×

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชี้ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เสมือนการชิงโชค แนะรัฐใช้แนวทาง ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ ช่วยเหลือคนเดือดร้อน

โดย THE STANDARD TEAM
17.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (17 เมษายน) กลุ่มตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ประกอบด้วย สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค, นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค, เนืองนิช ชิดนอก กรรมการบริหารเครือข่ายสลัม 4 ภาค และ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ โครงการรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ออกแถลงการณ์พร้อมสะท้อนปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านงานเสวนา ‘เสียงจากผู้ไม่มีกิน’ เพื่อมุ่งหวังให้รัฐบาลแก้วิกฤตโควิด-19 ด้วยสวัสดิการถ้วนหน้าที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่มีเงื่อนไข

 

โดยในแถลงการณ์ระบุว่า จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผนวกรวมกับวิกฤตการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในช่วงก่อนหน้า พบว่าคนไทยอยู่ใต้เส้นความยากจน 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านคน หนี้สินครัวเรือน 13.23 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.1% ของ GDP เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 จึงเป็นสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤตอันเผยให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน 

 

ในขณะที่คนระดับบนสามารถกักตัวรักษาระยะทางสังคมได้อย่างไม่เป็นทุกข์ร้อน แต่คนชั้นล่างซึ่งเป็นคนหาเช้ากินค่ำ แรงงานนอกระบบ 21.21 ล้านคน พนักงานบริการในร้านค้าและตลาด 7.75 ล้านคน แรงงานภาคเกษตร 10.58 ล้านคน แรงงานในระบบประกันสังคม 16.45 ล้านคน ล้วนได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่สูญเสียช่องทางหารายได้ ขาดรายได้จากการหยุดงาน การถูกเลิกจ้าง จากข้อมูลการสำรวจ ‘คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19’ คนจนในเขตเมืองมีรายได้ลดลงโดยเฉลี่ย 70.84% โดยในจำนวนนี้มีรายได้ลดลงเกือบทั้งหมด 60.24% มีรายได้ลดลงราวครึ่งหนึ่ง 31.21% จนอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ ‘คนไม่มีกินกำลังจะอดตาย’

 

โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาคเห็นว่า มาตรการเยียวยาความเดือดร้อนวิกฤตการณ์โควิด-19 มาตรการเราไม่ทิ้งกันนั้นเป็นเสมือนการลงทะเบียนชิงโชค วาทกรรมคำโฆษณาสวยหรู โดยใช้แนวทาง ‘การสงเคราะห์’ ได้ทอดทิ้งและกีดกันผู้คนจำนวนมาก เกิดข้อผิดพลาดจากระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยขาดการตระหนักว่าฐานข้อมูลไม่ทันสมัยและมีต้นทุนของรัฐในการคัดกรอง ทำให้คนหาเช้ากินค่ำ ฟรีแลนซ์ แม่ค้าพ่อค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ พนักงานบริการ เกษตรกร คนพิการ เข้าไม่ถึงสิทธิการช่วยเหลือ 

 

ดังนั้นแล้วรัฐจึงต้องปรับเปลี่ยนมาใช้แนวทาง ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ เพื่อช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนอย่างรวดเร็ว ดังเช่นหลายประเทศได้ดำเนินการในแนวทางนี้ อาทิ สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เครือข่ายสลัม 4 ภาค มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

 

1. มาตรการเยียวยาความเดือดร้อนพื้นฐาน 5,000 บาท ให้ใช้ระบบถ้วนหน้า สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้มาตรการครอบคลุมคนทุกกลุ่ม สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถ้วนหน้าทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบ ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา จำนวนประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งจะใช้เงินราว 250,000 ล้านบาท หรือการใช้มาตรการจ่ายเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า 

 

โดยใช้เส้นความยากจน ประมาณ 3,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท เป็นเงินกึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ตั้งไว้ 600,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยและมีสวัสดิการรองรับ เช่น ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจชั้นสูง ส.ส., ส.ว. ให้งดรับสิทธิ์นี้ได้ ส่วนผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้แก่ นักเรียน ควรสนับสนุนค่าอุปกรณ์การศึกษาจากงบประมาณรายหัว เพื่อใช้ในการเรียนที่บ้านในช่วงการเลื่อนเปิดเทอม กรณีนิสิตนักศึกษา ควรลดค่าหน่วยกิตการศึกษา ค่าหอพักมหาวิทยาลัย

 

2. ลดค่าบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 50% อย่างน้อย 3 เดือน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเช่าบ้าน ค่าทางด่วน ค่าโดยสาร ค่าโทรศัพท์ รวมทั้งการงดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าจำเป็นพื้นฐานอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนกรณีชุมชนที่ใช้มิเตอร์รวมให้แจ้งที่สำนักงานไฟฟ้า หรือสำนักงานประปาในพื้นที่ เพื่อขอรับส่วนลดดังกล่าว

 

3. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินงดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอย่างแท้จริงอย่างน้อย 3 เดือน ยุติการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อและที่อยู่อาศัย 12 เดือน ลดดอกเบี้ยหนี้สินเกษตรกร หนี้การศึกษา กยศ. หนี้สินเชื่อผู้ประกอบการ SME

 

4. ผ่อนปรนให้มีการเปิดพื้นที่ค้าขายหรือเปิดตลาด จะทำให้คนเดือดร้อนสามารถประกอบอาชีพและมีความปลอดภัย โดยเข้มงวดในการจัดการจัดพื้นที่ระยะห่างเพื่อดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาด เช่น การสวมหน้ากากอนามัย มีเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างทั่วถึง ฯลฯ ทั้งนี้รัฐควรออกมาตรการสนับสนุนในการเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนด้วย

 

5. ให้รัฐบาลออกประกาศห้ามเจ้าของที่ดิน หน่วยงานรัฐ ไล่รื้อประชาชนออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย กรณีที่ดินหน่วยงานรัฐขอให้ยุติการเก็บค่าเช่าที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ยุติการดำเนินคดีที่ดินและที่อยู่อาศัย ทั้งนี้เคยเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นแล้ว จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยปิดประกาศไล่รื้อชุมชนแออัดริมทางรถไฟในจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งที่อยู่ในระหว่างการเจรจาและมีข้อตกลงร่วมกับรัฐบาล

 

6. การออกมาตรการดูแลและเยียวยางบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ในส่วน พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท มีงบประมาณสำหรับฟื้นฟูและเยียวยา 400,000 ล้านบาท ภาคประชาชนควรมีส่วนร่วม เพื่อให้การดำเนินงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยใช้กลไกผ่านทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นกลไกที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนทั้งคนจนเมือง และคนจนชนบท และมีหลักประกันการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้รับความเดือดร้อนได้โดยตรง

 

7. รัฐควรพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมให้เป็นระบบถ้วนหน้า เพียงพอต่อการดำรงชีพโดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน เพื่อแก้ไขปัญหาครัวเรือนประสบภาวะฝืดเคือง การเพิ่มเงินในส่วนนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของครัวเรือนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่

  • เงินสนับสนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี 3.53 ล้านคน จำนวน 600 บาท 
  • เบี้ยคนพิการ 2.02 ล้านคน จำนวน 800 บาท 
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน จำนวน 600-1,000 บาท 
  • สร้างระบบประกันสังคมถ้วนหน้า โดยจูงใจแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยจ่ายสมทบให้เป็นเวลา 3 เดือน

 

สุดท้ายเครือข่ายสลัม 4 ภาค เชื่อว่า การดำเนินนโยบายตามแนวทาง ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ จะเป็นมาตรการที่ยั่งยืนในการสร้างหลักประกันให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤตนี้ และเอื้อให้ประชาชนทุกชนชั้นที่มีความสามารถและความสร้างสรรค์ มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง เครือข่ายสลัม 4 ภาคจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนมาร่วมกันสู้เพื่อผ่านวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ 

 

ทั้งนี้เครือข่ายสลัม 4 ภาค และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ขอขอบพระคุณทุกท่านทั้งบุคคล และองค์กร ที่มีส่วนร่วมในการบริจาคทั้งเงินและสิ่งของให้กับผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนแออัดและคนไร้บ้าน 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X