×

ความจริงจาก ‘หมอ’ กับระบบใหม่บัตรทอง กทม. เมื่อ ‘คนไข้’ กลายเป็นเครื่องมือคลินิก vs. สปสช.

13.03.2024
  • LOADING...
บัตรทอง

ระยะเวลาเกือบครึ่งเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับรูปแบบการคำนวณการเบิกจ่ายเงินแก่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นราว 300 แห่งในพื้นที่ กทม. จากโมเดล 5 คือจ่ายตามจริง เป็นโมเดล 2 แบบเหมาจ่าย จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมาก

 

THE STANDARD สนทนากับแหล่งข่าว หนึ่งในบุคลากรทางแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เพื่อบอกเล่าความรู้สึกหลังปรับเปลี่ยนการคำนวณการเบิกจ่ายเงินของคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นเป็นแบบเหมาจ่าย 

 

แหล่งข่าวเริ่มบทสนทนาด้วยการอธิบายขอบหน้าที่ของตนเองว่า “การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ผมเป็นหมออัตราจ้างรายวัน ไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าของคลินิก หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเงินใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะเป็นการบอกเล่าปัญหาหน้างานเท่าที่เห็นมาเท่านั้น”

 

บุคลากรทางการแพทย์รายนี้เล่าต่อว่า ตนเองในฐานะแพทย์ผู้รักษา และต้องเขียนใบส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนระบบของ สปสช. นั้น ‘มีปัญหาที่ชัดเจนมาก’ เดิมระบบการส่งตัวแต่ละครั้งคลินิกจะรับเงินตามความจริง เช่น หากคลินิกส่งตัวคนไข้ 1 คน จะได้รับค่าส่งตัวรายละ 200 บาท 

 

แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโมเดล 2 ซึ่งเป็นระบบเหมาจ่ายรายหัว มีลักษณะคล้ายกับโรงพยาบาลชุมชนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ สำหรับการดำเนินการเหมาจ่ายรายหัวในกรณีมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน (แอดมิต) หรือเข้ารับการรักษาด้วยโรคที่เกินศักยภาพในโรงพยาบาลชุมชนก็จะต้องจ่ายเงินแก่โรงพยาบาลที่ส่งตัวไป

 

เมื่อระบบใหม่ให้คลินิกดำเนินการเหมาจ่ายรายหัวเหมือนโรงพยาบาลชุมชน ก็ต้องยอมรับว่าคลินิกไม่มีศักยภาพมากเหมือนโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากในบางครั้งโรงพยาบาลชุมชนยังสามารถรับมือกับผู้ป่วยฉุกเฉินในบางกรณีได้ มากไปกว่านั้นคือคลินิกยังพบปัญหาในระบบใหม่นี้อีกคือ การส่งตัวผู้ป่วยแต่ละครั้งคลินิกจะต้องตามจ่ายค่าส่งตัวอีกกรณีละ 1,600 บาท 

 

“จากระบบเดิมคลินิกเขียนใบส่งตัวแต่ละครั้งจะได้ 200 บาท แต่ระบบใหม่กลายเป็นคลินิกเขียนใบส่งตัวแล้วยังต้องเสียเงินอีก ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือเงินงบประมาณที่จะให้ก็ยังไม่ได้อีก คลินิกจะต้องเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ คลินิกจึงมีนโยบายว่าจะส่งตัวคนไข้ให้น้อยที่สุด”

 

บุคลากรทางการแพทย์รายนี้ยังกล่าวกับ THE STANDARD ต่อว่า ตนเองในฐานะบุคลากรทางการแพทย์เห็นว่าปัญหานี้อาจทำให้ศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยนั้นต่ำลงไป เพราะบางเคสที่ก้ำกึ่งระหว่างจะส่งโรงพยาบาลหรือรักษาที่คลินิกดี ทั้งๆ ที่รู้ว่าส่งโรงพยาบาลอาจได้รับการรักษาที่ดีกว่า ก็ต้อง Hold ไว้ที่คลินิก เพราะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งตัว

 

ส่วนที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีสิทธิ OPD หรือ Out-Patient-Department หมายถึงผู้ป่วยนอกที่สามารถวอล์กอินเข้าไปรักษาที่ใดก็ได้นั้น แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงทางโรงพยาบาลก็ยังเรียกหาใบส่งตัวอยู่เสมอ เรียกได้ว่าสิทธิดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะทางโรงพยาบาลยังคุ้นชินกับการรักษาที่คลินิกจะต้องมีใบส่งตัวเสมอ

 

“ตอนนี้คนไข้กลายเป็นเครื่องมือระหว่างคลินิกและ สปสช.” บุคลากรทางการแพทย์รายนี้กล่าว

 

สำหรับทางออก ณ เวลานี้ บุคลากรทางการแพทย์รายนี้กล่าวว่า ตนเองไม่สามารถมองหาทางออกได้ แต่หากยังมีการใช้ระบบใหม่นี้ต่อไป นั่นหมายความว่าทางคลินิกจะขาดทุน และต่อจากนี้ไปคลินิกก็จะเริ่มปิดตัวมากขึ้น ผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุดคือประชาชน

 

“คนไข้ก็ไม่รู้จะไปไหน ด่านหน้าการรักษาขั้นปฐมภูมิที่กรุงเทพฯ คือคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ดังนั้นหากไม่มีคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เจ๊งหมด ไปไหนไม่ได้ และระบบนี้สร้างความวุ่นวายมาก”

 

ส่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าปัญหาดังกล่าวอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสิทธิบัตรทอง 30 บาท แต่เมื่อมีการยกระดับบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวแล้วจะทำให้ปัญหานี้หายไปนั้น ส่วนตัวแล้ว ‘ไม่ค่อยเชื่อ’ จากที่ได้เล่าเรียนแพทย์มา 6 ปี และศึกษาในระบบสาธารณสุข ระบบนี้ไม่สามารถใช้ได้กับคลินิกอยู่แล้ว

 

แต่การเหมาจ่ายรายหัวนั้น ศักยภาพการดูแลคนไข้ของคลินิกต่ำกว่าโรงพยาบาลชุมชนมาก แอดมิตก็ไม่ได้ ยาบางตัว เช่น ยานอนหลับ Lorazepam (ลอราซีแพม) เป็นยาพื้นฐาน แต่คลินิกก็ยังไม่สามารถจ่ายให้กับคนไข้ หากคนไข้คนหนึ่งนอนไม่หลับ คลินิกก็จะต้องเขียนใบส่งตัวและมีค่าส่งตัว 1,600 บาท เพื่อให้ไปรับการรักษาและรับยาที่โรงพยาบาล เป็นต้น

 

บุคลากรทางการแพทย์รายนี้กล่าวย้ำว่า การพูดครั้งนี้เป็นการพูดแทนคนไข้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างไรบ้าง โดยที่ตนเองไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ เพียงแต่ต้องการสะท้อนปัญหาให้สังคมเห็นเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X