×

Google เล็งหาพลังงาน ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR’ เทคโนโลยีใหม่ที่ไทยเร่งศึกษา อนาคตอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมพลังงานสะอาดและเข้ามาทดแทนถ่านหิน?

04.10.2024
  • LOADING...
Google

เบื้องหลังที่แลกมาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปัจจุบันนั้นอาจต้องแลกมาด้วย ‘ไฟฟ้ามหาศาล’ แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาคือการใช้พลังงานที่สูงขึ้น นำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในที่สุด จึงเป็นประเด็นอันท้าทายสำหรับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ต้องมองหาแหล่งพลังงานสะอาด โดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไทยกำลังเร่งศึกษาและอยู่ในร่างแผน PDP  

 

Sundar Pichai ซีอีโอบริษัทระดับโลกอย่าง Google กล่าวกับ Nikkei Asia ที่กรุงโตเกียวว่า ขณะนี้ Google กำลังพิจารณาวิธีนำไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ป้อนให้กับเทคโนโลยี Data Center, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล 

 

โดยแผนดังกล่าวของ Google นั้นจุดประกายการพัฒนาแหล่งพลังงานลดคาร์บอนอีกครั้ง ซึ่งบริษัทจะเพิ่มการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อน (Solar and Thermal) ให้มากขึ้น

 

หลังจากที่มีการเพิ่มการลงทุน Data Center เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เชิงสร้างสรรค์ให้ดียิ่งขึ้น โดย Alphabet บริษัทแม่ ได้เพิ่มเงินลงทุนประมาณ 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์จากกระแสเงินสดในช่วงไตรมาสที่ 2

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

“นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเราที่มีเทคโนโลยีพื้นฐานชิ้นเดียวที่ครอบคลุมทุกสิ่งที่เราทำในปัจจุบัน และเราจะมุ่งไปที่การใช้ AI เชิงสร้างสรรค์ ผมคิดว่านี่คือโอกาสที่จะทำได้ดี เพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเรื่องของพลังงานสะอาด” เขากล่าว

 

แม้มีคำวิจารณ์จากบางฝ่ายที่ว่า บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ลงทุนด้าน AI มากเกินไป แต่เขามองว่า “ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกๆ แพลตฟอร์ม คุณอาจลงทุนอย่างไม่สมส่วนในช่วงแรก จากนั้นคุณก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพตามมาในภายหลัง” Sundar กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม Google ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 แต่ทว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในปี 2023 นั้นมากกว่าในปี 2019 ถึง 48% เมื่อเทียบเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ 

 

เนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยี AI แม้มีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ แต่กลับถูกมองเป็นผู้ร้าย เพราะเทคโนโลยีนี้กินพลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการพยายามรักษาแหล่งพลังงานและลดการปล่อยก๊าซในเวลาเดียวกัน

 

“ปัจจุบันเราจึงมองหาการลงทุนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ และประเมินเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบแยกส่วนขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR)”

 

ทั้งนี้ ยังไม่ระบุชัดว่า Google จะเริ่มจัดหาไฟฟ้าที่ผลิตจากนิวเคลียร์ที่ไหนและเมื่อใด แต่บางส่วนอาจมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทและ Amazon ซึ่งเป็นคู่แข่งด้าน Cloud Computing


หากย้อนไปในช่วงเดือนมีนาคม Amazon ตัดสินใจจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะที่ในเดือนกันยายนมีการประกาศว่า Microsoft จะจัดซื้อไฟฟ้าจากโรงงาน Three Mile Island ที่รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งโด่งดังจากเหตุระเบิดบางส่วนในปี 1979 เกิดก๊าซกัมมันตรังสีจำนวนมากออกสู่บรรยากาศเมื่อปี 1979 อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะกลับมาเปิดอีกครั้งและขายพลังงานนิวเคลียร์ให้ Microsoft ภายใต้แผน 20 ปี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

 

ขณะที่ในปี 2022 Google กล่าวว่าจะลงทุน 1 แสนล้านเยน (680 ล้านดอลลาร์) ในญี่ปุ่นภายในปี 2024 เพื่อสร้าง Data Center โดย Google ระบุว่าเห็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตมากในอนาคต จึงมองหาทางเลือกสำหรับการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเป็นตัวเลือกสำหรับกลยุทธ์เหล่านี้ Sundar กล่าว

 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR คืออะไร สำคัญ (กับไทย) แค่ไหน

น่าสนใจว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบแยกส่วนขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) ถูกหยิบยกนำมาพูดถึงบ่อยครั้งในระยะหลัง ถึงขั้นที่ว่าอาจเป็น ‘เทคโนโลยีเปลี่ยนเกมในโลกแห่งพลังงานสะอาด’ 

 

เมื่อมองมาที่ไทย ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าฉบับปรับปรุงที่เรียกว่าแผน PDP 2024 นั้นก็ได้กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งพลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน และที่สำคัญคือมีการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (SMR) ใหม่เข้ามา 

 

โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งต้องพิจารณาภายใต้ 3 เงื่อนไขสำคัญที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ คือ 

 

  1. ความมั่นคงทางไฟฟ้า 
  2. ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  3. ควบคุมต้นทุนค่าไฟให้มากที่สุด

 

เมื่อพูดถึง SMR หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก อาจฟังดูเป็นเรื่องใหญ่และใหม่มาก แต่แท้จริงแล้วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของโลกได้เปิดใช้งานมายาวนานกว่า 70 ปีแล้ว 31 ประเทศทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่า 400 แห่ง และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ปัจจุบันได้พัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง มีความยืดหยุ่น และมีความปลอดภัยสูง

 

วันนี้เมื่อทิศทางของโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โรงไฟฟ้า SMR จึงกลายเป็นที่จับตามอง โดยคาดหมายว่า SMR จะเป็นทางออกของพลังงานสะอาดที่จะมาแทนที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต

 

บริษัทพลังงานไทยมุ่งศึกษาโรงไฟฟ้าขนาดจิ๋ว SMR

SMR คือโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใช้ความร้อนที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันแทนการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ให้อยู่ในรูปแบบโมดูล ซึ่งมีกำลังการผลิตน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ต่อโมดูล โมดูลเหล่านี้สามารถผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงาน จึงสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ง่าย ติดตั้งในพื้นที่ได้เร็ว ช่วยลดเวลาการก่อสร้างจาก 5-6 ปี เหลือเพียง 3-4 ปี ที่สำคัญคือมีความยืดหยุ่นสูง สามารถลดกำลังการผลิต ทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องผ่านการพิจารณาในทุกมิติอย่างรอบด้าน

 

ล่าสุด THE STANDARD WEALTH ได้รับข้อมูลมาว่า มีหลายบริษัทพลังงานของไทยกำลังเร่งศึกษาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (SMR) ไม่ว่าจะเป็น ราช กรุ๊ป, บ้านปู, ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  

 

โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ปตท. ศึกษา โดยระบุว่า การเข้ามาลงทุนในธุรกิจ Data Center ของทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลกจากต่างประเทศ ทั้ง Amazon Web Services (AWS), Google และ HUAWEI คำถามแรกที่มักถูกถามคือ ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องพลังงานสะอาดหรือไม่ 

 

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่หยุดที่จะหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมของประเทศไทยด้วย 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising