×

Google Maps พัฒนาฟีเจอร์ โชว์ป้าย-ลูกศรนำทางบนหน้าจอด้วยระบบ AR

13.02.2019
  • LOADING...
google-maps-ar

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แอปพลิเคชัน Google Maps เปิดให้ผู้ใช้งานบางรายใช้ฟีเจอร์เสริมใหม่ที่ผนวกเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality) เพื่อสร้างภาพกราฟิกอย่างป้ายหรือลูกศรบอกทางให้แสดงบนหน้าจอผสานไปกับภาพจริงที่ได้จากการเปิดกล้องโทรศัพท์ หวังให้ผู้ใช้หลงทางน้อยลง

 

เรเชล อิมมาน พนักงาน Google หัวหน้าฝ่ายประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Experience) ของฟีเจอร์ดังกล่าวเปิดเผยว่า Google ต้องการมอบความสะดวกสบายให้ผู้ใช้มากขึ้นเวลาต้องดูแผนที่บนหน้าจอสองมิติและเดินทางจริงๆ บนโลก

 

“พวกเราต่างเคยเจอปัญหาจำพวกเดินออกจากรถไฟฟ้าแล้วก็เดินหลงไปเกือบช่วงตึกก่อนจะรู้ทาง เวลาที่ต้องเดินย้อนกลับมาในทางที่ควรไปตั้งแต่แรกมันเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดมาก” เธอกล่าว

 

ทว่าการปรับใช้เทคโนโลยีนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และอีกปัญหาหนึ่งคือการให้แอปพลิเคชันทำงานสอดรับวัตถุหรือสถานที่จริงๆ รอบตัวผู้ใช้

 

หากกดเปิดฟีเจอร์นี้ ผู้ใช้จะเห็นภาพชื่อถนนลอยอยู่กลางอากาศ เมื่อหันไปตามทางที่ควรไปก็จะพบกับลูกศรชี้ทาง และเมื่อเดินตามไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหมายก็จะพบหมุดสีแดงขนาดใหญ่ปักอยู่ อย่างไรก็ตาม ฟีเจอร์นี้ยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาอีกมาก เพราะบางครั้งภาพเสมือนที่ควรจะนำทางผู้ใช้ก็หายไปเอง

 

การระบุตำแหน่งของผู้ใช้และทิศทางที่หันอยู่ถือเป็นอีกเรื่องที่ทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงเทคโนโลยีนี้อย่างมาก

 

โดยปกติแล้วสมาร์ทโฟนจะใช้ GPS และเข็มทิศในเครื่องเพื่อระบุตำแหน่งและทิศทางของผู้ใช้ แต่ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้ในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงที่รบกวนการส่งคลื่นวิทยุเพื่อระบุพิกัด GPS จากดาวเทียมนอกโลก และสัญญาณหรือคลื่นแม่เหล็กจากวัตถุต่างๆ รอบตัวที่ทำให้เข็มทิศอาจทำงานได้ไม่สมบูรณ์

 

นอกจากนี้ Google ยังใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ช่วยพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อใช้แยกแยะตำแหน่งและวัตถุรอบข้างผู้ใช้งาน ซึ่งผนวกเข้ากับฐานข้อมูลสตรีทวิวที่เก็บสะสมมานับสิบปี และฟีเจอร์ยังเปิดให้มีระบบเรียนรู้เอง (Machine Learning) เพื่อให้จำแนกว่าสิ่งใดเหมือนเดิมหรือสิ่งใดที่ไม่ควรนำมาประกอบการคำนวณ อาทิ ต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล

 

ปัจจุบัน Google ยังไม่ระบุว่าจะให้ผู้ใช้งานทั่วไปได้สัมผัสฟีเจอร์ใหม่นี้ได้เมื่อใด คาดการณ์กันว่าหน้าตาของฟีเจอร์อาจจะแตกต่างออกไปเมื่อถึงมือผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X