ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลตั้งโต๊ะแถลงมาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชน คาดใช้เม็ดเงิน 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท วินมอเตอร์ไซค์ได้รับส่วนลด 5 บาทต่อลิตร ค่าไฟฟ้าไม่ขยับขึ้นสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน พร้อมลดเก็บเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซียที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงด้วย
ในการแถลง สุพัฒนพงษ์ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับสัญญาณของราคาพลังงานและราคาสินค้าบางชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ 3 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ช่วยกันติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ของทั้ง 3 หน่วยงาน พบว่ายังมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากเกิดการสนับสนุนประเทศคู่ขัดแย้งเป็นขั้วต่างๆ รวมถึงมีการกีดกันทางการค้า ทำให้โลกสูญเสียสมดุลด้านทรัพยากรหรือการค้า ราคาวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น สร้างแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อตามมา
“สถานการณ์ในขณะนี้ยังคาดเดาได้ยาก คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป แต่คาดว่าภายในระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้นและมีความชัดเจนมากขึ้น” สุพัฒนพงษ์กล่าว
สุพัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า จากการคาดการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการระยะสั้นเป็นเวลาอย่าง 3 เดือน ใช้งบประมาณรวม 43,602-45,102 ล้านบาท เพื่อประคับประคองประชาชน ดังนี้
- การตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรในเดือนเมษายน จากนั้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน รัฐจะช่วยส่วนที่ราคาเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง โดยวงเงินที่คาดว่าต้องใช้ในเดือนเมษายนอยู่ที่ 16,800 ล้านบาท เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 8,340 ล้านบาท และเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท
- ช่วยผู้ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเวลา 3 เดือน โดยกำหนดราคาในเดือนเมษายนที่ 333 บาทต่อ 15 กิโลกรัม เดือนพฤษภาคมที่ 348 บาท และเดือนมิถุนายนที่ 363 บาท โดยวงเงินที่คาดว่าต้องใช้ในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2,400 ล้านบาท เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 2,130 ล้านบาท และเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 1,850 ล้านบาท
- ช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 3.6 ล้านคน ในการเพิ่มส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มอีก 55 บาทต่อ 3 เดือน รวมเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้ 200 ล้านบาท
- ช่วยผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณการผู้ใช้ 5,500 คนต่อเดือน โดยช่วยส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้ 1.65 ล้านบาท
- ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาทต่อลิตร จำนวน 50 ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้ 120 ล้านบาท
- คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน และมาตรการช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ในวงเงิน 10,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้รวม 1,761 ล้านบาท
- ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ได้รับส่วนลดค่า Ft เป็นเวลา 4 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้ 2,000-3,500 ล้านบาท
สำหรับวงเงินและแหล่งเงินจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เป็นองค์กรของรัฐที่ใช้ในการดำเนินมาตรการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท มีดังนี้
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม วงเงิน 39,520 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50%
- กองทุนประกันสังคม (เงินสมทบ) นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 และผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 วงเงิน 35,224 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43%
- สำนักงบประมาณ (งบกลาง) ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ากว่า 300 หน่วย ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง วงเงิน 3,740 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5%
- บมจ.ปตท. (PTT) ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 1,763 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2%
ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยืนยันว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 901,414 ล้านบาท ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,429,194 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 394,465 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวน 418,588 ล้านบาท ซึ่งแม้เงินคงคลังจะลดไปบ้าง แต่อยู่ในระดับที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพเพียงพอ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมกราคมอยู่ที่ 3.23% และกุมภาพันธ์อยู่ที่ 5.28% ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงาน แต่ยังมีมาตรการช่วยเหลือของรัฐทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่ปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วมากนัก
ทุนสำรองระหว่างประเทศช่วง 2 เดือนแรกปี 2565 ยังอยู่ในระดับสูง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกได้
ด้านเสถียรภาพทางการคลัง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 59.9% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ 70%
ขณะที่ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยการลดเก็บเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจาก 5% เหลือ 1% เช่น ฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจาก 9% เหลือ 1.9% จากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน
- ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลง 40% คือ
- ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท
- ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท
- ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84-360 บาทต่อคนต่อเดือน
นอกจากนี้ นายจ้างจำนวน 5 แสนรายจะได้ลดเงินสมทบจาก 5% เหลือ 1% ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ในภาพรวมการออกมาตรการช่วยเหลือครั้งนี้จะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 103,620 ล้านบาท
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP