×

ผลสำรวจจาก Google เผย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มียูนิคอร์นเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ‘เกือบ 2 เท่า’ ในปีนี้ และ ‘ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต’

17.11.2021
  • LOADING...
ยูนิคอร์น

ในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเข้าสู่โลกดิจิทัล ตั้งแต่ความบันเทิง การศึกษา ไปจนถึงการเงิน ล่าสุด Google ร่วมมือกับบริษัทกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์อย่าง Temasek และบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกอย่าง Bain & Company รวมถึงบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย ในการสำรวจและรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้ และแนวโน้มเศรษฐกิจในโลกดิจิทัล 

 

โดยสำรวจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งก่อนโควิด ทั้ง 6 ประเทศนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 290 ล้านคน และจากการแพร่ระบาดในปี 2020 ทำให้มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคน และยังไม่หยุดโต โดยในครึ่งปี 2021 มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านคน ซึ่งในไทยเองมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด อยู่ที่ 9 ล้านคน 

 

ในด้านอีคอมเมิร์ซ ผลสำรวจพบว่า 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย มีประสบการณ์การซื้อของออนไลน์ ซึ่งเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้นที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 97% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีประสบการณ์การซื้อของออนไลน์อยู่ที่ 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดใน 6 ประเทศที่สำรวจ 

 

ทาง Google คาดว่าอีคอมเมิร์ซจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในอนาคต ซึ่งภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตขึ้นถึง 68% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.8 แสนล้านบาทในปี 2021 และคาดว่าจะแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.1 ล้านล้านบาท ในปี 2025

 

สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ใช้รายใหม่ในไทยที่ซื้อของออนไลน์มาจากพื้นที่นอกหัวเมืองหลักถึง 67% แสดงให้เห็นว่าโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ ในโลกดิจิทัลสามารถเข้าถึงผู้ใช้ในประเทศไทยได้เป็นวงกว้าง ไม่ใช่เเค่ผู้ใช้เมืองเท่านั้น

 

ทางด้านของผู้ค้าออนไลน์เองจำนวน 1 ใน 3 บอกว่าเขาจะไม่สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตโควิดนี้ไปได้เลย หากไม่มีแพลตฟอร์มทางดิจิทัลเหล่านี้

 

การเติบโตของอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลักๆ เป็นผลมาจากการระบาดใหญ่และล็อกดาวน์ ส่วนในไทยเอง โดยเฉพาะสินค้าประเภทของใช้ในบ้าน มีการสั่งผ่านออนไลน์เติบโตขึ้นมากในปีนี้ นอกจากนั้นยังส่งผลให้ภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.5 หมื่นล้านบาท

 

โดย 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่ตอบว่า จะยังคงในบริการทางออนไลน์เหล่านี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากบริการเหล่านี้ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตของพวกเขา และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาไปแล้ว

 

ทางด้านของสื่อออนไลน์ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 29% โดยมีมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.4 แสนล้านบาทในปี 2021 นอกจากนี้ยังพบว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดทำให้มีเกมเมอร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการซื้อเกมและใช้จ่ายในเกมเป็นตัวขับเคลื่อน 

 

ในส่วนของบริการทางการเงินดิจิทัล ไทยมีการใช้บริการที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกบริการ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินออนไลน์ มีการใช้ถึง 92% ของผู้ที่ขายสินค้าออนไลน์ การโอนเงินออนไลน์อยู่ที่ 76% การซื้อประกันออนไลน์อยู่ที่ 75% และการกู้เงินออนไลน์ 73% ของผู้ที่ขายสินค้าออนไลน์

 

ในส่วนของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ อย่างการจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบินทางออนไลน์ยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดว่าอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ของผู้บริโภค และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน อย่างในสิงคโปร์ที่เคยมีการทำเที่ยวบินสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว หรือ Vaccinated Travel Lanes (VTL) ไปยังเยอรมนี โดยมีผู้ที่สนใจในเที่ยวบินนี้จากการค้นหาข้อมูลผ่าน Google เพิ่มขึ้นถึง 700% หลังการประกาศ

 

ทางด้านนักลงทุนต่างๆ มองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนงดงามในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการด้านการเงินดิจิทัลที่ยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ให้เข้ามาลงทุน โดยคาดว่าการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2021 จะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในปี 2020 

 

ซึ่งในครึ่งปีแรกของ 2021 ไทยมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นถือกําเนิดขึ้นแล้วถึง 3 ตัว ถือเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนในบริการดิจิทัลต่างๆ ที่เติบโตขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) เป็นต้น 

 

จากเดิมที่สตาร์ทอัพยูนิคอร์นต่างๆ จะกองกันอยู่ที่สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ในปีนี้เริ่มเห็นการกระจายตัวของยูนิคอร์นเพิ่มขึ้นมาก โดยในปี 2020 มียูนิคอร์นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 12 บริษัท แต่ในครึ่งปีแรกของ 2021 มีถึง 23 บริษัท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเลยทีเดียว

 

จากการสำรวจ คาดการณ์ว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เศรษฐกิจดิจิทัลจะโตถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 32 ล้านล้านบาท ในปี 2030 โดยปัจจัยที่จะขับเคลื่อนให้ไปถึงได้เร็วยิ่งขึ้นมีดังนี้ บริการการชำระเงินออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็ว, การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ, การสนับสนุนเงินทุน, โครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุม, ความเชื่อใจในบริการของผู้บริโภค และบุคลากรที่มีทักษะในเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจัยด้านบุคลากรนี้เป็นปัจจัยที่ไทยยังต้องพัฒนาต่อไป จากทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลและเอกชนเอง ส่วนในด้านปัจจัยอื่นๆ ไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ดี

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising