วันนี้ (30 เมษายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชนในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้
ซึ่งมักจะพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในฤดูฝน ส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค เปิดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (A H1N1, A H3N2, B Victoria) จำนวน 2.9 ล้านโดส สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสิทธิบัตรทอง ฟรี เริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนหมด
ขั้นตอนการรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ประชาชนสามารถติดต่อที่หน่วยบริการ สถานพยาบาล หรือหน่วยบริการในระบบ สปสช. ที่มีสิทธิ ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้ที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง ในส่วนกระเป๋าสุขภาพ
ส่วนผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครที่ไม่ได้จองสิทธิผ่านแอปเป๋าตัง สามารถติดต่อได้ที่หน่วยบริการในระบบ สปสช. ได้ทุกแห่ง ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ ติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330
สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย
- หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการฉีดฟรีตลอดทั้งปี)
- เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปีทุกคน
- ผู้มีโรคเรื้อรังดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
- ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
- โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
- โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
รัชดากล่าวต่ออีกว่า โรคไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง สามารถฉีดได้ทุกเพศทุกวัย ในเด็กสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ในหญิงตั้งครรภ์ควรฉีดเพื่อป้องกันลูกน้อยที่เพิ่งคลอดยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะฉีดวัคซีน หากพบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง และสงสัยว่ามีอาการไข้หวัดใหญ่ โดยมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก ให้รีบมาพบแพทย์เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ