วันนี้ (9 เมษายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 30 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วาระพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องการพิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางรับมือมาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยของสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาล ทรัมป์ 2.0 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ลุกขึ้นชี้แจงภายหลังร่วมรับฟังการอภิปรายแสดงความเห็นของ สส.
จุลพันธ์มองว่า การยื่นญัตติวันนี้เป็นวันที่ดี ที่สมาชิกทุกคนได้ร่วมกันอภิปราย ปัญหาที่ค่อนข้างหนักอกของประเทศไทย ในเรื่องของอัตราภาษีที่ได้กำเนิดขึ้นใหม่ จากสหรัฐอเมริกา มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ข้อห่วงใย ในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญ
ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางรัฐบาลได้มีการเตรียมการมาอย่างยาวนาน มีการตั้งคณะทำงานนำโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา มีการติดตามมาโดยตลอดว่ามาตรการทางด้านภาษีที่จะเกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในรูปแบบใด และคณะทำงานได้มีการประชุมกันหลายครั้ง มีฉากทัศน์จำนวนมากว่า สุดท้ายแล้วมาตรการภาษีที่เกิดขึ้นคืออะไร
“แต่ผมก็เชื่อว่าไม่มีกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานรัฐของประเทศใดในโลกที่จะคาดคำนวณได้ ด้วยสูตรที่ใช้คำนวณค่อนข้างที่จะหลุดไปจากหลักเศรษฐศาสตร์โดยพื้นฐาน เป็นการคิดคำนวณที่แปลกประหลาดพอสมควร อย่างไรก็ตาม ก็สะท้อนหลายอย่าง สะท้อนในเรื่องของแนวความคิด” จุลพันธ์กล่าว
จุลพันธ์ชี้ว่า หลักคิดของสหรัฐฯ ที่มองว่า หากมีการค้ากับสหรัฐฯ ไม่มากนักแต่มีการเกินดุล ซึ่งหลักคิดนี้ก็สะท้อนให้เราได้เห็นว่าสิ่ง ที่เขาต้องการคืออะไร นั่นคือการลดการขาดดุล ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทางรัฐบาลได้พิจารณาโดยละเอียด และเห็นว่า การลดการส่งออกคงไม่ใช่โจทย์ของเรา เพราะว่าการส่งออกเป็นเครื่องมือกลไกหลักของประเทศไทยที่พัฒนาเจริญเติบโตมาโดยตลอด เป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศพึ่งพาอาศัย ดังนั้น การจะลดคงไม่ได้ แต่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และเพิ่มการนำเข้าบางประเภท ซึ่งตรงนี้ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลรับไว้เป็นเบื้องต้น
จุลพันธ์กล่าวต่ออีกว่า โจทย์แรกคือการห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกร ต่อประชาชนและต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ภายในประเทศ หากเราจะมีการนำเข้าสินค้าใดก็ตาม ต้องไม่เป็นการสร้างภาระ มีผลกระทบต่อราคาสินค้าภายในประเทศ ถือเป็นโจทย์แรกที่ทางทีมเจรจา นำไปพูดคุย
“ขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ได้อภิปรายด้วยเหตุผล ให้เกียรติกับทางรัฐบาล ไม่มีคำถามประเภทที่ว่า แล้วเราจะเอาอะไรไปเจรจาต่อรอง เพราะเราก็รู้ว่ากลไกในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศในลักษณะทวิภาคี ไม่มีทางที่รัฐบาลหรือว่าใครก็ตามมากางบนโต๊ะให้ดูก่อน ว่าเรามีอาวุธอะไรอยู่ในสต็อกบ้าง เรามีการเจรจาใดที่จะนำไปใช้ได้บ้าง เปิดทั้งหน้าตักไม่ได้ จะได้มีความยืดหยุ่น และมีศักยภาพในการเจรจาเอาผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติ และประชาชนของเรา” จุลพันธ์ระบุ
จุลพันธ์ยืนยันว่า ทีมเจรจาจะดำเนินการด้วยความเข้าใจ อาศัยความเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ยาวนาน เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยู่เคียงข้างกันในเวทีโลกมาอย่างยาวนาน เราเป็นพันธมิตรที่มีความถาวร มั่นคงในจุดยืนมาโดยตลอด
จุลพันธ์ยังเปิดเผยว่า เมื่อเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เราก็ต้องมีการปรับตัว รัฐบาลเองก็ต้องเป็นกลไกมาช่วยสร้างตัวให้กับภาคเอกชน ขณะนี้เราได้มีการเตรียมเงินวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาท ผ่านทาง EXIM BANK ช่วยเหลือบริษัทที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่วนหนึ่ง นำเข้าจากสหรัฐฯ ส่วนหนึ่ง เป็นการให้วงเงินสินเชื่อเพื่อภาคเอกชนผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ และเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น แน่นอนว่า คงจะมีมาตรการอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
หลังจากนี้ก็จะมีการประเมินว่า หลังการเจรจาภาวะการจะปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไรและ ใครได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ควรจะต้องมีกลไกเข้ามา เยียวยาช่วยเหลืออย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องทำงานกันต่อ
สำหรับคำถามที่ว่ามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จุลพันธ์ยอมรับว่า ไม่ได้ปฏิเสธว่าสุดท้ายจะกระทบต่อการเจริญเติบโต รัฐบาลเองในภาวะปกติได้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะเห็นว่าอัตราการเติบโตมีช่วงขาขึ้นในระดับหนึ่ง