วันนี้ (23 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำ ประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แถลงข่าว สืบเนื่องจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณายกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ในประเด็นตามรายงานของคณะกรรมการฯ
โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณา และหากมีร่าง พ.ร.บ. ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันของ สส. ที่อยู่ระหว่างการบรรจุวาระการประชุม หรือได้บรรจุวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ให้นำร่าง พ.ร.บ. ของ สส. ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ขณะนี้ สปน. ได้ดำเนินการจัดประชุมหารือกับพรรคการเมืองที่เสนอบรรจุวาระร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภา กกต. และสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม จากนั้นได้ยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมาแล้วนำไปเสนอรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 3-18 พฤษภาคม รวมครบ 15 วันแล้ว ซึ่งประชาชนทั่วไปที่เข้ามาส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนการดำเนินการแก้ไข
ขณะที่สำนักงานกฤษฎีกามีความเห็นว่า ไม่ควรกำหนดการออกเสียงประชามติส่วนที่เพื่อเป็นการให้คำปรึกษาแก่ ครม. แต่รัฐบาลไม่ผูกพันผลของการออกเสียงประชามติ ว่าอาจเป็นการสิ้นเปลือง ส่วนความเห็นของ กกต. ที่มีความเห็นแย้ง ในกรณีให้รวมการออกเสียงประชามติกับการเลือกตั้งอื่น และการจัดซื้อเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาแพง แต่ในอนาคตจะต้องปรับปรุงเรื่องนี้ ซึ่งก็ได้รับฟังไว้เรียบร้อยแล้ว
จากนั้น สปน. ได้ปรับปรุงร่างตามผลการรับฟังความเห็นและปรับปรุงตามความเห็นของกฤษฎีกาเสร็จเรียบร้อย พร้อมจัดเตรียมเอกสารอื่นๆ ตามกรอบ และขั้นตอนการออกกฎหมายเรียบร้อยแล้ว เช่นกันกับ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบในภารกิจนี้ก็พร้อมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ตามขั้นตอน เพื่อให้ทันเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
นิกรกล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของรัฐบาล นั้นได้ดำเนินการตามกรอบและขั้นตอนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว รอเสนอเข้าสู่ขบวนการพิจารณาของ ครม. สัปดาห์หน้า และเชื่อว่าจะเสนอทันเข้าร่วมในการพิจารณาของสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 18 มิถุนายนนี้
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของรัฐบาล ดังนี้
- กำหนดให้หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่กรณี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียงอาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง
- กำหนดให้การออกเสียงกระทำโดยใช้บัตรออกเสียง หรือออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงหนึ่งหรือหลายเขตออกเสียง
- กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง และต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
- กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ
- กำหนดให้การออกเสียงจะใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงก็ได้
- กำหนดหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียง หากพื้นที่ใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระในวันเดียวกับการออกเสียง ให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งของการเลือกตั้งนั้น เป็นหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงในพื้นที่ดังกล่าว
ส่วนกรณีคำถามแรกในการทำประชามติที่ระบุว่า ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเว้นหมวด 1 และหมวด 2 นั้น นิกรกล่าวว่า คำถามดังกล่าวเป็นมติเห็นชอบไปแล้ว และเมื่อทำกฎหมายประชามติเสร็จ ก็คาดว่าจะเป็นวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาพิจารณา หลังจากนั้นจะมีมติ ครม. เชิญ กกต. และสำนักงบประมาณ มากำหนดวันออกเสียงประชามติ
แต่ข้อกังวลว่าคนอาจออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธินั้น หากมีการรณรงค์ให้ดี ทั้งตนเองและภูมิธรรมเชื่อว่าจะมีคนมาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ควรระบุให้เป็นการผูกมัดในกฎหมาย เพราะจะดูเป็นการบังคับ และหากมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ อาจไปรณรงค์ให้คนไม่ออกมาใช้สิทธิได้
ส่วนข้อกังวลว่า หากมีการล็อกไม่ให้แก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 จะทำให้ประชาชนสับสนว่าจะตอบอย่างไรนั้น นิกรระบุว่า ถึงจุดนั้นแล้วค่อยแถลงอีกที และจากการรับฟังความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ของนิด้าโพลพบว่า เห็นด้วยที่จะให้ยกเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสองไว้ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ก็สามารถแก้ได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องไปทำประชามติโดยเฉพาะตามมาตรา 256 ซึ่งเบื้องต้นเราเห็นว่าควรทำประชามติเพื่อแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป
“ไม่ใช่ว่าทั้งชาติจะแก้ไม่ได้เลย ถ้าเขามีเหตุผลพอก็ทำประชามติกับประชาชนอีกครั้งเป็นการเฉพาะได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบ แต่ไม่ให้เอามารวมในการรื้อทำใหม่ทั้งฉบับ เดี๋ยวมีปัญหาขึ้นมาการทำประชามติอาจไม่ผ่าน และเกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นมา ดังนั้น การเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสองเอาไว้อาจมีปัญหาบ้าง แต่การไม่เว้นมีปัญหามากกว่าแน่นอน”
นิกรยังเชื่อว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 45 วัน เพราะความเห็นแย้งของทุกฝ่ายได้พูดคุยและรวมหลักการกันแล้ว จึงไม่น่ามีประเด็นขัดแย้งใดๆ ในการประชุม และคาดว่าในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจะพร้อมนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาชุดใหม่ จะมีก็เพียงให้ กกต. ออกประกาศกฎหมายที่นำมาใช้ประกอบ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งหารือกันแล้วและจะทำคู่ขนานกันไป