×

‘รัฐบาล-ฝ่ายค้าน’ เห็นชอบศึกษา ‘นิรโทษกรรม’ ยังเห็นต่างคดี ม.112

โดย THE STANDARD TEAM
01.02.2024
  • LOADING...
นิรโทษกรรม

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยมี ขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

 

เพื่อไทยเปิดเกมเสนอญัตติ ‘นิรโทษกรรม’

 

ขัตติยากล่าวถึงหลักการและเหตุผลว่า สังคมไทยยังมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีประชาชนต้องคดีจากการเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีตนั้น เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายบริหารที่มาจากการยึดอำนาจ และมีการตรานิรโทษกรรมให้กับตนเองผ่านรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้ง 

 

ขัตติยากล่าวอีกว่า หนึ่งในกุญแจที่สำคัญในการปลดโซ่ตรวนในครั้งนี้คือ การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อลบล้างความผิดให้กับประชาชนทุกคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเคลื่อนไหวด้วยแรงจูงใจทางการเมือง จนถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายต่างๆ และการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพาสังคมไทยเดินไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ทุกคนสามารถเห็นต่างและขัดแย้งกันได้ภายในกรอบกติกา และไม่ถูกปิดปากด้วยกฎหมายอีกต่อไป 

 

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวเกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ จึงเห็นควรที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางที่จะเป็นสาระสำคัญของการนิรโทษกรรมให้ได้ข้อยุติ ก่อนที่จะมีการเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร

 

ขัตติยายังได้อภิปรายถึงความกังวลใจของประชาชนที่ว่า อาจจะมีการยัดไส้ในนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่กระทำความผิดต่อชีวิตนั้น ตนเองในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎรของประชาชน และเป็นหนึ่งในผู้สูญเสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำ ขอยืนยันในหลักการว่าจะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด

 

พิธา: นิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว

 

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน พร้อมกล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย และไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ประเทศไทยเคยนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งหมด 22 ครั้ง หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนิรโทษกรรมเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม เพิ่มเสถียรภาพให้กับการเมือง ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ คืนพ่อให้กับลูกสาวที่ยังเล็กได้ เพื่อให้คนที่อยู่ในต่างประเทศที่มีความเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐกลับมาสู่มาตุภูมิประเทศ 

 

พิธากล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2475-2557 มีเพียงแค่ปี 2521 ครั้งเดียวที่เป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่นอกจากนั้นเป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจปกครองประเทศ ความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรในฐานะกบฏ นี่คือสิ่งที่เราไม่ควรอนุญาตให้การผูกขาดการนิรโทษกรรมอยู่กับการรัฐประหารเพียงอย่างเดียว 

 

พิธากล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองไทย อย่างน้อยนับแต่การทำรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน สร้างบาดแผลร้าวลึกกับสังคมไทย ตั้งแต่สงครามสีเสื้อ จนถึงการลุกขึ้นเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ นำไปสู่ 10 กว่าปีที่สูญหาย ตั้งแต่ปี 2549-2567 การเมืองไทยประสบพบผ่านนายกรัฐมนตรี 7 คน รัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ม็อบใหญ่ต้านรัฐบาล 9 ระลอก การปะทะปราบปรามสลายม็อบ 5 ยก คนล้มตายเรือนร้อย บาดเจ็บเรือนพัน เศรษฐกิจเสียหายหลายแสนล้านบาท 

 

พิธาจึงได้เสนอแนวทางที่จะสามารถตั้งต้นทั้งสามอธิปไตยของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

 

  1. ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี สามารถสั่งตำรวจได้เลย ชะลอคดี 
  2. ฝ่ายอัยการศาล ต้องวินิจฉัยคดีด้วยความรัดกุม รอบคอบ บนฐานของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช่เอาอารมณ์หรืออะไรอย่างอื่นมาตัดสินด้วย 
  3. ฝ่ายรัฐสภา อภิปรายความแตกต่างของพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน รวมถึงข้อคิดเห็นของประชาชนด้วย 

 

รังสิมันต์ขออย่ากำหนดข้อหา-ปิดทางนิรโทษกรรม ม.112

 

รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความขัดแย้งทางการเมืองและนิติสงคราม เรานำคนนับพันไปคุมขังเพื่ออะไร ประเทศเราได้รับประโยชน์อะไร ซึ่งเชื้อไฟเหล่านี้ไม่มีวันหมดไป แล้วจะมีการชุมนุมกันต่อมาเรื่อยๆ เพราะประเทศนี้ยังมีความไม่ยุติธรรม 

 

รังสิมันต์จึงเสนอว่า กระดุมเม็ดแรกของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ควรเป็นการจำกัดว่าผิดมาตราใดจึงควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะหากเป็นแบบนั้น ก็จะยังมีผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป เราต้องออกแบบประตูนี้ให้กว้างที่สุด ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคืออย่าไปกำหนดข้อหา อย่างเช่น ความผิดตามมาตรา 112 หากมีข้อหานี้ไม่ได้รับนิรโทษกรรม เราทำอย่างนี้ไม่ได้

 

รังสิมันต์ยอมรับว่า ผลของคำวินิจฉัยเมื่อวานทำให้พื้นที่ของการหาทางออกวิกฤตทางการเมืองยากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยก็หวังว่าการพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุมสภาจะเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟเสียบ้าง แม้จะไม่ได้แก้วิกฤตทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยคืนเยาวชนที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งไม่ควรเป็นความผิดตั้งแต่แรก ให้กลับมา

 

รังสิมันต์ได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีหลักการ 4 ข้อ ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นำไปประกอบการพิจารณาศึกษา คือ

 

  1. การให้นิรโทษกรรมไม่ควรจำกัดความผิดมาตราใดๆ

 

  1. หากต้องจำกัดการให้นิรโทษกรรม ควรเป็นความผิดลักษณะร้ายแรง เช่น ความผิดมาตรา 113 อย่างผู้เคยรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควบคุมการชุมนุม สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตีกบาลผู้ชุมนุม หรือการกระทำที่นำไปสู่การพรากชีวิต อย่างนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม 

 

  1. ต้องตระหนักว่าผู้ชุมนุมต่างก็มีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง แม้เราไม่สามารถนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งได้ การพิจารณากลั่นกรองจึงควรมองทั้งมิติทางกฎหมายและมิติทางการเมืองควบคู่กัน พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองในเวลา 2 ปี เพื่อชี้ขาดว่ากรณีใดสมควรได้รับการนิรโทษกรรม

 

  1. เปิดช่องให้สละสิทธิ์การรับนิรโทษกรรมได้ สำหรับผู้ที่กลัวว่าจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น ผู้ที่เคยต่อต้านการนิรโทษกรรมมาก่อน

 

ศศินันท์ชี้ นิรโทษกรรมไม่ได้ช่วยคนผิดให้เป็นถูก

 

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายในฐานะอดีตทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ได้สัมผัสแววตานักโทษทางการเมืองมาหลายร้อยคู่ และเป็นบุคคลที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน ว่า ตนเองเชื่อเสมอว่าทุกความเห็นต่างนั้นมีความหวังดีต่อประเทศ ไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง 

 

ศศินันท์กล่าวต่อว่า ตนเองได้สัมผัสกับความอยุติธรรมตอนนักโทษที่ถูกต้องคดีจากการเมือง และอภินิหารทางการเมือง เช่น การละเมิดสิทธิโดยรัฐ รวมถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างรัฐกับประชาชนทั่วไป โดยเชื่อว่าคนเหล่านี้คือคนธรรมดาที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง เพียงแค่หวังว่าประเทศนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ 

 

ศศินันท์กล่าวว่า ตนเองในฐานะทนายความของพวกเขา ไม่สามารถทอดทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลังได้แม้แต่คนเดียว ตนเองต้องการยืนยันในหลักการอันหนักแน่นว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือคนที่ทำความผิดให้เป็นถูก แต่เป็นการคืนความยุติธรรมและคืนความปกติให้กับสังคม ให้กับประเทศ และให้กับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ให้ได้กลับมาใช้ชีวิตในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างที่ควรจะเป็น 

 

พปชร. เผย ประวิตรอยากเห็นการก้าวข้ามความขัดแย้ง 

 

อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนให้มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แต่จะสนับสนุนการนิรโทษกรรมเพื่อคนใดคนหนึ่ง ควรนิรโทษกรรมแก่เยาวชนที่มาชุมนุม และพิจารณาว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยกโทษให้ได้ 

 

“พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อยากให้มีการก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่ พล.อ. ประวิตร ไม่สามารถที่จะให้นิรโทษกรรมกับคนที่มีความผิดรุนแรง” อรรถกรกล่าว

 

ภูมิใจไทยไม่เอานิรโทษกรรม ม.112 

 

ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส. สงขลา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า “ไม่แก้ ม.112” พรรคภูมิใจไทยไม่เอาด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้ทำผิดมาตรา 112 ซึ่งการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไม่ควรทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ควรเป็นการหาข้อสรุปของสภาผู้แทนราษฎร ให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ ขึ้นมา 1 คณะ เพื่อพิจารณาแนวทางในการตราร่างพระราชบัญญัติ

 

ณัฏฐ์ชนนกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา 90 ปี ประเทศไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 มีปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และมีการรัฐประหารมาตลอด มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ต่ำกว่า 22 ครั้ง แต่ไม่เคยมีการแก้จิตสำนึก ประเทศไทยยังขาดการให้อภัย การให้อภัยไม่อาจเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ โดยมองว่าการนิรโทษกรรมควรเกิดจาก 4 องค์กร คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระ

 

ณัฏฐ์ชนนเสนอให้รัฐบาลขับเคลื่อนการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมือนในอดีต ที่ออกคำสั่ง 66/23 ในสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ตนอยากเห็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 67 ลงนามโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปรองดองและนิรโทษกรรมในอนาคต 

 

ขณะเดียวกัน ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติในการพิจารณาคดี ให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นที่พึ่งได้ และองค์กรอิสระจะเป็นหนึ่งในสถาบันที่แก้ปัญหาความแตกแยกของประเทศได้ แต่ที่ 4 สถาบันต้องพึงระวังคือปรสิตทางการเมือง ที่เป็นบุคคลและหน่วยงานที่เติบโตมีบทบาทเข้ามามีผลประโยชน์ใน 4 สถาบัน 

 

“เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาของประเทศคือการให้อภัยซึ่งกันและกัน และออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปได้” ณัฏฐ์ชนนกล่าว

 

ชัยธวัช: ประตูบานแรกสู่ความสมานฉันท์

 

ชัยธวัช ตุลาธน สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายสนับสนุนว่า ประเทศไทยมีการนิรโทษกรรมผ่านพระราชกำหนด ผ่านพระราชบัญญัติ และผ่านรัฐธรรมนูญ มาแล้วไม่น้อยกว่า 23 ครั้ง ส่วนมากเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่มีอำนาจที่ทำการรัฐประหารหรือการกบฏ และการนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีการปราบปรามประชาชน แต่ก็มีการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และมีการนิรโทษกรรมแก่นักศึกษาและประชาชนที่ถูกกล่าวหาในข้อหาความมั่นคงร้ายแรง รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

 

ชัยธวัชกล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยกับสิ่งที่หลายคนมองตรงกันว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ต้องมีเป้าหมายที่จะคลี่คลายความขัดแย้งที่อยู่มาเกือบ 2 ทศวรรษ และสร้างความสมานฉันท์ให้กับสังคมไทยให้ได้ แต่การนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในการยุติหรือคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทย แต่การนิรโทษกรรมจะเป็นประตูบานแรกที่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ และแสวงหาฉันทมติครั้งใหม่ให้กับทุกคน 

 

แม้โดยรวมทุกคนจะเห็นถึงการนิรโทษกรรมตรงกันเกือบทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายประเด็นสำคัญที่เรายังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือยังเข้าใจไม่ตรงกัน ทั้งวิธีการ ขอบเขต ข้อจำกัด และกระบวนการทั้งก่อนและหลังของการนิรโทษกรรม

 

ชัยธวัชกล่าวอีกว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ต้องระมัดระวังว่าจะต้องไม่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ อย่าทำให้การนิรโทษกรรมในครั้งนี้กลายเป็นการนิรโทษกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง จนไม่สามารถทำให้เกิดความคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง สร้างความสมานฉันท์ และไม่สามารถนำไปสู่การถอดสลักระเบิดของสังคมไทยได้

 

หลังสมาชิกอภิปรายกันพอสมควรแล้ว ที่ประชุมสภาเห็นชอบให้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 35 คน โดยสัดส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 คน ตัวแทนพรรคการเมือง 27 คน ในจำนวนนี้มีคนนอกที่เป็นทั้งนักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ เช่น อังคณา นีละไพจิตร, วุฒิสาร ตันไชย, ยุทธพร อิสรชัย เป็นต้น โดยที่ประชุมกำหนดให้ใช้เวลาศึกษา 60 วัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X