×

รัฐขอ ‘ซื้อหนี้เสีย’ จากธนาคารในราคา 1% ของมูลหนี้ เป็นไปได้หรือไม่? ใครได้หรือเสียประโยชน์

01.04.2025
  • LOADING...
รัฐบาลประกาศนโยบายซื้อหนี้เสีย NPL ราคา 1% ช่วยลูกหนี้ไทยกว่า 3.5 ล้านราย

รายละเอียดของมาตรการ ‘ซื้อหนี้’ ที่รัฐบาลผลักดัน เริ่มเปิดเผยออกมามากขึ้นเรื่อยๆ โดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการนี้จะให้บริหารสินทรัพย์ (AMC) ซึ่งอาจจะมีการตั้งใหม่หรือที่มีอยู่แล้ว เข้าไปซื้อหนี้เสีย (NPL) มาจากสถาบันการเงิน

 

โครงการนี้ มุ่งเป้าไปที่หนี้เสียที่ต่ำกว่า 1 แสนบาท สะท้อนว่าเป้าหมายสส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีการค้างชำระเกิน 1 ปีเป็นต้นไป พร้อมตั้งเป้าว่า จะขอซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินมาในราคา 1% เท่านั้น เนื่องจากมองว่า สถาบันการเงินมีการตั้งสำรองไปครบถ้วนแล้ว

 

เบื้องต้นประเมินว่า กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ครอบคลุมมูลหนี้อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของมูลค่า NPL ทั้งระบบ

 

สำหรับแรงจูงใจในการชักชวนลูกหนี้ NPL ที่เข้าร่วมโครงการได้แก่ เปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถผ่อนจ่ายหนี้ได้ในราคาใกล้เคียงต้นทุน (ที่ AMC ซื้อมา) บวกกับค่าบริหารจัดการ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอาจจะออกกลไกให้ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ได้ ในช่วงที่ยังติดประวัติเครดิตบูโรอยู่ด้วย

 

รู้จักกลุ่มเป้าหมายโครงการ ‘ซื้อหนี้’

 

โดยตามข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ณ เดือนมกราคม 2568 แสดงให้เห็นว่า หนี้เสีย (Non-performing Loan: NPL) คือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันอยู่ที่ 1,225,374,340,088 ล้านบาท (1.2 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันจากปีก่อน (YoY) 15.5% จำนวนนี้คิดเป็นรายลูกหนี้ 5.4 ล้านราย 9.5 ล้านบัญชี

 

โดยจำนวนนี้เป็นหนี้เสียเพราะโควิด หรือเป็น NPL รหัส 21 อยู่จำนวน 2 แสนล้านบาท 2.2 ล้านราย 2.9 ล้านบัญชี โดยลูกหนี้ NPL รหัส 21 นี้เป็นลูกหนี้ที่มีการชำระหนี้ดีมาอย่างน้อย 1 ปีก่อนการระบาดของโควิด

 

โดยจากจำนวนลูกหนี้ NPL ทั้งหมด 5.4 ล้านรายในเครดิตบูโร พบว่า มีผู้ที่มีภาระหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาทถึง 3.5 ล้านราย (คิดเป็น 65% ของจำนวนลูกหนี้ NPL ทั้งหมด) รวมยอดหนี้อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท (คิดเป็น 10% ของมูลหนี้ NPL ทั้งหมด)

 

โดยกลุ่มลูกหนี้ที่มีภาระหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาทนี้ ส่วนใหญ่จะมีประเภทหนี้เป็นหนี้ส่วนบุคคล เช่าซื้อ บัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ ตามลำดับ

 

 

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ยังกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH โดยชี้ให้ว่า ปัจจุบัน จำนวนคนไทยที่มีหนี้เสีย (NPL) หรือมีบัญชีใดบัญชีหนึ่งที่ผิดนัดชำระเกิน 90 วัน สูงถึง 5.4 ล้านคน จากจำนวนกำลังแรงงานทั้งหมด 40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 13.5% ของกำลังแรงงานทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาหนี้เสียในประเทศไทยยังอยู่ในระดับอันตรายและฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

“เราลองคิดภาพว่าวันนี้มีคนอยู่ 5.4 ล้านคนที่ไม่สามารถไปยื่นขอกู้ที่ไหนได้ คนกลุ่มนี้ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ ไม่มีแรงใจ ต้องทำงานหลบๆ ซ่อนๆ ได้ประโยชน์อะไรที่จะทิ้งเขาไว้ตรงนั้น” สุรพลกล่าว

 

‘ซื้อหนี้’ ที่ราคา 1% สถาบันการเงินจะยอมขายให้หรือไม่?

 

ธนเดช รังษีธนานนท์ Director of Research บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถาบันการเงินอาจจะยอมขายหนี้เสียที่ราคา 1% ได้ในกรณีที่เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น หนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล ขณะที่หนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่นรถยนต์และบ้าน สถาบันการเงินไม่น่าจะยอมขายให้ในราคาดังกล่าว

 

นอกจากนี้การจะขายในราคา 1% ได้น่าจะเป็นไปได้ในกรณีที่ค้างชำระมานานมาก จนไม่สามารถตามตัวได้แล้ว หรือมี อัตราที่ลูกหนี้จะกลับมาจ่ายหนี้ได้ (Recovery Rate) ต่ำมาก แต่ในกรณีหนี้ที่เพิ่งเป็น NPL ได้ไม่นาน ราคาน่าจะต้องสูงกว่า 1% เนื่องจากหนี้ที่เป็น NPL ได้ไม่น่า อาจมีสาเหตุมาจากลูกหนี้อาจจะติดขัดบางประการ ธนาคารหรือสถาบันการเงินอาจเลือกวิธีเข้าไปคุย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ก่อนได้

 

สอดคล้องกับธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่มองว่า การขายในราคา 1% ของมูลหนี้ อาจทำไม่ได้กับทุกประเภทสินเชื่อ โดยสถาบันการเงินน่าจะยอมขายในราคา 1% ของมูลหนี้ในกรณีที่ตั้งสำรองไว้เต็มที่ 100% และเป็นหนี้ที่ค้างชำระนานหรือตามตัวลูกหนี้ไม่ได้แล้ว

 

ทั้งนี้ สุรพลเปิดเผยว่า เท่าที่รู้ข้อมูลมา ในปัจจุบันราคาที่ซื้อกันอยู่ที่ราว 5-10% ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกันหรือไม่มีหลักประกัน ค้างนานแค่ไหน เกิน 180 วัน หรือค้างเกิน 300 วัน ตามง่ายหรือตามยาก เป็นต้น

 

รัฐควรตั้ง AMC ขึ้นมาใหม่หรือไม่?

 

เพื่อดำเนินโครงการนี้ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าอาจนำรูปแบบ (Model) Good Bank และ Bad Bank เมื่อปี 2540 มาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ พร้อมทั้งระบุว่า กำลังพิจารณาว่า อาจจะต้องมีการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) แห่งใหม่มาเพื่อจัดการกับปัญหาหนี้ครัวเรือนครั้งนี้หรือไม่

 

ธนเดช แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า หากรัฐมีเป้าหมายที่ต้องการช่วยประชาชน โดยไม่ให้ AMC ทำกำไรมากนัก (กล่าวคือให้ทวงหนี้เท่าทุน โดยบวกค่าบริหารจัดการ) หมายความว่า รัฐอาจจะสั่ง AMC ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ‘ไม่ได้’ เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เนื่องจาก เนื่องจาก เนื่องจากบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะมีหลักเกณฑ์การทำธุรกิจที่ต้องปฏิบัติตามอยู่

 

ดังนั้นจึงมองว่า หากได้ AMC ของภาครัฐเข้ามาทำอาจจะมีความอะลุ่มอล่วยได้มากกว่า เพราะไม่ได้มีจุดประสงค์ในการค้ากำไร 

 

ด้านสุรพลกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติ (National AMC) อาจไม่จำเป็นนัก เนื่องจากวันนี้ไทยมี AMC กว่า 80 แห่งและมีศักยภาพ ความจำเป็นในการตั้ง AMC ใหม่อาจจะดู ‘ไกล’ ไปเล็กน้อย เนื่องจากมองว่า ความต้องการเร่งด่วนที่สุดในตอนนี้คือการหาสูตรที่ลูกหนี้ที่หาตัวเจอและเจ้าหนี้ใหม่ (AMC) ตกลงกันได้อย่างลงตัวสำคัญที่สุด

 

ความท้าทายใหญ่ที่สุดคือการตามตัวลูกหนี้

 

สุรพลกล่าวว่า อีกคำถามสำคัญคือจะตามหาตัวกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3.4 ล้านคนเจอได้อย่างไร เพื่อให้มาเจรจาตกลงกันใหม่ เนื่องจาก คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่รับโทรศัพท์ ย้ายที่อยู่ ไม่รับการติดต่อ หรือหายตัวไปหมดแล้ว ดังนั้น รัฐบาลต้องมีเงื่อนไขหรือสร้างแรงจูงใจให้ดึงดูดมากพอ

 

โดยในความคิดของสุรพลมองว่า แรงจูงใจเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย จ่ายแต่ต้น ให้จ่ายต้นไม่เต็มร้อย หรือเอาเงินมาปิดจบก้อนเดียว เป็นต้น

 

“นโยบายที่ต้องออกแบบเชิญชวนให้คนเข้าร่วมโครงการ ต้องว้าว ต้องจูงใจ เพื่อให้คนยอมที่จะเข้าร่วมโครงการ” สุรพลกล่าว

 

ประชาชน สถาบันการเงิน และภาครัฐ: ใครได้หรือเสียประโยชน์?

 

ในมุมมองของธนเดชและธัญญลักษณ์ เห็นตรงกันว่า คนได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้คือ ‘ประชาชนหรือลูกหนี้’ เนื่องจากโครงการนี้จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถจ่ายคืนหนี้ในราคา ‘ถูกที่สุด’ รวมทั้งเป็นโอกาสให้ปลดตัวเองจากภาระหนี้ที่มีมายาวนาน

 

สำหรับภาคสถาบันการเงิน ธนเดชมองว่า อาจไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ เนื่องจาก หากสถาบันการเงินยอมขายในราคา 1% ได้ สะท้อนว่า น่าจะเป็นหนี้ที่ไม่เอาแล้ว จึงยอมขายเพื่อแลกกับคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น และเพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐเป็นต้น 

 

สำหรับความคุ้มค่าเชิงงบประมาณ ธนเดชมองว่า การใช้งบประมาณราว 2-3 หมื่นล้านเพื่อทำนโยบายนี้ หากมองในเชิงผลตอบแทนคงไม่ดีเท่าไหร่ แต่หวังว่าโครงการนี้จะช่วยลูกหนี้ได้มากที่สุด 

 

ขณะที่ธัญญลักษณ์ก็มองว่า โครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายหลักหลายล้าน แต่ไม่น่าใช้งบประมาณสูงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลต้องการซื้อหนี้ในราคาถูกต่ำสุดถึง 1% ของมูลหนี้ด้วย และมองว่า การใช้เงินโครงการนี้ไม่น่าจะเป็นภาระต่องบประมาณประเทศมากนัก เนื่องจากเงินส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะนำเงินส่วนที่เหลือจากโครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งมีแหล่งเงินมาจากกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) มาใช้

 

‘ซื้อหนี้’ เสี่ยงนำไปสู่ Moral Hazard หรือไม่

 

ท่ามกลางความกังวลของสังคมที่ห่วงว่า นโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะ Moral Hazard สุรพลกล่าวว่า หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องไปช่วยคนเหล่านั้น แล้วด่วนตัดสินใจไปว่าคนเหล่านั้นไม่มีวินัย อย่างไรก็ตาม สุรพลชี้ว่า ในคนกลุ่มเป้าหมาย 3.5 ล้านคนนี้มีคนที่เคยมีวินัยดีมากก่อนช่วงปี 2562 แต่กลายเป็นหนี้เสียเพราะโควิด โดยคนกลุ่มนี้บางคนอาจต้องตกงานเพราะโควิด และบางคนอาจมีคนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สะท้อนว่าในกลุ่ม 3.5 ล้านคนนี้เป็นหนี้เสียมาได้จากทุกเหตุผล แต่ทำไมเราไปด่วนสรุปว่าคนเหล่านี้ไม่มีวินัยทั้งหมด

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับนโยบาย ‘ซื้อหนี้’

 

ธัญญลักษณ์ยังแนะว่า หากรัฐบาลต้องการผลักดันนโยบายนี้ ควรมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มขึ้น ‘มากพอสมควร’ ตัวอย่างเช่น การกำหนดว่า ผู้ที่เข้าร่วมได้ต้องมีสถานะ NPL ก่อนวันที่เริ่มมีการสื่อสารนโยบาย เพื่อป้องกันผู้ที่ตั้งใจเลิกจ่ายทันทีหลังได้ยินข่าวสาร นอกจากนี้ การกำหนดช่วงเวลาอาจจะช่วยเช็คสาเหตุการผิดนัดชำระได้มากพอสมควรด้วย

 

นอกจากนี้การกำหนดเงื่อนไขอาจพิจารณาความพยายามในการชำระหนี้ร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น อาจมีการตรวจสอบว่าช่วงก่อนหน้านี้ลูกหนี้มีความพยายามที่จะจ่ายหนี้ แต่จ่ายไม่ไหวจริงๆ เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยถ้าเป็นเพราะเหตุผลนี้ก็มีความสมเหตุสมผลที่จะช่วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising