กลายเป็นประเด็นร้อนที่ส่งผลกระทบในวงกว้างไปแล้ว เมื่อกูเกิล (Google) รับลูกตามคำสั่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระงับความร่วมมือทางธุรกิจกับหัวเว่ย (Huawei) ส่งผลให้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ของหัวเว่ยที่จะเปิดตัวต่อจากนี้ไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อย่างเป็นทางการจากกูเกิลได้อีกต่อไป จะใช้ได้แค่เวอร์ชันพื้นฐาน Open Source เท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงบริการพิเศษอื่นๆ ของ Google ได้ เช่น Google Play Store, Gmail, YouTube ฯลฯ
ส่วนผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์หัวเว่ยในปัจจุบันจะยังใช้งานอุปกรณ์พร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ตามเดิม ยังใช้ Google Play & Security ได้อยู่ แต่จะไม่สามารถอัปเดตเวอร์ชัน (คล้ายกับสมาร์ทโฟนรุ่นแรกๆ ในอดีตที่ถูกลอยแพ) เริ่มมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้กูเกิลจะตัดขาดความร่วมมือ และการเข้าถึงกับหัวเว่ยทั้งด้านการสนับสนุนเชิงเทคนิค การพัฒนาด้านแอปฯ บริการ และด้านอื่นๆ ร่วมกันในอนาคต
ขณะที่บริษัทผู้ผลิตชิปอย่าง Intel Corp., Qualcomm Inc., Xilinx Inc. และ Broadcom Inc. ก็จำเป็นจะต้องตัดการสนับสนุนด้านฮาร์ดแวร์กับหัวเว่ยเช่นเดียวกัน จนกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และต่างฝ่ายต่างก็ย่อมได้รับผลกระทบกันอ่วมพอๆ กัน ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุดจากประเทศจีน หัวเว่ยยังไม่ออกมาให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติมในกรณีนี้ ส่งผลให้ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยก็เริ่มแสดงความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่พวกตนจะต้องเผชิญกันแล้ว
ที่แน่ๆ คือการตัดสินใจของกูเกิลครั้งนี้ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อความยากลำบากในการทำธุรกิจในอนาคต และการปล่อยสินค้าใหม่ๆ ออกมาเท่านั้น แต่ยังทำให้เส้นทางการขึ้นเป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนโลกในอันดับ 1 อาจจะสั่นคลอน ทั้งๆ ที่ช่วงไตรมาสแรก 2019 หัวเว่ยมีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนโลกเป็นอันดับที่ 2 ที่ 19% อัตราการเติบโตอยู่ที่ +50.3% มากที่สุดในบรรดาแบรนด์สมาร์ทโฟนทุกเจ้า
อันที่จริงหลายฝ่ายมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหัวเว่ยในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องที่เหนือการคาดการณ์สักเท่าไร เพราะสหรัฐฯ และทรัมป์ก็มีความพยายามที่จะบีบผู้ประกอบการโทรคมนาคมจีนทั้งหัวเว่ยและ ZTE มาสักระยะ ตั้งแต่บาดหมางจากปมสงครามการค้าอยู่แล้ว รอเพียงแค่วันที่จะปะทุจนถึงจุดเดือดเหมือนในครั้งนี้ก็เท่านั้นเอง
ถ้ายังจำกันได้ ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เคยมีรายงานข่าวว่าหัวเว่ยกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองเป็นทางหนีทีไล่ในกรณีที่วันใดวันหนึ่งข้างหน้า พวกเขาอาจจะถูกผู้พัฒนาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ทั้งกูเกิล และไมโครซอฟท์ตัดขาดการให้ความร่วมมือ
ริชาร์ด หยู กรรมการบริหารของหัวเว่ย และซีอีโอหัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เยอรมนี Die Welt ไว้ว่า “เราได้เตรียมระบบปฏิบัติการของตัวเองเอาไว้แล้ว เราจะต้องเตรียมพร้อม หากเกิดกรณีที่เราไม่สามารถใช้งานระบบปฏิบัติการเหล่านี้ได้อีกต่อไป นั่นคือแผนสำรองของเรา แต่แน่นอนว่าเรายังสะดวกใจที่จะทำงานร่วมกับระบบนิเวศของกูเกิลและไมโครซอฟท์มากกว่า”
ทางรอยเตอร์สเองก็รายงานเช่นกันว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองไว้รองรับกรณีที่พวกเขาอาจจะถูกกูเกิลแบนห้ามใช้งานแอนดรอยด์เอาไว้แล้ว และเทคโนโลยีบางส่วนเหล่านี้ได้เริ่มนำไปใช้กับบางผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในจีนแล้วเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีการประเมินคร่าวๆ ว่าส่วนแบ่งยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยมาจากในประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่ประมาณ 50% เท่ากัน
กรณีนี้ผู้ใช้งานในจีนที่ 50% อาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก เพราะส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้บริการของกูเกิลกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่กับผู้ใช้งานอีก 50% ที่เหลือต่างหากที่เป็นโจทย์ใหญ่ของหัวเว่ยว่าจะแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้อย่างไร? เพราะหากความบาดหมางประเด็นสงครามการค้ายังไม่คลี่คลาย เทคโนโลยีและระบบปฏิบัติการใหม่ที่หัวเว่ยจะปล่อยออกมาไม่ลงรอยเข้าที่กับพฤติกรรมการใช้งานที่คุ้นเคยของลูกค้า บางทีนี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ ‘ไม่ง่าย’ เลยเมื่อหัวเว่ยอาจจะต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดไว้ด้วยตัวเอง
แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง บางทีในสถานการณ์ที่คับขันเช่นนี้ ถ้าหัวเว่ยรวมถึงบรรดาค่ายสมาร์ทโฟนจากจีนสามารถรวมตัวกันพัฒนา ‘อะไรบางอย่าง’ หรือระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมาได้โดยไม่ต้องง้อกูเกิลอีกต่อไป ก็น่าคิดไม่น้อยว่าผู้ใช้งานทั่วโลกจะเปิดรับมากแค่ไหน แล้วสหรัฐฯ จะมีท่าทีตอบโต้อย่างไร
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.reuters.com/article/us-huawei-tech-alphabet-exclusive/exclusive-google-suspends-some-business-with-huawei-after-trump-blacklist-source-idUSKCN1SP0NB
- thenextweb.com/insider/2019/05/20/report-google-breaks-up-with-huawei-cutting-access-to-android-services-and-apps
- www.cnbc.com/2019/03/15/huawei-has-built-its-own-operating-system-for-smartphones-laptops.html