ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณปี 2563 ตั้งคำถามถึงการของบประมาณของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ว่าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมีการคืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้บริหารโดยหน่วยงานราชการปกติภายในปี 2565 ได้มีการเตรียมความพร้อมถ่ายโอนภารกิจไปยังหน่วยงานราชการเหล่านี้หรือไม่ เนื่องจากหากมีการเตรียมพร้อม จะต้องสะท้อนออกมาในงบประมาณ ที่ต้องมีการใช้งบในหน่วยงานทหาร โดยเฉพาะ กอ.รมน. น้อยลง
ธนาธรยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าแนวทางแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่ใช้ความมั่นคงเป็นหลัก ได้สะท้อนแล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้งบประมาณแก้ปัญหาชายแดนใต้ถึงวันละ 56 ล้านบาท ก็ยังไม่สามารถยุติความขัดแย้งในพื้นที่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้แนวทางสันติภาพ ยึดประชาชนเป็นหลัก จึงจะนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง
จากนั้นธนาธรได้พูดถึงรายละเอียดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม โดยเน้นที่งบผูกพันข้ามปี ซึ่งกระทรวงกลาโหมมีงบประมาณผูกพันข้ามปีกว่า 69,000 ล้านบาท มากเป็นอันดับที่ 2 ของทุกกระทรวง คิดเป็น 27% ของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงกลาโหม และคิดเป็น 22% ของงบผูกพันทุกกระทรวง ซึ่งทำให้กระทรวงอื่นเสียโอกาสในการลงทุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
โดยหลังรัฐประหาร 2557 จะเห็นการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญของงบส่วนนี้ โดยเกือบ 100% ของงบผูกพันดังกล่าว เป็นงบพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ธนาธรยังตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยและหอประชุม ซึ่งมีจำนวนมาก และถูกใช้เพื่อสร้างความโอ่อ่าหรูหราให้บุคคลระดับสูงในกองทัพมากกว่าเป็นสวัสดิการของทหารจริงๆ
ธนาธรยังชี้ให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายของกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะกองทัพบก ในขณะที่รายจ่ายลงทุนในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังรัฐประหาร จาก 3,780 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 59,000 ล้านบาทในปี 2562 แต่การเบิกจ่ายกลับไม่มีประสิทธิภาพ เบิกได้เพียง 42% ต่ำกว่ามาตรฐานของหน่วยงานราชการอื่นๆ อย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ ธนาธรจึงเสนอตัดงบประมาณในการจัดหายุทโธปกรณ์ 22,441 ล้านบาท และงบลงทุน 15,434 ล้านบาท ลง 40% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ดีนัก ไม่อยู่ในสภาพที่ควรเพิ่มหนี้สินให้ประเทศ นอกจากนี้ไทยยังไม่มีภัยสงครามที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตอันใกล้ และที่สำคัญที่สุด เมื่อมองย้อนหลังไป การใช้งบประมาณรายจ่ายลงทุนของกองทัพก็ไม่ถึง 60% อยู่แล้ว การตัดงบ 40% จึงไม่กระเทือนต่อความมั่นคง และยังลดภาระหนี้สินของประเทศอีกด้วย
ตัวแทนกองทัพบกได้ตอบข้อซักถามของธนาธร โดยยืนยันว่า อาจจะเป็นจริงที่ใน 20 ปีข้างหน้า ไม่มีโอกาสเกิดสงครามขนาดใหญ่ แต่อาจเกิดความขัดแย้งเป็นจุดๆ ซึ่งกองทัพจำเป็นต้องจัดเตรียมกำลังให้พร้อมอยู่เสมอ นอกจากนี้ อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ของกองทัพก็อยู่ในสภาพเก่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงซื้อใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนกรณีการเบิกจ่ายได้ต่ำ เป็นเพราะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต้องจัดทำอย่างรอบคอบ และมีการเจรจายาวนาน กว่าจะเสร็จสิ้นจึงกินเวลาหลายปี การเบิกจ่ายจึงมีสัดส่วนต่ำ และมีงบผูกพันข้ามปีจำนวนมาก
ส่วนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ผู้รับผิดชอบการบูรณาการหลักคือสภาความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนผู้ปฏิบัติคือ กอ.รมน. ในส่วนการคืนพื้นที่ชายแดนใต้ให้หน่วยงานปกติบริหารภายในปี 2565 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายคือการลดงบประมาณลงให้ได้ร้อยละ 10 ต่อปี และความรุนแรงต้องลดลงร้อยละ 50 ในปี 2565 แต่เมื่อมีเหตุความรุนแรง ก็ยังจำเป็นต้องคงกองกำลังไว้ และปรับการใช้กฎหมายพิเศษในแต่ละพื้นที่ตามสถานการณ์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์