×

ส่องแนวโน้ม ‘ทองคำ’ ปี ‘64 ยังเป็น Safe Haven การลงทุนอยู่หรือไม่ หลังราคาร่วงต่อเนื่องสวนทางบิตคอยน์

18.02.2021
  • LOADING...
ส่องแนวโน้ม ‘ทองคำ’ ปี ‘64 ยังเป็น Safe Haven การลงทุนอยู่หรือไม่ หลังราคาร่วงต่อเนื่องสวนทางบิตคอยน์

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ราคาทองคำล่าสุดร่วงลงมาแตะระดับ 1,780 ดอลลาร์อีกครั้ง ต่ำสุดในรอบประมาณ 2 เดือน 
  • นักวิเคราะห์ทองคำประเมินว่า ปัจจัยกดดันที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่า ‘เฟด’ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไป
  • นักวิเคราะห์ประเมินอีกว่า การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในระยะถัดไปมีความเปราะบางมาก และมีคำแนะนำว่า อาจจะทยอยขายออกไปหากราคาทะลุ 1,800 ดอลลาร์ 
  • ในมุมกลับกัน หากราคาทองคำหลุดระดับ 1,765 ดอลลาร์ จะทำให้ทองคำเข้าสู่แนวโน้มขาลงชัดเจน 
  • ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนของกองทุน ETF ที่เน้นลงทุนในทองคำไหลออกราว 8.1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 135 ตัน

หลังจากที่ราคาทองคำเคยพุ่งทะลุระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 แตะระดับสูงสุดที่ 2,067 ดอลลาร์ กระแสของทองคำก็ดูเหมือนจะจางลงไป พร้อมๆ กับราคาทองคำที่ไหลลงมาต่อเนื่องจนหลุดระดับ 1,800 ดอลลาร์

 

แม้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ราคาทองคำสามารถรีบาวด์กลับไปยืนเหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์ แต่ล่าสุดนี้เราได้เห็นราคาที่ร่วงกลับมาทำจุดต่ำสุดในรอบประมาณ 2 เดือนอีกครั้ง ที่บริเวณ 1,780 ดอลลาร์ 

 

 

การลดลงของราคาทองคำในรอบนี้ อาจเป็นที่แปลกใจอยู่บ้าง หากมองไปยังปัจจัยบวกที่ยังมีอยู่พอสมควร แต่เมื่อลองมองอีกด้านหนึ่ง ก็จะเห็นว่าปัจจัยลบต่อราคาทองคำก็รายล้อมอยู่ไม่น้อยเช่นกัน 

 

เมื่อลองวิเคราะห์ปัจจัยทั้งสองด้านดูแล้ว เบญจมา มาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) สรุปว่า แนวโน้มราคาทองคำในปีนี้มีโอกาสที่จะแกว่งตัวอยู่กรอบประมาณ 1,700-2,000 ดอลลาร์ เสียเป็นส่วนใหญ่ 

 

“เมื่อมองทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบในขณะนี้ เชื่อว่าความหวือหวาของราคาทองคำจะลดลง หากปรับตัวขึ้นก็จะเป็นการขึ้นที่ค่อนข้างเปราะบาง” เบญจมา กล่าวเสริม 

 

สำหรับปัจจัยด้านลบต่อราคาทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ของ YLG ชี้ให้เห็นใน 4 ประเด็น 

 

ประเด็นแรกคือสภาวะ Reflation ซึ่งเกิดจากมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ภายหลังการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มเห็นการคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นในอนาคตไปสู่ระดับที่ตั้งเป้าไว้ 

 

“โดยปกติแล้วเงินเฟ้อจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ แต่เงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับที่ยังอยู่ในการควบคุม กลับเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ เพราะไปหนุนให้บอนด์ยีลด์สูงขึ้น เทียบกับทองคำที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปของยีลด์ เพราะฉะนั้นหากเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงระดับที่น่ากังวล ราคาทองคำก็จะยังไม่ตอบรับกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะนี้” 

 

ประเด็นที่สอง คือการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในระยะสั้นที่ผ่านมา จากก่อนหน้านี้ที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง และลดลงไปแตะระดับ 89.2 ดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นปรับตัวแข็งค่าขึ้น เพราะเศรษฐกิจในยุโรปไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่คิด ประกอบกับบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่ากลับมา 

 

“อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเงินดอลลาร์จะกลับมาเป็นขาขึ้น เพราะเมื่อมองในระยะยาวแล้ว การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจะยิ่งกดดันเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคใดจะเร็วกว่ากันหลังจากนี้ เช่น หากยุโรปฟื้นเร็วกว่า ก็จะกดดันค่าเงินดอลลาร์อีกครั้ง นอกจากนี้ จะเห็นว่า Money Supply ปัจจุบันค่อนข้างสูงมาก ทำให้เงินดอลลาร์อาจจะอ่อนค่าในระยะยาว” 

 

ประเด็นที่สาม คือความต้องการถือครองทองคำลดลง หลังจากที่เริ่มกระจายวัคซีน ส่งผลให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชะลอลง และทำให้ความกลัวในตลาดลดลงด้วย หากเทียบกับปีก่อนจะเห็นว่าเงินทุนไหลเข้าทองคำสูงมาก สวนทางกับปีนี้ซึ่งเงินทุนไหลออก อย่างกองทุน SPDR ก็ลดการถือครองทองคำลงต่อเนื่อง 

 

 

จากกราฟข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่ากองทุน ETF ที่เน้นลงทุนในทองคำทั่วโลกขายทองคำออกมารวม 135 ตัน ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ (พฤศจิกายน 2563 ถึง มกราคม 2564) คิดเป็นเงินทุนไหลออก 8.1 พันล้านดอลลาร์ 

 

ประเด็นที่สี่ คือกระแสของสินทรัพย์ทางเลือกอื่นอย่าง ‘บิตคอยน์’ ซึ่งเข้ามาดึงเม็ดเงินเก็งกำไรที่เคยอยู่ในทองคำออกไป 

 

“โดยส่วนตัวมีมุมมองเชิงบวกต่อสกุลเงินดิจิทัล แต่ไม่ได้คิดว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่เข้ามาแทนทองคำ ทั้งในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานของทองคำที่พิสูจน์มาอย่างยาวนานว่า เป็นสินทรัพย์ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้ ขณะที่บิตคอยน์ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเอง อย่างเรื่องของความผันผวนที่หลายครั้งยังสูงเกินกว่า 30%” 

 

ส่วนปัจจัยด้านบวกต่อทองคำในเวลานี้ เบญจมามองใน 4 ประเด็น 

 

ประเด็นแรก คือนโยบายการเงินที่ยังมีแนวโน้มจะเป็นแบบผ่อนคลายต่อไป ซึ่งผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ล่าสุด ยังคงมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ 0-0.25% ต่อไป ขณะเดียวกันก็ยังไม่น่าจะเห็นการปรับลดวงเงินอัดฉีด (QE Tapering) ในปีนี้ 

 

ประเด็นที่สอง คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง หากอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นต่อเนื่อง จากเงินที่ไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง รวมถึงหนี้ในระบบที่เพิ่มขึ้นสูง พร้อมๆ กับอัตราบอนด์ยีลด์ที่ยังวิ่งขึ้น จะกดดันสินทรัพย์เสี่ยงในระยะยาว 

 

ประเด็นที่สาม คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการทองคำในรูปของเครื่องประดับ หลังจากที่ปีก่อนลดลงไปอย่างมาก 

 

ประเด็นที่สี่ คือการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในระยะยาว จากปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบที่มีค่อนข้างมาก และหนี้ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา 

 

ด้าน ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก มีมุมมองในลักษณะที่คล้ายกัน คือแนวโน้มของทองคำยังไม่ใช่ขาลงเสียทีเดียว แต่เป็นลักษณะของการซึมตัวลง เนื่องจากปัจจัยบวกและลบยังคงมีอยู่พอๆ กัน เพียงแต่ปัจจัยลบเริ่มเด่นชัดขึ้นมามากกว่า 

 

โดยประเด็นลบที่ชัดเจนที่สุดคือ บอนด์ยีลด์ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิด Dollar Carry Trade หรือการขายสินทรัพย์อื่นเพื่อกลับไปถือเงินดอลลาร์ ก่อนที่ต้นทุนของเงินทุนจะสูงขึ้นกว่านี้ 

 

ส่วนด้านบวก คือการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมุมมองของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้ 0% ต่อไป 

 

“ประเด็นลบที่เด่นขึ้นมากกว่าเป็นเพราะบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เฟดยังยืนยันว่าจะคงดอกเบี้ยในระดับต่ำ ทำให้เกิดความกังวลในตลาด”

 

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเรามองว่า หากราคาทองคำทะลุ 1,800 ดอลลาร์ นักลงทุนควรจะทยอยขาย และหากราคาหลุดระดับ 1,765 ดอลลาร์ ราคาทองคำจะเข้าสู่แนวโน้มขาลงชัดเจน และมีโอกาสลงไปถึงระดับ 1,650-1,700 ดอลลาร์ 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising