วันนี้ (11 เมษายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2565 ซึ่งสถานการณ์คล้ายคลึงกับเมื่อปี 2554 จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังมาถึงอาจซ้ำรอยมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ในเรื่องนี้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานว่า การคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงน้ำหลากยังต่ำกว่าค่าปกติ และแหล่งน้ำยังสามารถเก็บน้ำได้อีกจำนวนมาก ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนของรัฐบาล จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยปี 2554 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ กอนช. ได้ติดตามสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง พบว่าอากาศค่อนข้างแปรปรวนตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 มีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติ 107% เช่นเดียวกับปริมาณฝนในช่วงเดือนเมษายนและมิถุนายน 2565 ที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปริมาณฝนจะตกมากกว่าค่าปกติ สำหรับเดือนพฤษภาคม 2565 และช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 คาดการณ์ปริมาณฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และน้อยกว่าปริมาณฝนที่ตกในปี 2554
สำหรับปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วงต้นเดือนเมษายน 2565 มีปริมาณ 58,525 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 62% ของปริมาณการกักเก็บ สามารถรองรับน้ำหลากได้อีกถึง 28,000 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะในลุ่มน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติได้เตรียมการขุดลอกเพื่อรองรับน้ำหลาก อีกทั้งแหล่งน้ำที่มีการพัฒนาเพิ่มเติมในช่วงปี 2563-2564 ที่ได้รับการสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 26,000 แห่ง ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเก็บกักน้ำฝนชะลอน้ำหลากได้เช่นกัน ดังนั้นหากพิจารณาจากปริมาณฝนที่จะตกและขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำของแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว สถานการณ์น้ำในปีนี้จะไม่ซ้ำรอยหรือเกิดวิกฤตเหมือนปี 2554
“นายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บูรณาการและติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้เร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงานให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนปี 2565 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าสถานการณ์น้ำปีนี้จะไม่เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน” รัชดากล่าวย้ำ