เคยไหม เวลาเตรียมตัวจะเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศทีไร ต้องเปิด Google Street View ขึ้นมาสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ท่องเที่ยว ถนนหนทางในละแวกที่พัก เพื่อวางแผนการเดินทางทุกครั้ง
สารภาพตามตรงว่า เราเองก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้ที่ชื่นชอบ Google Street View วางแผนการเดินทางไม่แพ้กัน และเชื่อว่าหลายๆ คนก็น่าจะเป็นเหมือนเราด้วย
Google Street View คือหนึ่งในฟีเจอร์อำนวยความสะดวกบน Google Maps ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานได้เห็นภาพสถานที่ต่างๆ โดยรอบแบบ 360 องศา สามารถเลือกเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้ายหรือขวาไปตามเส้นทางได้อิสระ เริ่มเปิดให้ใช้ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2007 หรือ 12 ปีที่แล้ว ปัจจุบันครอบคลุมการใช้งานใน 87 ประเทศทั่วโลก
ส่วนในประเทศไทยเริ่มเปิดให้ใช้ครั้งแรกปี 2011 ตามหลัง Google Maps มาติดๆ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อสัก 8 ปีที่แล้ว หลายคนน่าจะเคยเห็นรถสีเขียวสะดุดตา พร้อมแท่งเสารูปทรงประหลาดออกวิ่งตามท้องถนนประเทศไทยอยู่บ่อยๆ เพราะมันคือรถที่ Google ใช้เก็บสำรวจข้อมูลแผนที่ภาพ Street View นั่นเอง
THE STANDARD เดินทางมายังออฟฟิศ Google ประเทศไทย ย่านเพลินจิต โดยใช้ Google Street View ร่วมพูดคุยกับ ชวิน สระบัว Google Street View Lead และ สายใย สระกวี Head of Communications and Public Affairs แบบเอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อถามถึงวิธีการทำงาน เป้าหมาย และความตั้งใจสูงสุด ไปจนถึงเรื่องราวเบื้องหลังการเก็บข้อมูล ก่อนจะออกมาเป็นแผนที่ยอดนิยมให้เราใช้กันในปัจจุบัน
Google Street View กับเป้าหมายแพลตฟอร์มข้อมูลแผนที่โลกขนาดยักษ์
ย้อนกลับไปในช่วงราวเดือนมีนาคมปี 2001 Google Street View ในวันนั้นยังเป็นแค่โปรเจกต์วิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยหนึ่งในศึกษาเจ้าของโครงการเล่าว่า แลร์รี เพจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ได้นำวิดีโอเทปที่ถ่ายไว้ขณะตระเวนขับรถรอบอ่าวซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย มาให้พวกเขาดู พร้อมมอบโจทย์ที่ท้ายด้วยการแปลงวิดีโอดังกล่าวเป็นภาพเพียงไม่กี่ภาพให้ได้
ต้องขอบคุณลูกบ้าและความใจกล้าของนักศึกษากลุ่มนี้ที่ตอบรับคำเชิญของเพจทันที โดย Google เป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัยในปี 2002 ก่อนจะนำเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี ‘ภาพพาโนรามาหลากมุมมอง (Multi-Perspective Panoramas)’ มาใช้ วิธีการคือ นำรูปถ่ายหลายๆ ใบในมุมกว้างของสถานที่มาเรียงร้อยต่อกัน
บทสรุปโครงการวิจัยนี้เสร็จสิ้นลงในปี 2006 ส่วนตัวเทคโนโลยีก็ลงเอยด้วยการนำเข้าไปต่อยอดเป็น Google Street View ในที่สุด
กลับมาที่ประเทศไทย สายใย สระกวี เล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นไอเดียบรรเจิดของ แลร์รี เพจ เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า นอกเหนือจากแผนที่ Google Maps พวกเขาควรจะมีภาพสถานที่จริงให้ผู้ใช้งานจับต้องได้ และให้เห็นว่า สถานที่ที่กำลังจะเดินทางไปมีหน้าตาลักษณะอย่างไร หรือแม้แต่มีจุดสังเกตใดอยู่บริเวณรอบ
“วิสัยทัศน์การพัฒนา Google Maps และ Street View คือให้บริการค้นหาข้อมูลแผนที่ทั่วโลกคล้ายๆ กับเสิร์ชเอนจิน เพราะภารกิจของบริษัทคือ ให้ข้อมูลค้นหาเส้นทาง ถนน และแผนที่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปมากที่สุด เป้าหมายคือ เพื่อให้ผู้ใช้ได้เห็นภาพสถานที่บนโลกนี้ได้ชัดเจนที่สุดว่าบริเวณนั้นๆ หรือจุดนั้นมีหน้าตาหรือรายละเอียดอย่างไร”
หลัง 8 ปี ของการเปิดให้บริการในไทยเต็มตัว ปัจจุบันข้อมูลแผนที่ของ Google Street View ครอบคลุมการใช้งานพื้นที่ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยแล้ว แถมตัว Street View ยังรองรับการใช้งานในตัวอาคารและศูนย์การค้าบางแห่งแล้ว เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น (ศูนย์การค้าส่วนใหญ่ตามแนวถนนสุขุมวิทจะมีฟีเจอร์ใช้งาน Indoor Street View แทบทั้งนั้น)
สายใยบอกว่า “Indoor Google Street View เริ่มด้วยคอนเซปต์ที่ว่า เมืองไทยเป็นเมืองนักท่องเที่ยว ตัวเลขการประเมินจากหลายๆ สถาบันก็ชี้ให้เห็นว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยเยอะ แต่การมาท่องเที่ยวส่วนใหญ่ นักท่องเที่ยวจะรู้จักแค่ว่า นี่คือห้างสรรพสินค้าบนเส้นสุขุมวิทนะ ไม่รู้ว่าเซ็นทรัลเวิลด์ต่างจากพารากอนอย่างไร หรือพารากอนต่างจากเอ็มโพเรียมอย่างไร
“การมี Indoor Google Street View ทำให้พวกเขาสามารถวางแผนการเดินทางและช้อปปิ้งได้ง่ายขึ้น โดยช่วงแรกๆ ที่เปิดให้ใช้งาน จะตั้งเป้าไปที่ผู้ใช้กลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะเราอยากจะช่วยสนับสนุนฝั่งธุรกิจการท่องเที่ยวให้เติบโตในประเทศไทยด้วย แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันมันก็มีประโยชน์กับผู้ใช้งานคนไทยเหมือนกัน”
40-200 กิโลเมตรต่อวัน กับกิจวัตรการสำรวจแผนที่ประเทศไทย
อย่างที่บอกว่า การสัมภาษณ์ครั้งนี้เอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ เพราะโดยปกติแล้ว ทีม Street View จะไม่ค่อยเปิดหน้าให้สัมภาษณ์กับสื่อสักเท่าไร แม้แต่จำนวนทีมงานเบื้องหลังที่เก็บข้อมูล Google ก็ยังเลือกเก็บเป็นความลับไม่ให้ใครได้รู้ด้วยซ้ำ
ชวิน หัวหน้าทีม Street View เล่าให้เราฟังว่า ภารกิจหลักของทีมในแต่ละวันคือ เก็บภาพถนนหนทางในประเทศไทยให้ได้มากที่สุด มีเป้าหมายชี้วัดจากระยะทางกิโลเมตร ไม่ใช่จำนวนภาพเหมือนช่างภาพปกติทั่วไป เช่น หากสำรวจด้วยรถยนต์ในกรุงเทพฯ เป้าหมายที่ควรทำได้ต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 40-50 กิโลเมตร เนื่องจากข้อจำกัดจากสภาพการจราจร ในกรณีที่สำรวจในต่างจังหวัดจะตั้งเป้าหมายที่ควรทำได้ต่อวันอยู่ที่ราว 100-200 กิโลเมตร
“เวลาวางแผนลงพื้นที่ ต้องเตรียมตัวกันเป็นเดือน พอจะเดินทางออกไปทำงานตามต่างจังหวัดหรือลงพื้นที่ ทีมงานจะมีเป้าหมายในหัวอยู่แล้วว่า แต่ละวันอยากเก็บภาพเส้นทางให้ได้กี่กิโลเมตร ไม่ได้นับเป็นจำนวนภาพ ส่วนวิธีเตรียมตัวก็จะคล้ายๆ ช่างภาพ ต้องตรวจเช็กอุปกรณ์ โดยเฉพาะเลนส์และตัวกล้อง”
สายใยเสริมว่า ทุกครั้งที่ทีมงานสตรีทวิวจะลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลภาพแผนที่ จะต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ว่าจะไปจังหวัดใด เมืองไหน โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ภูมิอากาศและภูมิประเทศ สมมติในกรณีที่ภาคเหนือมีหมอกหรือควันพิษ PM2.5 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเก็บข้อมูล ภาคใต้มีมรสุมเข้า ทีมงานก็ต้องเลือกเปลี่ยนแผนไปเก็บข้อมูลที่ภูมิภาคอื่นๆ แทน
มองแบบนี้ก็ดูเหมือนว่า สตรีทวิวน่าจะเป็นอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่ เพราะนอกจากจะไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันแล้ว ทุกคนยังมีโอกาสได้ทำงานไปด้วยเที่ยวประเทศไทยท้ัง 77 จังหวัดไปในเวลาเดียวกัน
“ปกติ Google เป็นบริษัทที่คนอยากมาทำงานด้วยอยู่แล้ว ไม่ต้องเจาะจงเป็นตำแหน่งนี้โดยเฉพาะ เพราะทุกตำแหน่งก็มีความสนุกและความท้าทายของมันเอง จริงๆ แล้วงาน Google Street View จะหนักด้วยซ้ำ สันโดษ ต้องไปสถานที่เดิมๆ ซ้ำๆ มันไม่ได้เหมือนไปเที่ยวตลอดเวลาหรอก ไม่สนุก คนทำต้องใจรัก ขยัน พร้อมจะทำงานร่วมกับเรา เวลาทำงาน ขับรถลงพื้นที่ก็ต้องขับช้าๆ เพื่อเก็บภาพให้ได้มากที่สุด
“ส่วนใครที่อยากทำงานในทีม Street View เราไม่ได้จำกัดว่าต้องจบจากสายงานอะไร เพราะวัฒนธรรมของ Google เวลาสัมภาษณ์พนักงานจะมองจากหลายๆ องค์ประกอบมากกว่า ต้องดูว่าเขามีความสามารถในการทำงานด้านนี้ไหม ไม่จำเป็นว่าต้องจบการศึกษาจากสายท่องเที่ยวมา แต่ขอคนที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกัน”
Trekker นวัตกรรมเก็บข้อมูลสะพายหลังน้ำหนัก 25 กิโลกรัม
อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนน่าจะไม่เคยรู้มาก่อนคือ นอกจาก Google Street View จะใช้รถยนต์เก็บข้อมูลแล้ว ปัจจุบันพวกเขายังพัฒนานวัตกรรมที่เรียกว่า Trekker เครื่องมือเก็บภาพขนาดกะทัดรัดแบบสะพายหลัง เพื่อใช้ในสถานที่ที่รถยนต์เข้าไม่ถึง เช่น ตรอก ซอก ซอย เป็นต้น และมองไปมองมาก็มีหน้าตาคล้ายอุปกรณ์ของทีมสำรวจผี โกสต์บัสเตอร์อยู่ไม่ใช่น้อย!
ด้านบนตัวเครื่องที่มีลักษณะเป็นวงกลมคือ กล้องถ่ายรูปพร้อมเลนส์จำนวน 15 ตัว ที่หันไปในทิศทางที่แตกต่างกัน พร้อมถ่ายภาพ 15 ภาพ ครอบคลุม 360 องศา เมื่อผู้สำรวจบันทึกภาพแล้ว สายที่เชื่อมต่อกับกล้องจะส่งภาพลงมายังคอมพิวเตอร์ (ฐานอุปกรณ์) เพื่อบันทึกในฮาร์ดดิสก์ แล้วนำไปประมวลผลต่อกับข้อมูลตำแหน่งและสถานที่ในลำดับถัดไป
ไม่รอช้า เราขออนุญาตทีมงาน Street View สะพาย Trekker ที่ว่านี้ทันที แต่สะพายอยู่ได้ไม่นานก็ต้องขอวางลง เนื่องจากเจ้าเครื่อง Trekker มีน้ำหนักมากถึง 25 กิโลกรัม เราจึงไม่แปลกใจเลยที่ทีมงานส่วนใหญ่จะมีร่างกายกำยำมากกว่าพนักงาน Google ปกติทั่วไป
ชวิน บอกว่า “Trekker จะใช้กับพื้นที่ที่รถเข้าไปไม่ถึง น้ำหนักต่อเครื่องอยู่ที่ประมาณ 25 กิโลกรัม แต่ไม่เชิงว่าผู้ใส่จะต้องแบกทั้งวัน ด้วยลักษณะตัวเครื่อง พื้นที่การทำงาน และความเร็วของฝีเท้าผู้เดินสำรวจ วันหนึ่งถ้าเก็บได้ระยะทาง 10 กิโลเมตร ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว เป็นสเกลที่ใหญ่มากถ้าเทียบกับถนนทั่วไป (ใช้รถยนต์สำรวจ)”
นอกจากนี้ Google ยังได้ร่วมมือกับสถานศึกษาและมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในโครงการ Loaner Program เพื่อให้นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ได้หยิบยืมอุปกรณ์ Trekker ไปลองเดินสำรวจพื้นที่จริง แล้วเก็บภาพพร้อมอัปโหลดลง Street View โดยวิธีการคือ สถาบันศึกษาจะต้องเสนอโปรเจกต์เข้าไปยัง Google ว่าต้องการจะไปสำรวจพื้นที่ ณ จุดใด
มุมมองที่เปลี่ยนไปของชาวบ้าน และความในใจจากทีม Google Street View
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาของ Google พัฒนาจนเป็นที่รู้จักจากผู้ใช้งานมากขึ้น และพบว่า มันสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตของพวกเขาได้จริง ผลลัพธ์ที่ได้จึงพลอยทำให้ทีมงาน Google Street View ในปัจจุบัน ได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดีในทุกครั้งที่ปฏิบัติงานลงสำรวจพื้นที่ไปด้วย
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานนี้คือ พบว่า ช่วงแรกๆ คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าเรามาทำอะไร แต่เมื่ออธิบายว่าเราทำไปเพื่ออะไร เขาจะน่ารักกับเรามาก ชาวบ้านบางคนบอกผมว่า “อ้าว มาทำแผนที่เหรอ ถ้าอย่างนั้นช่วยเอาร้านลุงกับร้านป้าขึ้นไปด้วยนะ” เราเจอความน่ารักของคนเวลาที่เราลงพื้นบ่อยมาก ถ้าเป็นเจ้าของร้าน ผู้ประกอบการธุรกิจ เขาก็จะเข้าใจว่าเรามาช่วยให้ร้านเขาอยู่บนแผนที่
“ครั้งหนึ่ง ตำรวจเคยโบกรถ Google Street View ของผมให้หยุด แล้ววานให้ช่วยเข้าไปถ่ายภาพตรอก ซอก ซอยต่างๆ เพราะส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้อุปกรณ์ของเราเพื่อดูตำแหน่งสถานที่ต่างๆ สิ่งที่อยากฝากถึงผู้ใช้งานทุกคนก็คือ ฝากให้ใช้กันเยอะๆ ครับ เพราะว่าทีมงานทุกคนตั้งใจทำกันมาก” ชวินบอกกับเรา
ส่วนสายใยทิ้งท้ายว่า ในมุมเทคโนโลยี Google ประเทศไทยจะพัฒนานวัตกรรม และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เก็บข้อมูลแผนที่ Street View อยู่ตลอดเวลา พร้อมกันนี้ก็จะพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่ทำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เสมอ เหมือนที่ Google ในบางประเทศทำงานร่วมกับสถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ (Google Cultural Institute) นำ Trekker เข้าไปเก็บสำรวจภาพศิลปะแบบ 360 องศา ภายในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และหากมีไอเดียแปลกใหม่ Google ประเทศไทยก็จะพยายามนำ Street View เข้ามาใช้ แล้วทำให้ใกล้ตัว เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยมากที่สุด
กว่า 8 ปี ของการเก็บข้อมูล และเปิดให้บริการ Google Street View เต็มตัว ปัจจุบันเราน่าจะพูดได้เต็มปากแล้วว่า แพลตฟอร์มของพวกเขามีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานทั่วโลกในหลากหลายด้าน ซึ่งน่าสนใจว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ Google จะพัฒนาฟีเจอร์การใช้งานบน Street View ให้ล้ำหน้าและโดดเด่นแค่ไหน เพราะเมื่อไม่นานมานี้ Google ก็เริ่มนำ AR มาใช้กับแผนที่นำทางในกลุ่มผู้ใช้งานบางรายแล้ว
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล