วันนี้ (31 ตุลาคม) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ครั้งที่ 3/2566
เศรษฐากล่าวว่า การประชุมในวันนี้นับเป็นการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ส. เป็นกลไกทางนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศ เพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด และประกาศเป็นนโยบายที่จะลดอย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 1 ปีให้ได้ ผ่านแนวทาง 12 ข้อ ดังนี้
- ลดความเดือดร้อนของประชาชนคือเป้าหมายสูงสุด
- การแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านจิตเวชอย่างจริงจัง
- การสร้างความเข้าใจต่อปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในระยะเร่งด่วน 1 ปี กำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการทำงานตั้งแต่เริ่มแรกก่อนการลงมือปฏิบัติ
- ให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณด้านยาเสพติดประจำปี ปรับและจัดสรรงบประมาณให้กับปฏิบัติการเร่งด่วนนี้
- ขอให้แต่ละจังหวัดดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง วัดผลได้เป็นรูปธรรม
- การขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของชุมชน ขอให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางในการขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน
- ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้มากขึ้น ยึดผู้เสพเป็นผู้ป่วย ผู้ค้าต้องถูกลงโทษและยึดทรัพย์
- วางระบบรายงาน ติดตามเชิงรุก สามารถมองเห็นความคืบหน้า การขับเคลื่อนงาน ปัญหาอุปสรรค และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เป็นเรื่องสำคัญของการบริหารจัดการแนวใหม่ มีศูนย์บัญชาการ (War Room) ในระดับต่างๆ
- การสรุปองค์ความรู้ใหม่ๆ
- การจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการออกอนุบัญญัติที่ยังคงค้างอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
- ความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ขอให้เร่งรัดดำเนินงานและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง
- การสนับสนุนค่าตอบแทนเงินสินบนรางวัลคดียาเสพติด ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดประชุมทุกเดือน พิจารณาค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาร่วมกันถึง (ร่าง) แผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะเวลา 1 ปีตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล การกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด การลดผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด การลดผลกระทบจากผู้ป่วยจิตเวช การขยายผลหัวโทนโมเดล ซึ่งประสบความสำเร็จจนได้รับการจัดให้เป็นโมเดลต้นแบบของการแก้ปัญหาผู้ป่วยในชุมชนจิตเวชและในชุมชนก่อเหตุรุนแรง และ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดจำนวน 2 ฉบับ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยว่า ปัญหานี้ต้องการให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด โดยขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน และหากติดขัดมีปัญหาในส่วนไหนขอให้ดำเนินการแก้ไข และห่วงใยผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการดูแลและคืนสู่สังคมอย่างปลอดภัยแล้วว่าต้องหางาน หาอาชีพให้ผู้นั้น เพื่อกลับเข้าสู่สังคม ครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ ไม่กลับไปหาสิ่งเสพติดอีก
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (30 ตุลาคม) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติภายใต้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลักเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยการครอบครองยาบ้าน้อยกว่า 10 เม็ดให้ถือเป็นผู้เสพที่ต้องได้รับการบำบัดในฐานะผู้ป่วย แต่ถือครองมากกว่า 10 เม็ดให้ถือเป็นผู้ค้า พร้อมเข้ารับการบำบัดและดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ขณะที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดปริมาณสารบริสุทธิ์ในเม็ดยา ซึ่งประกอบไปด้วย 4 หน่วยงาน คือ ปกครอง, ตำรวจ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงสาธารณสุข มีการหารือและสรุปความเห็น ซึ่งตามหลักการจะดูตามพฤติกรรมของผู้ขายและผู้เสพ และปริมาณสารเสพติดในเม็ดยา
สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ตามพฤติกรรมไม่ใช่ว่าถ้าพบเกิน 10 เม็ดจึงจะถือว่ามีความผิด การดำเนินคดีตามกฎหมายจะดูที่พฤติกรรม จะ 1 เม็ด หรือ 2 เม็ดก็เป็นผู้ขายได้ แต่ที่เรากำหนดตรงนี้เอาไว้ก็เพื่อให้โอกาสกับคนที่เป็นผู้เสพจริงๆ ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ไม่เป็นโทษจำคุก แต่ถ้าพบ 2 เม็ด หรือ 3 เม็ด แล้วมีพฤติกรรมเป็นผู้จำหน่ายก็ต้องมีโทษจำคุก
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แต่ละรัฐมนตรีก็มีนโยบายที่แตกต่างกันไป ตนหมดหน้าที่ตรงนั้นแล้ว ส่วนในฐานะมหาดไทยที่ต้องดูแลเรื่องนี้ก็ต้องคอยกำกับควบคุม ปราบปรามเรื่องของการขนยาบ้ายาเสพติด เรามีรายงานข่าวและดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง
ส่วนจำนวนเม็ดจะเป็นช่องว่างหรือเป็นข้ออ้างให้ผู้ค้ายาเสพติดหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ตอนยุคตน ตนบอกว่า 2 เม็ด นั่นคือสมัยตน แต่ตอนนี้ตนเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ เพราะไม่ได้กำกับดูแลสายงานกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ตนมากำกับสายงานมหาดไทย จึงต้องไปเน้นเรื่องของการปราบปราม สกัดกั้นวงจรยาเสพติด
ขณะที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันตามประมวลกฎหมาย ยาเสพติดยังไม่มีกำหนดเกณฑ์การครอบครองยาเสพติด จำนวนเท่าไรจะเข้าข่ายการเป็นผู้ค้า ซึ่งในรัฐบาลที่แล้วเคยมีการเสนอให้กำหนดเกณฑ์ครอบครองเกิน 15 เม็ดเป็นผู้ค้า แต่ไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด ส่วนในครั้งนี้เราใช้หลักวิชาการ โดยมีแพทย์มาร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปริมาณสารเสพติดเมื่อเข้าสู่ร่างกายจำนวนเท่าไรจึงจะส่งผลทางจิตเวช โดยเห็นว่าผู้เสพยาไม่เกิน 10 เม็ดเข้าข่ายผู้ป่วย