การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ครั้งที่ 2 ของรัฐบาลภายการนำของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ และครั้งแรกของปี 2568 ที่ปักหมุดลงใต้ ที่จังหวัดสงขลา และได้ใช้โอกาสนี้ลงพื้นที่ตรวจราชการ รับฟังปัญหาของประชาชน จังหวัดพัทลุง-สงขลา
พร้อมทั้งได้มอบหมายรัฐมนตรีทุกกระทรวงกระจายตัวลงพื้นที่ตรวจราชการ รับฟังปัญหาเพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ด้วยเช่นกัน
นายกรัฐมนตรีติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
แวะเยี่ยมชมสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (สะพานเอกชัย)
พร้อมเยี่ยมชมวิถีชีวิตของควายปลักน้ำ
‘แพทองธาร’ ใช้เวลาในพื้นที่ภาคใต้ สำรวจปัญหาที่เป็นอุปสรรคของประชาชน ทั้งสิ้น 2 วัน เริ่มภารกิจตั้งแต่เช้าจวบถึงช่ลุ่มนเมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ภารกิจแรก นายกรัฐมนตรีเดินทางไปติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และแวะเยี่ยมชมสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (สะพานเอกชัย) เนื่องจากสะพานดังกล่าว เป็นสะพานที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี บิดาของนายกรัฐมนตรี เคยอนุมัติงบก่อสร้างในการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจร เมื่อปี 2546 ราว 700 ล้านบาท พร้อมเยี่ยมชมวิถีชีวิตของควายปลักน้ำ
จากนั้น ไปตรวจเยี่ยม บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู๊ด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลของไทยเพื่อฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในกระบวนการผลิตและส่งออกอาหารทะเลของไทย รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมประมง และอาหารทะเลไทยบนเวทีโลก
นายกรัฐมนตรีถูกขนาบข้างด้วย 2 รองนายกรัฐมนตรี
ขณะกำลังเดินชมเมืองเก่าสงขลา
จากนั้นเดินทางไปเมืองเก่าสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อรับฟังแนวทางการสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมืองน่าเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลที่ชุมชนเมืองเก่าสงขลา และพูดคุยประเด็นการส่งเสริมหรือเปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลา
นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า “สงขลาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน รวมถึงการเที่ยวแบบลักชัวรี ซึ่งที่ภูเก็ตรับเรือมากอยู่แล้ว หากจะแวะเวียนมาที่สงขลาก็จะเป็นการกระจาย เราพยายามให้ทุกพื้นที่ในประเทศของเรา ไม่จำเป็นจะต้องเมืองหลัก ให้เมืองรองมีโอกาสเป็นจังหวัดน่าเที่ยวของโลก”
วันต่อมา (18 กุมภาพันธ์) เวลา 10.10 น. แพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ครม. นอกสถานที่ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากการที่ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการและได้รับฟังปัญหาจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และขอสั่งการ ดังนี้
- ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เร่งหาแนวทางสนับสนุนการปลูกกล้วยสายพันธุ์ของพัทลุงและทุเรียนภูบรรทัด ทั้งในด้านส่งเสริมการเพาะปลูกให้แพร่หลาย รวมทั้งการหาตลาดรองรับผลผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าในชุมชนให้มากขึ้น
- พื้นที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง มีศักยภาพสูงทั้งด้านการท่องเที่ยวและการประมง ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยทางจังหวัดและภาคเอกชนมีข้อเสนอให้ขุดลอกทะเลน้อย กำจัดวัชพืชต่างๆ ฟื้นฟูนิเวศ คืนธรรมชาติ พร้อมฟื้นการประมงและส่งเสริมอาชีพให้กับท้องถิ่น โดยขอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 ขอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ศึกษาและกำหนดแนวทาง พร้อมทั้งจัดเตรียมงบประมาณที่จำเป็นสำหรับดำเนินการ
2.2 ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หามาตรการในการสนับสนุนและให้ความรู้ทางวิชาการอย่างถูกต้องสำหรับการทำประมงในพื้นที่จังหวัดสงขลา อาทิ การเลี้ยงปลาดุกนา ทั้งในส่วนของระบบการหมุนเวียนน้ำและพันธุ์ปลา เพื่อยกระดับให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น
2.3 ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้มากขึ้นด้วย
2.4 ขอให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เร่งหามาตรการในการเพิ่มแสงสว่างให้กับสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางและไม่กระทบต่อระบบนิเวศ
- การเยี่ยมชมกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการส่งออกอาหารทะเลไปต่างประเทศ โดยมีข้อเสนอสำคัญที่จะขอให้กรมประมงส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์กุ้งอย่างจริงจัง ฟื้นฟูความเข้มแข็ง
- เมืองจังหวัดสงขลามีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ (Cruise) ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ และขอให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ ร่วมกับท้องถิ่น พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยมอบหมายให้
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นเจ้าภาพในการเป็นศูนย์กลางการประสานหน่วยงานต่างๆ
นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ นำประชุม ครม.สัญจร จังหวัดสงขลา
เพื่อพิจารณาวาระต่างๆ
ไฟเขียวงบ 600 ล้าน 35 โครงการ พัฒนา 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการอนุมัติโครงการการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง) โดยเห็นชอบในหลักการของกลุ่มจังหวัด และจังหวัด จำนวน 23 โครงการ กรอบวงเงิน 300 ล้านบาท และโครงการข้อเสนอกลุ่มจังหวัด ของภาคเอกชน จำนวน 12 โครงการ กรอบวงเงิน 300 ล้านบาท รวมเป็น 600 ล้านบาท ตามที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเห็นสมควรให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยขอให้หน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าของโครงการเร่งดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการและประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการที่เป็นข้อเสนอกลุ่มจังหวัดของภาคเอกชนในส่วนที่เหลือจำนวน 21 โครงการเพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
ตัวอย่างโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนพื้นที่มรดกโลกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, โครงการพัฒนาพื้นที่น้ำตกกระเปาะเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองปรางหมู่ เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ นำประชุม ครม.สัญจร จังหวัดสงขลา
อนุมัติงบ 304.8 ล้าน ฟื้นฟูน้ำท่วมใหญ่
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการจังหวัดเพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดนที่เกิดเหตุเมื่อเดือนปลายปี 2567 ที่ผ่านมา โดยสนับสนุน 22 โครงการ กรอบวงเงินรวม 304.8 ล้านบาท โดยเฉลี่ยจังหวัดละประมาณ 100 ล้านบาท
ตัวอย่างโครงการ เช่น การซ่อมถนนจัดทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง โดยจังหวัดยะลาจัดทำคันกั้นน้ำริมแม่น้ำปัตตานี จำนวน 100 ล้านบาท จังหวัดนราธิวาส 14 โครงการ 100.32 ล้านบาท และจังหวัดปัตตานี 7 โครงการ 104.47 ล้านบาท
อนุมัติงบ 3.6 พันล้าน เยียวยาน้ำท่วมเพิ่ม
ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เรื่องการจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 (เพิ่มเติม) และขออนุมัติงบฯกลางประจำปี 2568 เพิ่มเติม จำนวน 3,653.72 ล้านบาท ตลอดจนอนุมัติพื้นที่ดำเนินการ (เพิ่มเติม) ในจังหวัดระนอง ซึ่งมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 405,969 ครัวเรือน
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ปัญหาอุทกภัย ที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา
แฟ้มภาพเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567
อนุมัติงบ 253 ล้าน เวนคืนที่ดินสร้างคลอง
ส่วนโครงการอื่นๆ ที่ประชุมก็มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลพะตงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พ.ศ. …. เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำคลองตง อันเป็นประโยชน์แก่การชลประทาน สำหรับพื้นที่การเกษตร การอุปโภคและบริโภค การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ตลอดจนเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน มีกำหนดใช้บังคับ 3 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 160 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้วจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่เทศบาลตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และสามารถเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มเส้นทางการคมนาคมเข้าพื้นที่เกษตรกรรมเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ให้ดีขึ้น และส่งเสริมกิจกรรมและประเพณีท้องถิ่น
ทั้งนี้ เขตที่ดินที่จะเวนคืน มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ประกอบด้วย
- ค่าซื้อที่ดินจำนวน 83 แปลง เนื้อที่ประมาณ 91-1-21.5 ไร่ เป็นเงินประมาณ 150.6 ล้านบาท
- ค่าทดแทนต้นไม้หรือต้นผลไม้ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นเป็นเงินประมาณ 93 ล้านบาท
- ค่าทดแทนเพิ่มขึ้น 2% เป็นเงินประมาณ 4.87 ล้านบาท
- ค่าที่งอกริมตลิ่งเนื้อที่ประมาณ 6-0-22.8 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 4.72 ล้านบาท
ทั้งนี้ ค่าทดแทนทรัพย์สินทั้งโครงการคิดเป็นเงินประมาณ 253 ล้านบาท รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด โดยกรมการปกครองได้ตรวจแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้แล้ว
ไฟเขียวงบ 402 ล้าน อนุรักษ์โลมาอิรวดี
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ในระยะ 5 ปีแรก วงเงิน 402,818 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยให้ใช้จ่ายจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอ มอบหมายให้หน่วยงานผู้ดำเนินงานภายใต้แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมง
เสนอขอรับจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และ/หรือแหล่งเงินอื่นเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับแผนงานที่รับผิดชอบต่อไป
สำหรับโลมาอิรวดีนั้น พบได้ทั้งในทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ปัจจุบันประชากรโลมาอิรวดีในน่านน้ำไทยมีประมาณ 450-500 ตัว โดยโลมาอิรวดีมีความสามารถในการปรับตัวให้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดได้ เช่น บริเวณทะเลสาบสงขลาตอนบน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 5 แห่งของโลกที่มีโลมาอิรวดีอาศัยในแหล่งน้ำจืด
นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ นำประชุม ครม.สัญจร จังหวัดสงขลา
อนุมัติงบ 32 ล้าน ส่งศึกษาต่อ 12 มหาวิทยาลัย
ท้ายที่สุด ที่ประชุมได้อนุมัติการดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (โครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย) ระยะที่ 11 (พ.ศ. 2567-2571) ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 32.6 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการศึกษาให้เยาวชนที่ได้รับความเสียหาย หรือที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ รวมทั้งสามารถเป็นผู้ประสานเชื่อมโยงความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างภาครัฐและประชาชน
การจัดสรรเงินทุนอุดหนุนการศึกษา และการสงวนอัตราการเข้ารับราชการที่กล่าวมาข้างต้นยังคงดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ ระยะที่ 10 รวมทั้งยังให้คงจำนวนมหาวิทยาลัยที่จะรับนักศึกษาตามโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ ไว้จำนวน 12 แห่ง ดังนี้
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยศิลปากร
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สำหรับเงินอุดหนุนทุนอุดหนุนการศึกษาในปี 2567-2568 กระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรรเงินทุนดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ครั้งแรกของปี 2568 นี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณไปทั้งสิ้น 5,245.52 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีร่วมสวมเสื้อผ้าบาติกลายสมิหลา
ร่วมผลักดัน Soft Power ท้องถิ่น ก่อนนำประชุม ครม.สัญจร