×

รัฐบาลเคาะงบปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน เผยเป็นงบลงทุน 6.2 แสนล้าน ชงเข้า ครม. 5 ม.ค. ปีหน้า

โดย THE STANDARD TEAM
23.12.2020
  • LOADING...
รัฐบาลเคาะงบปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน เผยเป็นงบลงทุน 6.2 แสนล้าน ชงเข้า ครม. 5 ม.ค. ปีหน้า

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงผลการประชุมการพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ว่า การประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2565 ว่า 

 

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินรวมทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2564 วงเงินประมาณ 185,900 ล้านบาท หรือลดลง 5.66% แบ่งออกเป็น งบรายจ่ายประจำ วงเงิน 2.354 ล้านล้านบาท หรือ 75% ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจากงบรายจ่ายประจำปี 2564 ซึ่งมีวงเงิน 2.537 ล้านล้านบาท หรือ 77% ของวงเงินงบประมาณ ประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 700,000 ล้านบาท งบลงทุน วงเงิน 620,000 ล้านบาท หรือ 20% โดยลดลงจากปี 2564 ที่มีงบลงทุน 649,000 ล้านบาท ชำระคืนเงินต้นเงินกู้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ตั้งไว้ 99,000 ล้านบาท โดยมีสมมติฐานของสภาพัฒน์ และ ธปท. ประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2565 ร้อยละ 3.5 หรือ 17.328 ล้านล้านบาท อัตราเงินเฟ้อ 1.2 % ทั้งนี้สำนักงบประมาณจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 5 มกราคม 2564   

 

สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินงบประมาณลดลงจากปี 2564 วงเงิน 185,900 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณรายจ่าย โดยขอให้ส่วนราชการทบทวนพิจารณาจากประสิทธิภาพในการใช้จ่าย การเบิกจ่ายและผลสัมฤทธิ์ เช่น งบลงทุน งบประจำ 

 

“กรณีเป็นงบรายจ่ายประจำในปี 2565 ลดลงเหลือ 75% ซึ่งส่วนประกอบของรายจ่ายประจำคือ เงินเดือนข้าราชการ การรักษาพยาบาล สำหรับรายจ่ายประจำที่สามารถลดลงได้ หรือชะลอได้ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ การประชุมสัมมนา เงินสมทบกองทุน โดยเฉพาะที่มีเงินของตัวเองและที่มีเงินนอก ที่มีรายได้จัดเก็บได้เอง”

 

นอกจากนี้ยังมีงบของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขในส่วนค่าจ้างพนักงานและลูกจ้างที่ปรับสถานะมาเป็นข้าราชการ 45,000 อัตรา แต่ไม่กระทบกับค่ารักษาพยาบาล    

 

“ท่านนายกฯ มอบนโยบายในที่ประชุม ขอให้สำนักงบประมาณพิจารณางบประมาณในส่วนของรายจ่ายประจำ เพราะถึงแม้ว่าจะลดลง แต่คงไว้สำหรับการดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น เงินประกันสังคม กองทุนประกันสุขภาพ สวัสดิการของกลุ่มเปราะบางทั้งหมด คนพิการ คนชรา และเด็กเล็ก ตามนโยบายของรัฐบาล หรือสำหรับค่าใช้จ่ายทางด้านสังคมเราจะไม่ปรับลด ซึ่งตั้งไว้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 40,000 ล้านบาท”

 

เดชาภิวัฒน์กล่าวว่า สำนักงบประมาณจะทำความเข้าใจกับส่วนราชการว่า ความจำเป็นในการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นงบประจำ งบลงทุน สามารถชะลอได้หรือไม่ สามารถใช้มาตรการอื่นได้หรือไม่ หมายถึงเงินนอก เพื่อรักษาวงเงินงบลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งกระเป๋าซ้ายคือ เงินงบประมาณ และกระเป๋าขวาคือ เงินนอก ให้สูงกว่าในปีที่ผ่านมา 

 

“เลขาฯ สภาพัฒน์ได้กล่าวในที่ประชุมว่าต้องขอให้รัฐวิสาหกิจลงทุนเพิ่ม สำหรับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจะไปดูว่าโครงการไหนสามารถร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้บ้าง”

 

ทั้งนี้เงินนอกคือกองทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) หรือรัฐวิสาหกิจ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP) 

 

สำหรับงบประมาณเกี่ยวกับการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังมีงบประมาณจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของการเยียวยา 555,000 ล้านบาท และในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ยังมีงบกลางและงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ตั้งไว้ในแต่ละปี รวมแล้วทั้งหมดราว 4 แสนล้าน สามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูและเยียวยา หรือผลกระทบสำหรับโควิด-19 ได้ถึงปีหน้า ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X