×

อดีต รมว.คลัง ‘ธีระชัย’ แฉรัฐบาลสุ่มออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ-ประเมินผลงาน คสช. เป็น 3 ปีที่น่าเสียดาย

15.11.2017
  • LOADING...

     ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หรือกฎหมายการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (ซูเปอร์โฮลดิ้ง) ว่า ขณะนี้มีความกังวลว่าความพยายามปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจะนำไปสู่การเปิดช่องให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ

 

 

     โดยขณะนี้รัฐบาลมีการยกร่างและเตรียมเสนอร่างกฎหมายให้สภานิติบัญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 2 ฉบับ คือร่างกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ และร่างกฎหมายเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ได้เปลี่ยนนิยามของคำว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ จากที่เคยครอบคลุมบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจถึง 4 ชั้น คือหากบริษัทแม่ซึ่งรัฐบาลถือหุ้นเกิน 50% ต้องการตั้งบริษัทชั้นลูก ชั้นหลาน และชั้นเหลน ต้องกำหนดให้บริษัทชั้นที่เหนือกว่าถือหุ้นเกิน 50%

 

 

     แต่ร่างกฎหมายของรัฐบาล 2 ฉบับนี้ เสนอให้แก้นิยามเหลือแค่ 2 ชั้น คือครอบคลุมแค่บริษัทแม่กับบริษัทลูก สิ่งที่น่ากังวลคือหากมีการจัดตั้งซูเปอร์โฮลดิ้ง ซึ่งกระทรวงการคลังต้องโอนหุ้นที่ถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจจำนวน 11 แห่ง ให้อยู่ในการดูแลของบอร์ดซูเปอร์โฮลดิ้งทั้งหมดนั้น เท่ากับว่าซูเปอร์โฮลดิ้งจะกลายเป็นบริษัทแม่ของรัฐวิสาหกิจ ทำให้บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันจะหลุดออกจากความเป็นรัฐวิสาหกิจโดยทันที

     “ถ้าเราเอากฎหมายทั้ง 3 ฉบับมาดูรวมกัน มันแยบยล เพราะเมื่อมีโฮลดิ้ง บรรษัทฯ จึงเป็นบริษัทแม่ ปตท. ก็จะเป็นบริษัทลูก แต่บริษัทลูกของ ปตท. หรือบริษัทลูกทั้งหลายของรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายนี้จะหลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจไปเลยทันที” อดีต รมว.คลัง กล่าว

     ธีรชัย กล่าวต่อว่า กระบวนการนี้ทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นได้ง่าย หลุดออกไปจากการตรวจสอบโดยรัฐสภา และหลุดกติกาตามกฎหมายงบประมาณ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง

 

 

     เป็นการฉกฉวยโอกาส ลัดขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ โดยตนเตรียมทำหนังสือไปที่รัฐสภา และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ยกเลิกร่างกฎหมายเหล่านี้ และกลับมายกร่างใหม่โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม

     นอกจากนี้ ธีระชัยยังประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจ 3 ปีของรัฐบาล คสช. ว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีความพยายามช่วยเหลือรากหญ้า แต่การช่วยเหลือเน้นการช่วยเฉพาะหน้า ค่าใช้จ่ายประจำวัน เน้นกระตุ้นการบริโภคและตัวเลขจีดีพี แต่ไม่ได้ฝากอะไรที่ยั่งยืนให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว “ผมคิดว่าเป็น 3 ปีที่น่าเสียดาย” อดีตรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising