วันนี้ (23 มิถุนายน) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ครั้งที่ 2/65 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ
ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาโครงการวิจัยการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมจัดทำกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
สรุปภาพรวมแนวโน้มบริบทของนำ้ในอนาคต มีความต้องการน้ำสูง ปริมาณมีความแปรปรวนสูงจากปัญหาสภาพอากาศ การใช้น้ำมีผลิตภาพต่ำ ใช้น้ำสิ้นเปลืองและน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ปัญหาการบริหารจัดการนำ้ ยังขาดเอกภาพและการบูรณาการที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ทั้งอำนาจหน้าที่ แผนงาน โครงการ และงบประมาณ มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านน้ำมากเกินไป
ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐ ยังเน้นแก้ปัญหาด้วยการลงทุนก่อสร้าง และไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านความต้องการ พร้อมเสนอการออกแบบโรดแมปการพัฒนานวัตกรรมเชิงระบบเพื่อการบริหารจัดการน้ำ
ที่ประชุมจึงเห็นชอบหลักการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นการจัดตั้ง ‘กระทรวง’ ในอนาคตต่อไป โดยขยายบทบาทให้ครอบคลุมทั้งมิติอุปสงค์และอุปทาน
พล.อ. ประวิตรกล่าวย้ำว่า การบริหารจัดการน้ำเกี่ยวข้องกับหน่วยงานมากกว่า 38 หน่วยงาน และกฎหมายหลายฉบับ มีปัญหาด้านต่างๆ ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือ วิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาแบบก้าวกระโดด เพื่อเร่งให้เกิดความยั่งยืนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศโดยเร็ว ทั้งนี้ รัฐบาลมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องยกระดับการบริหารจัดการน้ำให้มีความสำคัญ โดยนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อเผชิญกับวิกฤตและความมั่นคงด้านน้ำในอนาคตอันใกล้นี้
พล.อ. ประวิตรยังได้กำชับ ขอให้ สทนช. ร่วมกับ สอวช. TDRI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งยกร่างพิมพ์เขียวการปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง กฎหมายและงบประมาณ พร้อมทั้งยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และขอให้นำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อปัญหาและจุดอ่อน เพื่อพัฒนาเพิ่มศักยภาพ บุคลากร หน่วยงาน และเทคโนโลยีของ สทนช. ให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่ม และคณะอนุกรรมการจังหวัด จำเป็นต้องเร่งดำเนินการคู่ขนานในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ทั้งนี้ ขอให้เน้นความสำคัญ ข้อมูลและนวัตกรรม รวมทั้งความต้องการประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายแผนงานไปพร้อมกัน