×

รัฐห่วงสุขอนามัยเด็กในฤดูร้อน ย้ำรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ รักษาความสะอาดร่างกาย เลี่ยงอากาศร้อนป้องกันฮีทสโตรก

โดย THE STANDARD TEAM
20.04.2024
  • LOADING...
สุขอนามัยเด็กในฤดูร้อน

วันนี้ (20 เมษายน) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้ทุกภาคของประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยในตอนกลางวันบริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 33-43 องศาเซลเซียส 

 

รัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพประชาชนในฤดูร้อน โดยเฉพาะโรคที่มากับฤดูร้อนและฮีทสโตรก จึงขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดดังกล่าว โดยเฉพาะเด็ก 

 

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะนำให้ผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลสุขอนามัยให้แก่เด็กในฤดูร้อนที่มักเกิดโรคในเด็ก เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก และฮีทสโตรก 

 

ชัยกล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิสูง เชื้อโรคต่างๆ สามารถเจริญเติบโตได้ดีและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะปะปนมากับอาหารและน้ำดื่ม พ่อแม่และผู้ปกครองจึงต้องระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยและความสะอาด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ให้มากที่สุด เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิต้านทานร่างกายที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลให้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย


 

โดยข้อมูลกรมการแพทย์ระบุโรคฤดูร้อนที่พบบ่อยในเด็ก เช่น 

 

1.​ โรคท้องร่วง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว และพยาธิ ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อโรคเข้าไป โดยจะพบอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ติดเชื้อในเลือด เสี่ยงต่อการคุกคามถึงชีวิตได้ 

 

2. โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากเชื้อต่างๆ ที่มาจากพิษแบคทีเรีย เชื้อรา หรือสารเคมีที่ปนเปื้อน มักพบได้จากอาหารที่ไม่สุกสะอาด อาการมีไข้ ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ และถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง 

 

3. โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยในฤดูร้อน อาการของโรคคือ ผิวหนังจะแห้ง คัน และไวต่อสารภายนอกที่มาสัมผัส ทำให้มีผื่นขึ้นในลักษณะเป็นๆ หายๆ การป้องกันทำได้โดยเลือกสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อนุ่ม ใช้สบู่อ่อน และใช้ครีมบำรุงผิว เพื่อให้ผิวเกิดความชุ่มชื้น 

 

4. โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก เกิดจากอากาศที่ร้อนเกินไป จนทำให้ร่างกายปรับสมดุลอุณหภูมิไม่ได้ จนอาจเกิดอาการฮีทสโตรก อาการที่พบ ได้แก่ ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจจะช็อกจนเสียชีวิตได้  


 

ชัยกล่าวต่อว่า กรมการแพทย์แนะนำให้ผู้ปกครองควรระมัดระวังในเรื่องสุขภาพและความสะอาดให้แก่เด็กๆ โดยมีหลักสำคัญคือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ รักษาความสะอาดของร่างกาย และหลีกเลี่ยงอากาศร้อน หากร้อนมากควรพยายามลดความร้อนโดยการอาบน้ำ เปิดแอร์ หรือเปิดพัดลม ให้บุตรหลาน ให้อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี ดื่มน้ำมากขึ้นในวันที่มีอากาศร้อนจัด เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ และดูแลสุขอนามัยเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคในฤดูร้อน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X