×

ราคาทองคำยังมีสัญญาณปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งช่วงส่งท้ายปี รับปัจจัยหนุนธนาคารกลางชั้นนำอาจจบรอบขึ้นอัตรา

10.12.2023
  • LOADING...
ราคาทองคำ

ราคาทองคำนับแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมายังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งยังมีการยกกรอบการเคลื่อนไหวขึ้นไปเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 เดือน หรือนับตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งมีปัจจัยหนุนที่สำคัญมาจาก ทิศทางการปรับตัวลงของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ

 

ทิศทางดังกล่าวเป็นผลมาจากกระแสคาดการณ์ต่อแนวโน้มการยุติวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยในช่วงที่ผ่านมานั้น บ่งชี้ถึงทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ทำให้ความจำเป็นต่อการเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed จึงลดลง อีกทั้งจากข้อมูลเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าวยังอาจสะท้อนได้ว่า ระดับความเข้มงวดของนโยบายการเงินในปัจจุบันนั้น เพียงพอต่อการทำให้ Fed สามารถบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อได้สำเร็จ

 

นอกจากนั้น หากนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 สหรัฐฯ เผชิญกับช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสู่ขาลงมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งจากสถิติพบว่า ระยะเวลาระหว่างการเปลี่ยนผ่านอยู่ที่ราว 10 เดือน ด้วยเหตุนี้เอง ความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการยุติวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงมาพร้อมกับคาดการณ์ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed โดยในปัจจุบัน ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่ลงน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนพฤษภาคม 2024 หรือราว 10 เดือนหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม 2023

 

กระแสคาดการณ์ทั้งหมดดังกล่าว นำมาซึ่งแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ โดยค่าเงินดอลลาร์มีการปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 สัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี มีการเคลื่อนไหวบริเวณระดับต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ ซึ่งส่งผลให้ราคาทองคำมีแรงหนุนต่อการปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ราว 2,052 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงสุดในรอบเกือบ 7 เดือน

 

อย่างไรก็ดี นอกจากการยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นักลงทุนยังคงคาดหวังต่อการยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำแห่งอื่นด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเหล่านั้น มักมีความเชื่อมโยงกันในระดับสูง

 

ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ G7 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการเติบโตสูงสุด เช่นเดียวกันกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับสูงสุด ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวของหนี้สาธารณะและมูลค่าการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งจากทั้งปัจจัยระดับอัตราดอกเบี้ยของ Fed และปริมาณพันธบัตรสหรัฐฯ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ นั้นสูงกว่า เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มดังกล่าว

 

ฉะนั้น การจบรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำแห่งอื่นนั้น จึงมีส่วนทำให้คาดการณ์ต่อการจบรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้พันธบัตรสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับแรงซื้อที่สูงขึ้นมากกว่า ในกรณีที่ธนาคารกลางชั้นนำบางแห่งยังคงมีแนวโน้มเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งแรงซื้อที่สูงขึ้นทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารได้รับแรงกดดันที่มากยิ่งขึ้น

 

อนึ่ง หากพิจารณาที่ธนาคารกลางชั้นนำ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) พบว่า มีกระแสคาดการณ์ต่อแนวโน้มการยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน เนื่องด้วยสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก มีแนวโน้มเผชิญกับภาวะถดถอย ขณะเดียวกัน ระดับเงินเฟ้อในสหภาพยุโรปนั้นเริ่มมีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง และแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี

 

ขณะที่ระดับเงินเฟ้อในอังกฤษ แม้จะยังอยู่ในระดับสูงกว่าทุกประเทศใน G7 แต่เศรษฐกิจอังกฤษนับว่ามีความเปราะบางต่อการเกิดการถดถอยที่รุนแรงเป็นอย่างมาก ประกอบกับเริ่มพบสัญญาณการปรับตัวลงของระดับเงินเฟ้อ หลายฝ่ายจึงประเมินว่า ทั้ง ECB และ BOE อาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม

 

กระแสคาดการณ์ทั้งต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed และธนาคารกลางชั้นนำแห่งอื่น จึงนับเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญต่อการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ดี ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2024 ยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดีกว่า ส่งผลให้ Fed มีศักยภาพต่อการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงอย่างยาวนานดังที่ Fed เคยส่งสัญญาณ ซึ่งในภาวะที่ Fed มีการดำเนินนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดกว่า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน มีแนวโน้มที่ค่าเงินดอลลาร์อาจปรับตัวขึ้นได้ จากมุมมองเชิงบวกทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งทำให้ราคาทองคำอาจยังมีปัจจัยกดดันในระยะข้างหน้า   

 

ดังนั้น นอกจากมติอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำในช่วงโค้งสุดท้ายของปีแล้ว จึงแนะนำให้ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวร่วมด้วย และสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed  แนะนำติดตามการเปิดเผยรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะมาพร้อมกับมติอัตราดอกเบี้ยและผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed  (FOMC) ครั้งสุดท้ายของปี 2023 ในคืนวันที่ 13 ธันวาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในปี 2024

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising