ยาเสพติดยังคงเป็นหนึ่งในบรรดาปัญหาของประเทศไทยที่ยากจะแก้ไขให้หมดไปได้ หลังจากเกิดเหตุการณ์สูญเสียภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็กมากถึง 24 ราย
ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นยาเสพติดเป็นอีกส่วนสำคัญในการก่อเหตุ เนื่องจากผู้ก่อเหตุรายนี้มีประวัติเคยถูกดำเนินคดีฐานครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) โดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น รัฐบาลไทยได้ประกาศทำสงครามกับยาเสพติดอย่างจริงจังอีกครั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งให้ตำรวจเร่งรัดปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างเร่งด่วนแบบครบวงจรและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
รวมถึงเน้นย้ำผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องลงไปขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้สั่งการลงไป รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมความประพฤติของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเด็ดขาด หากพบการกระทําความผิด จะต้องดําเนินการทางกฎหมายอาญา ทางวินัย และการปกครอง อย่างเฉียบขาดทุกราย
ขณะที่ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น) ได้แจ้งแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ให้ทุกจังหวัดแล้ว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
แต่ตลอดระยะเวลาของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการป้องกันและปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ตั้งแต่ พ.ศ. 2560-2566 กว่า 34,943,329,600 บาท ส่วนงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านยาเสพติดโดยตรง ได้รับการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2566 ประมาณ 25,129,473,100 บาท
จากการสืบค้นตั้งแต่ พ.ศ. 2560-2565 มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ปัญหายาเสพติดจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีถูกบันทึกไว้ทั้งสิ้นจำนวน 1,610 เรื่อง นอกจากนี้ พ.ศ. 2562 ปัญหายาเสพติดก็เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและด้านความมั่นคง ซึ่งมีการแถลงต่อรัฐสภาไว้อย่างชัดเจน
แต่รายงานจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ที่ว่าด้วยเรื่องยาเสพติด ประเภทสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การพัฒนาและความท้าทาย พ.ศ. 2565 ว่า จำนวนยาบ้าที่ยึดครองได้เมื่อ พ.ศ. 2563-2564 มีปริมาณเพิ่มขึ้น พร้อมระบุว่า ยาเสพติดในปัจจุบันนั้นมีราคาถูกลงจนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดย พ.ศ. 2564 สามารถยึดยาบ้าแบบเม็ดได้ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 1 พันล้านเม็ด คิดเป็นน้ำหนักกว่า 172 ตัน โดยสูงกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ยึดได้ 143 ล้านเม็ดถึง 7 เท่า
เจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า มีการผลิต ลักลอบค้า และการใช้ไอซ์ในปริมาณมาก และการค้ายายังคงกระจายอยู่ในภูมิภาค โดยที่ สปป.ลาว กลายเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายที่สำคัญในการค้ายาเสพติดในประเทศไทยและส่วนอื่นๆ ของตลอดแม่น้ำโขง ขณะที่มาเลเซียเป็นเส้นทางที่สำคัญในการขนส่งยาเสพติดไปยังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
สอดคล้องกับ พระครูอดิศรัย กิจจานุวัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์สามัคคี และเจ้าคณะตำบลอุทัยสวรรค์ ศูนย์รวมทางจิตใจของครอบครัวและคนในชุมชน กล่าวหลังเกิดเหตุการณ์สูญเสียที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ถึงสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ว่า ยาเสพติดในปัจจุบันมีราคาไม่แพง 1 เม็ดราคาไม่ถึงหลักสิบบาท พร้อมเปรียบว่า “ถูกกว่าน้ำอัดลม 1 ขวด”