การแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อสองยักษ์ใหญ่อย่าง Alphabet บริษัทแม่ของ Google กับ Microsoft ต่างประกาศร่วมลงทุน ตลอดจนการให้ทุนนักพัฒนาในการเดินหน้าพัฒนาและทดสอบระบบ AI อย่างกว้างขวางไม่มีปิดบัง โดย Microsoft จับมือ OpenAI ต่อยอด ChatGPT ก่อนที่ในอีกไม่กี่วันให้หลัง Google จะประกาศเตรียมเปิดตัว Bard ปัญญาประดิษฐ์ที่เคลมว่าเร็วกว่า มีประสิทธิภาพกว่า และปลอดภัยกว่า
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยียังก่อให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกเร่งรัดให้นำออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว
Beena Ammanath ผู้นำด้านจริยธรรมเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือของ Deloitte และเป็นกรรมการบริหารของ Global Deloitte AI Institute กล่าวว่า “เรากำลังย้อนกลับไปสู่ยุคโซเชียลมีเดีย” และ “ผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ” มาพร้อมกับทุกเทคโนโลยีใหม่เสมอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Google ต้องกลัวจริงหรือ? เมื่อ Microsoft เกทับว่าเป็นผู้นำวิวัฒนาการยุคต่อไปของอินเทอร์เน็ต หลังเปิดตัว ‘Bing-Edge’ ที่ผสานรวมกับ ChatGPT
- สงคราม ‘AI’ แชตบอตเดือด Baidu เปิดตัว ‘ERNIE Bot’ ท้าชน ‘ChatGPT’ ของ OpenAI และ ‘Bard’ ของ Google
- ยังไม่ช้า (เกินไป) ใช่ไหม? Google เปิดตัว ‘Bard’ แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสู้กับ ChatGPT โดยเฉพาะ
แน่นอนว่า AI Chatbot ก็ไม่มีข้อยกเว้น ก่อนยอมรับว่าขณะนี้ยังมองไม่เห็นแนวป้องกันที่จะรองรับเทคโนโลยีที่เพิ่งตั้งไข่นี้ และเปรียบเทียบบรรดาบริษัททั้งหลายที่นำแชตบอตไปใช้ว่าเหมือนสร้างสวนไดโนเสาร์จูราสสิกพาร์ก ที่แม้จะติดสัญญาณเตือนภัยไว้ที่รั้ว แต่เจ้าบ้านกลับเปิดประตูทุกบานทิ้งไว้
นอกจากนี้ Ammanath เน้นย้ำว่านักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ทำงานเกี่ยวกับ AI ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความลำเอียง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานหลายปี ตลอดจนปัญหาที่น่าเป็นห่วงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกับเทคโนโลยี โดยปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือบอต AI ไม่สามารถแยกความจริงออกจากจินตนาการได้
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของ Microsoft และ Google ทำให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีจีนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เพราะกระตุ้นให้เกิดการเดิมพันเก็งกำไรในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ปฏิวัติวงการ
รายงานระบุว่าเพียง 2 เดือนหลังจากเปิดตัว ChatGPT ซึ่งสามารถสร้างบทความ เรียงความ เรื่องตลก และแม้แต่บทกวี ก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นแอปสำหรับผู้บริโภคที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ได้ผลักดันให้ Alphabet Inc. เจ้าของ Google วางแผนบริการแชตบอตของตัวเองและใช้ปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นสำหรับเสิร์ชเอนจิน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ChatGPT จะยังไม่อาจทะลุกำแพงเข้าถึงประเทศจีน แต่นักลงทุนแผ่นดินใหญ่ยังคงเดินหน้าลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI เช่น Hanwang Technology Co., TRS Information Technology Co. และ CloudWalk Technology Co.
ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรม CSI AI ซึ่งรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ เช่น iFLYTEK Co. เพิ่มขึ้นประมาณ 17% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าดัชนีมาตรฐาน CSI 300 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 6%
รายงานระบุว่า บริษัท AI ในจีนเหล่านี้ไม่มีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับ ChatGPT โดยมีเพียง Baidu เสิร์ชยักษ์ใหญ่ของจีนที่ออกมาประกาศแผนเตรียมจะทดสอบ ‘Ernie Bot’ AI Chatbot ให้เสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม จนส่งผลให้หุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นมากกว่า 15% ในวันอังคารที่ผ่านมา (7 กุมภาพันธ์) ขณะที่หุ้นของ Hanwang Technology ซึ่งผลิตผลิตภัณฑ์ที่เปิดใช้งานการโต้ตอบอย่างชาญฉลาด พุ่งขึ้นถึงขีดจำกัดรายวันที่ 10% ในวันอังคารเช่นกัน
Zhang Kexing ผู้จัดการทั่วไปของ Beijing Gelei Asset Management กล่าวว่า อุตสาหกรรมโดยรวมมีแนวโน้มที่จะเก็งกำไรจากความคาดหวังก่อนแล้วค่อยซื้อขายตามผลลัพธ์จริงในภายหลัง และบรรดาบริษัทในจีนทั้งหลายต่างออกมาเปิดเผยความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ทำให้บรรยากาศของตลาดโดยรวมเป็นไปในทิศทางบวก
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2023/02/06/media/google-microsoft-ai-reliable-sources
- https://www.channelnewsasia.com/business/chatgpt-mania-pumps-chinese-ai-technology-stocks-3259536