“ในปี 2567 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีความผันผวนเกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งหลายความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นทำให้มีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งในศัพท์นักลงทุนเรียกว่าทำให้เกิดการลากไปกิน Stop Loss ได้แบบไม่ยาก บางคนซื้อสินทรัพย์ถือไว้จำนวนมากๆ เมื่อราคาลงมากๆ และรวดเร็ว ก็จำเป็นต้องขายขาดทุนออกมาเป็นโอกาสของผู้ลงทุนบางคนและก็เป็นความเสี่ยงของผู้ลงทุนบางคนด้วย” ทรงพล กล่าว

 

พร้อมทั้งคาดว่า สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ของ กบข. ภายในสิ้นปี 2569 จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.6 ล้านล้านบาท จากปัจจุบัน 1.4 ล้านล้านบาท สอดคล้องไปกับการออมที่เพิ่มขึ้นของสมาชิกที่เฉลี่ยต่อปีเติบโต 4-5%

 

อย่างไรก็ดี กบข. ได้ติดตามสถานการณ์การลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก อาทิ การเติบโตของหุ้นเทคโนโลยีจากกระแส AI First ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของธนาคารต่างๆ และแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ปรับลดลง ซึ่ง กบข. ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว หุ้นตลาดเกิดใหม่ ตราสารหนี้ และทองคำ 

 

คาดปีนี้ Fed ลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง

 

สำหรับปี 2568 กบข. ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวที่ 2.10% ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ด้านเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.4-2.8% จากแนวโน้มดังกล่าว กบข. มีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์กลุ่มเติบโต (Growth Assets) โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นตลาดพัฒนาแล้ว พร้อมกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้เพื่อลดความผันผวน 

 

กบข. ประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2568

 

ขณะเดียวกัน ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ แต่ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง และ กบข. ยังคงติดตามปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการคลังและภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด พร้อมปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่สมาชิก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising