เว็บไซต์ The Intercept เผยว่ากูเกิลกำลังวางแผนจะเปิดตัวเสิร์ชเอนจินเวอร์ชันประเทศจีนอีกครั้ง รองรับการเซนเซอร์เนื้อหา และคำค้นหาต่างๆ โดยรัฐบาล หลังเคยเปิดตัวเบราว์เซอร์ Google.cn มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2006
กูเกิลเตรียมจะกลับมาเปิดตัวเสิร์ชเอนจินในประเทศจีนอีกครั้ง และในครั้งนี้พวกเขาจะทำการเซนเซอร์ข้อมูลการค้นหาที่รัฐบาลจีนเห็นสมควร ตัวอย่างเช่น จำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklisted Websites) จำกัดคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับคำว่าสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ศาสนา และการประท้วงแบบสันติ
The Intercept เชื่อว่ากูเกิลได้เดินหน้าปัดฝุ่นนำเสิร์ชเอนจินในประเทศจีนกลับมาพัฒนาอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Dragonfly’ ก่อนที่กระบวนการต่างๆ จะดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นราวเดือนธันวาคม หลังซีอีโอของกูเกิล ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีนได้พบปะกัน
ทั้งนี้คาดการณ์เบื้องต้นว่ากูเกิลอาจจะเปิดตัวบริการค้นหาเวอร์ชันประเทศจีนบนระบบปฏิบัติการเวอร์ชันแอนดรอยด์ก่อน โดยทีมวิศวกร และโปรแกรมเมอร์ได้ตั้งชื่อไว้หลากหลายเช่น เหมาไต๋ (Maotai) และหลงเฟย (Longfei) แต่ยังไม่มีกำหนดวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6-9 เดือนต่อจากนี้ ขึ้นอยู่กับการอนุมัติ และการเห็นชอบของรัฐบาลจีน
ปัจจุบันบริการของกูเกิล (นับรวมยูทูบด้วย) เป็นหนึ่งในหลายๆ เว็บไซต์ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลกที่ถูกแบนห้ามให้บริการในประเทศจีนควบคู่กับเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ หลังก่อนหน้านี้ในปี 2006 ที่กูเกิลเคยให้บริการในประเทศจีน จนกระทั่งปี 2010 บริษัทของพวกเขา และบริษัทจากสหรัฐอเมริกาอีกกว่า 20 แห่งต้องยุติการให้บริการลง หลังถูกโจมตีบนโลกไซเบอร์ (ยังให้บริการเวอร์ชันปกติในฮ่องกง)
แต่เพราะกูเกิลเล็งเห็นถึงโอกาสการทำตลาดในประเทศจีนที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ประกอบกับโครงสร้างขั้นพื้นฐานภายในประเทศในด้านอินเทอร์เน็ตเองก็สมบูรณ์แบบ ยังไม่นับรวมกับเสิร์จเอนจินในประเทศอย่าง Baidu ที่ได้รับความนิยมมากๆ ในหมู่ผู้ใช้จนแทบจะครองส่วนแบ่งทางการตลาดแบบเกินครึ่ง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเกิดไอเดียอยากจะกลับมาทำตลาดในประเทศจีนอีกครั้ง
ถึงอย่างนั้นก็ดี เพราะจีนปกครองในรูปแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจึงสามารถชี้ขาดเซนเซอร์เนื้อหาได้ทุกอย่าง รวมถึงจำกัดการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองแม้แต่บนโลกออนไลน์ ซึ่งสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลกันมากที่สุดคือท่าทีของกูเกิลคล้ายจะเป็นการสนับสนุนการกระทำ และเห็นดีเห็นงามกับการจำกัดสิทธิในการแสดงออกของประชาชนของพวกเขา
Photo: Shutterstock
อ้างอิง: