×

รัฐบาลเดินหน้าปลดล็อกอุปสรรค-แก้กฎหมาย เอื้อต่างชาติลงทุนในไทย สร้างความเชื่อมั่น เพิ่มการแข่งขันในระดับนานาชาติ

โดย THE STANDARD TEAM
14.06.2024
  • LOADING...
รัฐบาล กฎหมาย

วันนี้ (14 มิถุนายน) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เข้าพบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการดำเนินการและรับฟังประโยชน์ที่ภาคเอกชนได้รับจากการปรับปรุงกฎหมายในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายต่อการให้บริการประชาชนและการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป 

 

ตลอดจนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขออนุญาตและขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ โดยมี อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (เลขาธิการ ก.พ.ร.) ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ กุลเทพ นฤหล้า นายกสมาคมผู้บริหารการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้แทนภาคเอกชนที่ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงกฎหมาย และกระบวนการ/ระยะเวลาการอนุมัติอนุญาต เข้าร่วมรายงานฯ ด้วย

 

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ภายหลังการเข้าพบนายกฯ และรายงานผลการดำเนินการและรับฟังประโยชน์ที่ภาคเอกชนได้รับจากการปรับปรุงกฎหมายในการประกอบธุรกิจ ศ.พิเศษ ธงทอง และคณะ ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงความก้าวหน้าในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เป็นข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้ 

 

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวถึงธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย มีมูลค่าถึงประมาณปีละ 7 พันล้านบาท ซึ่งหากสามารถปลดล็อกกฎหมายในเรื่องนี้เพื่ออำนวยความสะดวกการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมากขึ้นคาดว่าจะมีโอกาสขยายมูลค่าได้ถึงประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้กรมการจัดหางานได้ดำเนินการดังนี้

 

  1. การปลดล็อกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศและการจัดงานเทศกาลดนตรีที่กรมการจัดหางานดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

 

  • ยกเว้นการตรวจสอบคนต่างด้าวสัญชาติจีนกรณีเดินทางเข้ามากับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศฯ โดยมีหนังสือรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทำให้อำนวยความสะดวกในการยื่นคำขออนุญาตทำงาน โดยใน พ.ศ. 2566 มีคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 3 จำนวน 471.98 ล้านบาท รองจากสหรัฐอเมริกาและฮ่องกงตามลำดับ

 

  • อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงการขออนุญาตการทำงาน การออกใบอนุญาตทำงานและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถมีผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยที่ได้รับมอบหมายมารับใบอนุญาตทำงานแทนได้ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2567

 

  • อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มงานเทศกาลดนตรีหรืองานคอนเสิร์ตที่หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน เป็นงานอันมีลักษณะจำเป็นหรือเร่งด่วนหรือเฉพาะกิจ กรณีเข้ามาทำการแสดงไม่เกิน 15 วัน โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานเพื่อลดอุปสรรคเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้แก่คนต่างชาติที่เข้ามาทำงานคอนเสิร์ตและงานเทศกาลดนตรีนานาชาติในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อสังเกตและปรารภถึงกรณีที่ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ รวมถึงงานเทศกาลดนตรีหรืองานคอนเสิร์ตที่มาแสดงในประเทศ คณะทีมงานเหล่านี้ต้องเดินทางเข้ามาเตรียมงานล่วงหน้าก่อน 15 วัน ซึ่งการที่ขยายให้เข้ามาทำการแสดงไม่เกิน 15 วันนั้น ควรมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขยายกรอบเวลาตรงนี้ได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานหรือเตรียมงานจริงได้อย่างเพียงพอ โดย ศ.พิเศษ ธงทอง รับประเด็นนี้ไปประชุมหารือร่วมกับกรมจัดหางานต่อไป 

 

เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการตามร่างพระราชบัญญัติฯ ด้วยแล้ว โดยมีหลักการสำคัญ เช่น การจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วนสำหรับประชาชนในการรับบริการจากหน่วยงาน การขยายขอบเขตให้ทุกใบอนุญาตสามารถชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงาน 

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการดำเนินการสอดคล้องกับหลักการดังกล่าว เช่น การลดความซ้ำซ้อนการอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับการตรวจสอบตามมาตรฐานของต่างประเทศ ทำให้ลดระยะเวลาคำขอขึ้นทะเบียนที่อ้างอิงผลประเมิน WHO CRP จากยาใหม่ จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาถึง 310 วัน ลดเหลือเพียง 90 วัน การจัดให้มีช่องทาง Fast Track การยื่นคำขอนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง เพื่อมาถ่ายทำภาพยนตร์ ผ่านระบบ e-Submission ซึ่งสามารถอนุมัติได้ภายใน 24 ชั่วโมง การชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต

 

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ รวมถึงงานเทศกาลดนตรีหรืองานคอนเสิร์ตที่มาแสดงในประเทศ และการจัดนิทรรศการนั้น จะมีการนำผลิตภัณฑ์สุขภาพเข้ามาร่วมในการถ่ายทำด้วย เช่น อาหาร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง และยา เรื่องนี้ อย. ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการ โดย อย. ทำงานร่วมกับ ก.พ.ร. ในการปรับกระบวนการภายใน อย. ทั้งหมด เพื่อให้สามารถอนุมัติและอนุญาตได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยได้พัฒนาการให้บริการประชาชนในรูปแบบ e-Service และลดขั้นตอนและระยะเวลาการอนุญาต ด้านอาหาร ด้านยา ด้านเครื่องมือแพทย์ ทั้งการจดทะเบียนสถานประกอบการและการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เช่น ปรับลดระยะเวลาการแจ้งรายละเอียดอาหาร/จดทะเบียนอาหาร/ขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร ตามความเสี่ยงของกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีความเสี่ยงต่ำใน 28 ประเภทสามารถได้รับอนุญาตโดยอัตโนมัติ (Auto e-Permission) ลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ผลิตอาหารไทยยอดนิยม เช่น ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ ข้าวซอย และผัดไทย สำหรับอาหารไทยปรุงสำเร็จในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท จาก 78 วันทำการ เหลือ 44 วันทำการ

 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันตามนโยบายวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงกระบวนการทำงานเกี่ยวกับเวชภัณฑ์หรือเครื่องมือแพทย์ ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การยื่นขอจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ จากเดิม 50 วันทำการเป็น 30 วันทำการ และการยื่นขอจดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ จากเดิม 70 วันทำการเป็น 30 วันทำการ

 

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวถึงการดำเนินการตามที่นายกฯ ได้ฝากประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจจากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เช่น บริษัทยารายใหญ่ๆ บริษัทผลิตวัคซีน หรือบริษัทผลิตชีววัตถุฯ ซึ่งกรณีที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานอนุมัติและอนุญาตจากต่างประเทศมาแล้วจะสามารถมาอนุมัติในไทยได้เร็วขึ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้ในส่วนของเครื่องมือแพทย์ อย. ได้ปรับลดกระบวนการดำเนินการภายในแล้ว โดยเฉพาะกรณีที่ได้รับการอนุมัติมาแล้วจากยุโรป แคนาดา WHA รวมถึงระยะเวลา โดยจากระยะเวลาประมาณ 180 วัน เหลือประมาณ 80 กว่าวัน ไม่เกิน 90 วัน อย่างไรก็ตาม อย. ได้ปรับการดำเนินการภายในให้เร็วกว่าที่ประกาศต่อสาธารณะด้วย

 

นอกจากนี้ อย. ยังเป็น 1 ใน 10 หน่วยงานนำร่องเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการที่จะลดและไม่รับเอกสาร โดยเฉพาะเอกสารทางนิติบุคคล สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้าไปติดต่อทำธุรกรรมได้ โดยได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา รวมทั้ง อย. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศในการดำเนินการตรงนี้ด้วย  

 

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า จากการที่นายกฯ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจราชการในพื้นที่ภาคเหนือและได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการที่จะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวไปจำหน่ายในต่างประเทศหรือสายการบินต่างๆ ได้หรือไม่ ขณะนี้ อย. ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการดูว่ามีสินค้าและผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่อยู่ระหว่างการขอ อย. จำนวนเท่าไร และกระจายไปทั่วประเทศเท่าไร

 

โดยทีมงานมาดูรายละเอียดเพื่อให้คำปรึกษาว่าถ้าจะได้รับเครื่องหมาย อย. ทาง อย. จะสนับสนุนอะไรเข้าไปเพื่อให้ได้รับเลขหมาย อย. เพื่อให้เข้าสู่ตลาดแต่ละระดับได้ ขณะนี้การดำเนินการมีประมาณ 20 กว่าผลิตภัณฑ์แล้วจากที่นายกฯ ได้มีดำริให้ อย. ไปดำเนินการ รวมไปถึงยังได้ดำเนินการไปถึงผลิตภัณฑ์ของสมาคมแม่บ้านตำรวจด้วย ในการดำเนินการลักษณะเช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

 

กุลเทพ นฤหล้า นายกสมาคมผู้บริหารการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ ผู้แทนภาคเอกชน เห็นว่าการปรับปรุงกฎหมายทั้งการติดต่อขออนุญาตเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง เพื่อมาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ การปลดล็อกข้อจำกัดของการรับใบอนุญาตทำงานของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่ต้องรับใบอนุญาตทำงานที่นายทะเบียนออกให้ด้วยตนเอง เป็นการดำเนินการที่เป็นประโยชน์กับภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจ ทำให้การยื่นคำขออนุญาตต่างๆ เกิดความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

 

ทั้งนี้ ยังมีการดำเนินการในส่วนอื่นที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ และจะได้รายงานให้ทราบต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X