×

ราคาทองคำลุ้น Fed ลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีแรก หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเกิด Soft Landing

01.02.2024
  • LOADING...
ราคาทองคำ

ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2023 นักลงทุนได้รับการยืนยันแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังเข้าสู่ช่วงผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะการส่งสัญญาณของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ในช่วงการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) รอบเดือนธันวาคม ซึ่งได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เผชิญกับภาวะถดถอยในปีดังกล่าวก็ตาม โดยชี้ว่า หากเศรษฐกิจมีสัญญาณต่อการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ Fed จะต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไปอีก

 

อนึ่ง จากการส่งสัญญาณดังกล่าวของ Fed นั้นกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลงอย่างหนัก ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสุทธิ 14.6% และนับเป็นปีแรกในรอบ 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2020 ที่ราคาทองคำปิดตัวบวกสุทธิ

 

อย่างไรก็ดี แม้ Fed จะส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่จากรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจที่ออกมาพร้อมกับผลการประชุมที่กล่าวถึงในข้างต้นนั้น ระบุถึงตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2024 หรือค่ากลางดอตพอต (Dot Plot Median) ที่ระดับเพียง 4.6% หรือช่วง 4.50-4.75% ในขณะที่ตลาดให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่ำ 6 ครั้ง หรือราว 1.50% สู่ระดับ 3.75-4.00% พร้อมประเมินว่า Fed จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือนมีนาคม

 

ทั้งนี้ ความไม่สอดคล้องกับคาดการณ์ของ Fed และตลาด เป็นผลสืบเนื่องมาจากมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แตกต่างกัน และด้วยปัจจัยตรงนี้เองที่เป็นผลให้ราคาทองคำปรับตัวลงในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

แรงหนุนของทองคำอ่อนกำลังลง หลังนักลงทุนหั่นความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มที่ Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วและรุนแรงในปี 2024

 

ทั้งนี้ หลังนักลงทุนให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ต่อแนวโน้มที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงในปี 2024 ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนนักลงทุนว่าอาจเป็นการตอบสนองเชิงบวกที่มากเกินไป สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ Fed หลายรายที่ออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือนมีนาคม โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ยังคงเร็วเกินไปที่จะหารือกันถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลานี้

 

จากการทักท้วงของทั้งผู้เชี่ยวชาญในตลาด รวมถึงเจ้าหน้าที่ Fed แม้นักลงทุนบางส่วนจะมีการเผื่อโอกาสถึงความไม่แน่นอนต่อการคาดการณ์ที่รุนแรงกว่า Fed ของตลาด แต่กระนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงให้ความเชื่อมั่น โดยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากกระบวนการปรับลดของระดับเงินเฟ้อ (Disinflation) ของสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เปิดเผยในช่วงรอบเดือนที่ผ่านมานั้นออกมาบ่งชี้ถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เป็นต้น ขณะเดียวกันรายงานการประชุม FOMC รอบเดือนธันวาคมนั้นระบุสอดคล้องกับการให้ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ Fed ที่ผ่านมานั่นคือ คณะกรรมการยังสนับสนุนให้ Fed รักษาความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการเงินต่อไปอีกสักระยะ เพื่อประเมินข้อมูลให้แน่ชัดว่าระดับเงินเฟ้อกำลังกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ของ Fed 

 

อนึ่ง แม้ข้อมูลดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคพื้นฐานส่วนบุคคล (Core PCE) เดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงมากกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.0% อีกทั้งยังเป็นการชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2021 แต่เนื่องด้วยข้อมูลเงินเฟ้อนับเป็นตัวชี้วัดตาม (Lagging Indicator) หรือตัวชี้วัดที่แสดงผลล่าช้าจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมกราคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 และ 50.3 ตามลำดับ สูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งข้อมูล PMI นับเป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจนำ (Leading Indicator) ดังนั้นการปรับตัวขึ้นอยู่เหนือระดับ 50 อันบ่งชี้ถึงแนวโน้มการขยายตัวของภาคส่วนดังกล่าวในสหรัฐฯ นั้นอาจมีส่วนต่อการชะลอกระบวนการปรับตัวลงของระดับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้

 

เช่นเดียวกับสถานการณ์ในตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แม้ว่าจะพบสัญญาณภาวะตึงตัวที่ลดลง แต่กระนั้นจากข้อมูลการจ้างงานและรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงเดือนธันวาคมที่ปรับตัวขึ้นมากกว่าคาดการณ์ ซึ่งข้อมูลเช่นนี้มีนัยต่อการเพิ่มขึ้นของระดับเงินเฟ้อในอนาคตเช่นกัน

 

จากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ทำให้ความเป็นไปได้ต่อการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยที่รุนแรงได้สำเร็จ หรือสามารถชะลอตัวลงในรูปแบบ Soft Landing ตามที่ทางการสหรัฐฯ ต้องการ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ Fed ไม่มีความจำเป็นต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงตามกระแสคาดการณ์ของตลาด จึงมีส่วนให้นักลงทุนปรับคาดการณ์ครั้งสำคัญ โดยเปลี่ยนไปให้น้ำหนักในการที่ Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุม FOMC รอบเดือนพฤษภาคม และประเมินว่าขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อาจอยู่ระหว่าง 5-6 ครั้ง

 

กระแสคาดการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวทำให้ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ได้รับแรงกดดันที่อ่อนกำลังลง และสามารถฟื้นตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวบริเวณระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำมีการปรับฐานลงในรอบเดือนที่ผ่านมา

 

ราคาทองคำเคลื่อนไหวอย่างจำกัด หลังนักลงทุนรอสัญญาณยืนยัน Fed ลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีแรก

 

อย่างไรก็ดี แม้นักลงทุนจะปรับคาดการณ์ต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังที่กล่าวไปในข้างต้น แต่หากพิจารณาแล้วพบว่า กระแสคาดการณ์ดังกล่าวยังนับว่ารุนแรงกว่าคาดการณ์ของ Fed แต่เนื่องด้วยราคาสินทรัพย์ได้ซึมซับเอาปัจจัยบวกจากกระแสคาดการณ์เดิมเข้าไป ทำให้กระแสคาดการณ์ที่ลดความรุนแรงลงจึงกลายเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลง

 

อนึ่ง จากแนวโน้มการเกิด Soft Landing ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงสนับสนุนความเป็นไปได้ของถ้อยแถลงจากเจ้าหน้าที่ Fed ที่ส่งสัญญาณต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed แม้มีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงกลางปี แต่ขณะเดียวกันความเป็นไปได้ต่อการเริ่มปรับลดในช่วงครึ่งหลังของปีก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน

 

ขณะที่แม้การประชุม FOMC รอบเดือนมกราคม หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าจะคงมีมติรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% แต่กระนั้นนักลงทุนยังตั้งตารอเอกสารผลการประชุมดังกล่าวและการแถลงผลการประชุมของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 02.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งหากตลาดมีการปรับคาดการณ์ต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ให้มีความรุนแรงที่ลดลงจากเดิมอีก ราคาทองคำมีความเสี่ยงต่อการปรับตัวลงเพิ่มเติม 

 

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันประเด็นความตึงเครียดระหว่างประเทศ เช่น ในพื้นที่ตะวันออกกลาง และพื้นที่ช่องแคบระหว่างจีนกับไต้หวัน มีแนวโน้มหนุนราคาทองคำ จากแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย แต่กระนั้นหากตลาดเล็งเห็นถึงโอกาสที่ Fed อาจรักษาความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการเงินไว้ยาวนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ประกอบกับทิศทางที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยเช่นกัน ราคาทองคำจึงอาจถูกจำกัดช่วงการปรับตัวขึ้น 

 

ดังนั้นนักลงทุนจึงควรจับตาทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมไปถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed เพื่อประเมินสถานการณ์ในการลงทุนต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X