วันนี้ (7 มกราคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพงตามข้อสั่งการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกลาโหม และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีมาตรการ 3 ระยะ ได้แก่ มาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหานั้น
ล่าสุดกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงได้มีผลบังคับแล้ว ประกอบด้วยการห้ามส่งออกหมู และการกำหนดให้ผู้เลี้ยงต้องแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีสินค้าและเนื้อหมู ต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งรัฐบาลขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับทุกปัญหาที่กระทบปากท้องประชาชน จึงได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมมีแนวทางแก้ไขที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ป้องกันกรณีเกิดปัญซ้ำ” ไตรศุลีกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ จำนวน 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 เรื่อง ห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร มีสาระสำคัญห้ามมิให้บุคคลใดส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรทุกกรณี โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในที่นี้คือตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2565 ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 3 เดือน
ฉบับที่ 2 เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร มีสาระสำคัญเป็นการบังคับให้ผู้เลี้ยง ผู้จำหน่าย ผู้ส่งออกซึ่งครอบครองสุกรมีชีวิตที่ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนผู้อื่นต้องแจ้งปริมาณการเลี้ยง การซื้อ การจำหน่าย การส่งออก ปริมาณคงเหลือราคาจำหน่าย สถานที่เก็บ และสถานที่เลี้ยง
รวมถึงให้ผู้ครอบครองสุกรชำแหละผ่าซีก เนื้อสุกรชำแหละแยกชิ้นส่วน ซึ่งประกอบด้วยเนื้อไหล่ เนื้อสะโพก เนื้อสันคอ เนื้อสันนอก เนื้อสันใน และเนื้อหมูสามชั้น ที่มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนผู้อื่น แจ้งปริมาณการซื้อ การจำหน่าย การใช้ การส่งออก การรับฝาก ปริมาณคงเหลือราคาจำหน่าย และสถานที่เก็บ
ทั้งนี้ ให้แจ้งภายในวันที่ 10 มกราคม 2565 และให้แจ้งครั้งต่อไปเป็นประจำทุกสัปดาห์ในวันจันทร์ของสัปดาห์ถัดไป โดยหากเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ให้แจ้ง ณ สำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ส่วนที่อยู่ในจังหวัดอื่นให้แจ้ง ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ส่วนช่องทางการแจ้ง สามารถแจ้งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ, โทรสาร, จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ผู้ที่ประสงค์จะแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์จะต้องลงนามในบันทึกแสดงความตกลงในการแจ้งทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
พร้อมกันนี้ ผู้เลี้ยง ผู้จำหน่าย ผู้ส่งออก ผู้ครอบครอง ต้องจัดทำจัดทาบัญชีคุมสินค้า แสดงปริมาณการเลี้ยง ปริมาณการซื้อ ราคาซื้อ ราคา ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณคงเหลือ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ทุกเวลา
สำหรับประกาศฉบับที่ 2 นี้มีผลนับถัดจากวันประกาศ ในที่นี้คือตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2565 ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 1 ปี