×

ธรรมชาติรักษาได้เพียงแค่ ‘ลงมือทำ’ มูลนิธิเอ็นไลฟ ชวนร่วมงาน GSE 2019 ร่วมสร้างสังคมเมืองให้น่าอยู่ด้วยการจัดการ ‘ขยะ’

โดย THE STANDARD TEAM
07.10.2019
  • LOADING...
Good Society Expo 2019

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ปัจจุบันปัญหาธรรมชาติเสื่อมโทรมยังคงเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ธรรมชาติจะเหลือเพียงความทรงจำบนภาพถ่าย
  • มูลนิธิเอ็นไลฟ คือหนึ่งในองค์กรที่มีภารกิจหลักคือส่งเสริม สนับสนุน และปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • งาน Good Society Expo 2019 ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นการร่วมมือกันจากหลากหลายมูลนิธิที่ต้องการให้คนเมืองตระหนักถึงเรื่องที่ต้องจัดการบางอย่างกับสิ่งใกล้ตัว นั่นก็คือ ‘ขยะ’

จากข่าวสถานการณ์วิกฤตทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณที่กำลังส่งเสียงเตือนถึงมนุษย์ทุกคนให้มองเห็นผลการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลเสียถึงธรรมชาติแล้วในวันนี้ 

 

และทันทีที่พูดถึงสถานการณ์ทางธรรมชาติในปัจจุบัน จะรวย สิงห์ไพบูลย์พร จันทร์ทอง กรรมการมูลนิธิเอ็นไลฟ ได้ยกหนึ่งในเหตุการณ์ล่าสุดอย่าง ‘อ่าวมาหยา’ ภายใต้การดูแลของเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ต้องประกาศงดรับนักท่องเที่ยวไปอีกอย่างน้อย 4-5 ปี เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสียหายลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะนักท่องเที่ยวล้น ทำให้ธรรมชาติไม่ได้พักและเสื่อมโทรมลงอย่างน่าตกใจ

 

และแน่นอนว่าอ่าวมาหยาไม่ใช่สถานที่เดียวที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังคงต้องการการจัดการอย่างเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นธรรมชาติที่สวยงามและชายหาดในฝันของใครหลายคนอาจเป็นอันต้องหมดสิ้นลง นี่จึงเป็นที่มาที่องค์กรต่างๆ เกิดขึ้น โดยมีภารกิจหลักคือการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไปเช่นเดียวกับ ‘มูลนิธิเอ็นไลฟ’

 

Good Society Expo 2019

 

จะรวยเล่าถึงจุดเริ่มของมูลนิธิว่า เดิมทีมูลนิธิเอ็นไลฟก่อตั้งเมื่อปี 2554 โดยมีภารกิจหลักคือการส่งเสริม สนับสนุน และปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และสร้างองค์ความรู้ระบบนิเวศอย่างเป็นวิชาการเพื่อนำไปสู่การบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการโดยสร้างการมีส่วนร่วมทั้งในภาครัฐและท้องถิ่น รวมถึงการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายโดยการร่วมเป็นภาคี

 

“เอ็นไลฟเป็นมูลนิธิที่สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม เพราะมองว่าสิ่งต่างๆ ที่เราทำขึ้นมาไม่สามารถทำคนเดียวได้ เราต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญเพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้น”

 

Good Society Expo 2019

 

ผลงานและกิจกรรมที่ผ่านมาของมูลนิธิเอ็นไลฟ

อุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่

ที่ผ่านมามูลนิธิเอ็นไลฟมีโครงการเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติหลากหลายโครงการ เริ่มจากโครงการสร้างแหล่งเรียนรู้ชีวิตสัตว์น้ำและพันธุ์พืชใต้ท้องทะเลในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ที่มูลนิธิเอ็นไลฟร่วมมือกับจังหวัดกระบี่, กองทัพเรือ, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

โครงการนี้เป็นการจัดทำแนวปะการังเทียมจากการวางเรือหลวงปลดประจำการจำนวน 4 ลำคือ เรือหลวงเกล็ดแก้ว (บริเวณเกาะพีพีเล), เรือหลวงโกลำ, เรือหลวงราวี และเรือหลวงตะลิบง (บริเวณเกาะยาวาซำ ตำบลอ่าวนาง) โดยได้ทำการวางเรือหลวงเมื่อเดือนเมษายน 2555 และสิงหาคม 2557

 

นอกจากนี้ข้อมูลงานวิจัยยังพบว่าการจัดทำแนวปะการังเทียมเป็นการช่วยลดผลกระทบและความเสียหายต่อปะการังจากการดำน้ำของนักท่องเที่ยว ซึ่งการดำน้ำ 1 ครั้งมีโอกาสสัมผัสปะการังไม่น้อยกว่า 3-5 กิ่ง และเมื่อการท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น ทำให้ปะการังไม่มีโอกาสฟื้นตัวตามธรรมชาติ

 

โครงการจัดอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศดังนี้

  • ลดจำนวนเรือและความหนาแน่นของนักดำน้ำในบริเวณแหล่งดำน้ำปะการังตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบ ลดความเสียหายของปะการังธรรมชาติ และเปิดโอกาสให้แนวปะการังได้ฟื้นตัวให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
  • เพิ่มพื้นที่ยึดเกาะของตัวอ่อนปะการัง
  • เพิ่มที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และมีผลต่อจำนวนสัตว์ทะเลสำหรับการทำประมงในบริเวณใกล้เคียง
  • เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

 

GSE 2019

 

โครงการบริหารจัดการทรัพยากรหอยชักตีน 

“ไปกระบี่ ไม่กินหอยชักตีนถือว่าไปไม่ถึง” จะรวยเกริ่นก่อนจะพาไปรู้จักโครงการบริหารจัดการทรัพยากรหอยชักตีน

 

โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการร่วมด้านทรัพยากรชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมทะเลอันดามัน หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่รู้จักกันคือ ‘โครงการบริหารจัดการทรัพยากรหอยชักตีน’ เป็นหนึ่งในโครงการดีๆ ที่มูลนิธิเอ็นไลฟร่วมมือกับชาวบ้านบ้านเกาะจำ ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการ โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยดำเนินการ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมประมง, สำนักงานจังหวัดกระบี่ และอีกหลายหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกาะสร้างแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลรวมถึงหอยชักตีน ซึ่งจะทำให้หอยชักตีนมีปริมาณเพียงพอต่อการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาจังหวัดกระบี่ในอนาคต

 

เนื่องจากหอยชักตีนมีถิ่นที่อยู่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศเขตร้อน สำหรับในประเทศไทยนั้นแพร่กระจายทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดกระบี่ จนถึงกับมีการกล่าวเปรียบเทียบว่าใครมาเยือนกระบี่แล้วไม่ได้กินหอยชักตีนก็เหมือนกับยังมาไม่ถึง

 

ดังนั้นเมื่อมีการนำหอยชักตีนขึ้นมาบริโภคอย่างต่อเนื่องโดยขาดการบริหารจัดการที่ดี อาจทำให้ปริมาณหอยชักตีนในแหล่งธรรมชาติลดน้อยลง เพราะหอยไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตอาจจะขาดแคลนและสูญพันธุ์ไปจากแหล่งธรรมชาติได้

 

ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเอ็นไลฟที่มีภารกิจหลักในเรื่องการดูแล รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยจัดกิจกรรมเพื่อปลุกจิตสำนึกและรณรงค์การบริหารจัดการหอยชักตีน โดยการนำองค์ความรู้จากเจ้าหน้าที่เครือข่ายเข้าไปให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการหอยชักตีนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้พันธุ์หอยชักตีนไม่สูญพันธุ์และอยู่ในระบบนิเวศพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันต่อไป

 

GSE 2019

 

ขยับจากต่างจังหวัดสู่การปรับไลฟ์สไตล์คนกรุงด้วยเรื่องง่ายๆ แค่การจัดการ ‘ขยะ’

จากโครงการที่เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้จะสังเกตได้ว่ากิจกรรมและโครงการที่เอ็นไลฟทำจะอยู่ตามต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ และการที่ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงาน Good Society Expo 2019 ในเมืองหลวงแบบนี้จึงเป็นโจทย์ที่ใหญ่ให้มูลนิธิในภาคีเครือข่ายได้คิดกันว่าแท้จริงแล้วปัญหาของคนเมืองคืออะไร ซึ่งท้ายที่สุดได้คำตอบว่าปัญหาใหญ่ของคนเมืองคือ ‘ขยะ’

 

“เรามองว่าตอนนี้มีหลายหน่วยงานมากที่ให้ความสำคัญกับเรื่องขยะ ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ที่เราจะทำในพาวิลเลียนนี้ คือนอกเหนือจากการทำให้ตระหนักแล้ว การทำให้ทุกคนหันมาปฏิบัติ อีกทั้งผู้ที่จัดงาน Good Society Expo 2019 มีเป้าหมายคือทำให้เกิดความกระตือรือร้นของพลเมือง

 

“แต่สำหรับงานนี้เราต้องการให้ทุกคนที่เข้าร่วมเกิดแอ็กชันทันที ชนิดที่ออกจากงานนี้ไปก็สามารถลงมือทำได้ทันทีแบบไม่ต้องรอเวลา เราจึงนำเรื่องของขยะเข้ามาทำให้ทุกคนตระหนักและเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะลงด้วยมือของพวกเขาเอง”

 

GSE 2019

 

โดยในส่วนของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในงาน Good Society Expo ทางมูลนิธิเอ็นไลฟและภาคีเครือข่ายอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์, บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด, โครงการตาวิเศษ, โครงการวน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ร่วมกันคิดและพัฒนา ทั้งยังมีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น บริษัท กรีนสปอต จำกัด, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO, โครงการป่าครอบครัว ‘บ้านมะกะโท’, BIGTrees Project, Pannar Shop, ผึ้งน้อยนักสู้, ศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน, Precious Plastic, Ecobricks With Kaew, กลุ่มนักสื่อความหมายธรรมชาติ Nature Fees, Nature Plearn Club ฯลฯ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ

 

  • การสำรวจตัวเองเกี่ยวกับพฤติกรรมการลดและการสร้างขยะ (Eco-self Test)
  • การแยกประเภทขยะ (Trash is All Around)
  • การจัดการกับขยะสไตล์คนเมือง (24/7 To Shop Plastic)
  • การรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (Green Lifestyle, Green City)

 

แรกเริ่มคือการให้ผู้เข้าร่วมงานได้สำรวจตัวเองถึงพฤติกรรมการจัดการและความรู้เกี่ยวกับพลาสติก เพื่อให้ทบทวนตัวเองว่าเรารู้เรื่องขยะมากน้อยเพียงใด 

 

เช่น คุณรู้หรือไม่ว่าขยะแต่ละชิ้นควรจัดการอย่างไร และหากต้องทิ้ง ควรทิ้งใส่ถังขยะสีอะไร นอกจากผู้ร่วมงานจะได้ทบทวนตัวเองแล้วยังเป็นการสร้างความเข้าใจถึงข้อดีในการแยกขยะว่าแค่ลงมือทำก็สามารถส่งผลดีต่อไปในภายภาคหน้าได้อีกมาก

 

“เราอยากให้ทุกคนรู้ว่าการทำอะไรที่ง่ายๆ อย่างการแยกขยะนั้นถือเป็นการช่วยโลกนี้ได้เยอะมาก และเราต้องการทำให้เห็นภาพมากขึ้นด้วยการบอกว่าขยะที่แยกแล้วจะไปไหน ซึ่งเราจะมีภาคีอย่าง ‘มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์’ และอีกมากมาย คอยบอกว่าขยะแต่ละชนิดไปไหนบ้าง เช่น นำไปรีไซเคิล หรือของสดก็นำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้ ซึ่งโครงการป่าครอบครัว ‘บ้านมะกะโท’ ดำเนินการโดยมูลนิธิเอ็นไลฟ ได้นำองค์ความรู้เรื่องนี้มาบอกต่อเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าหากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เกิดการแยกขยะ ขยะเหล่านั้นก็ยังนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย”

 

GSE 2019

 

ดังนั้นในงานที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่กว่า 50% ของพาวิลเลียนจะถูกจัดให้เป็นพื้นที่เวิร์กช็อป เพราะนอกจากการสร้างความตระหนักแล้ว มูลนิธิยังต้องการให้ผู้ร่วมงานได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นของที่ได้จากการทำกิจกรรมไปจนถึงสินค้าภายในงานประเภท Eco Shop ที่จะทำให้ทุกคนหันมาปรับวิถีชีวิตใหม่ด้วยการใช้ของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

เหนือสิ่งอื่นใด ในงานนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่กำลังสร้างทางเลือกให้กับคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกับคนที่เข้ามาร่วมงานพาวิลเลียนแห่งนี้ เพื่อให้ตระหนักถึงเรื่องง่ายๆ ว่าแค่ลงมือทำ ‘Let’s do it’ โลกใบนี้ก็จะได้รับการเยียวยาทีละเล็กทีละน้อย

 

‘โลกนี้ต้องการคนที่กล้าเปลี่ยนความคิดและลงมือทำทันที’

 

“สุดท้ายนี้ในฐานะที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม อยากบอกกับคนรุ่นใหม่ว่าเราเชื่อว่าพลังความคิดของเด็กรุ่นใหม่เป็นพลังที่ดี เพราะฉะนั้นเมื่อคิดสิ่งดีๆ ออกมาแล้ว นอกจากจะคิดให้สุดแล้วต้องลงมือทำไปให้สุด แล้วเราจะเห็นผลลัพธ์นั้นเอง”

 

ทั้งนี้งาน Good Society Expo 2019 จะมีขึ้นในวันที่ 10-13 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งนอกจากความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ภายในงานยังมีประเด็นน่าสนใจที่พร้อมจะสร้างเรื่องราวดีๆ ผ่านพลังบวกทั้ง 5 ประเด็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม, การต่อต้านคอร์รัปชัน, คุณภาพชีวิตระยะสุดท้าย, เด็ก-เยาวชน และคนพิการ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X