ภายใต้ความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงและปัจจัยความไม่แน่นอนที่รายล้อมสภาวะการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นและทำระดับสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาแล้วราว 25% และเมื่อรวมกับปีก่อนที่ปรับตัวขึ้นราว 27% ส่งผลให้ทองคำให้ผลตอบแทนรวมนับตั้งแต่ต้นปี 2567 สูงถึงเกือบ 60% คำถามที่น่าสนใจคือราคาทองคำจะยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อหรือยืนในระดับสูงได้หรือไม่ และนักลงทุนควรจะวางกลยุทธ์อย่างไรสำหรับการลงทุนในทองคำในระยะต่อไป
ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนราคาทองคำในปี 2568 เราประเมินว่ามี 3 ปัจจัย ได้แก่
- ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังดำเนินต่อไป ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ มีความพยายามโน้มน้าวให้เกิดการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง แต่ยังไม่มีท่าทีหรือทางออกที่จะสร้างความพึงใจให้กับทุกฝ่ายได้ ล่าสุดสถานการณ์ในตะวันออกกลางมีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น หลังการปะทะโดยตรงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของสหรัฐฯ แม้ว่าทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงเจรจาหยุดยิง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศยังคงมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะกลับมาปะทุได้อีกในอนาคต
ขณะที่ความไม่แน่นอนด้านการค้ายังคงอยู่ในระดับสูง หลังสหรัฐฯประกาศเก็บภาษีตอบโต้ต่อประเทศทั่วโลกในช่วงต้นเดือนเมษายน อย่างไรก็ดีมีการชะลอการเก็บภาษีบางส่วนออกไปเป็นระยะเวลา 90 วัน และเริ่มเห็นพัฒนาการเชิงบวกของการเจรจากับหลายประเทศ เช่น อินเดีย สหราชอาณาจักร และจีน แต่อีกหลายประเทศยังไม่เห็นความคืบหน้าในการเจรจาและมีความเสี่ยงที่จะมีการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ตามที่ได้ประกาศเอาไว้หลังครบกำหนดระยะเวลา ส่งผลให้ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจทั้งในมิติของการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวสูงขึ้น
- ธนาคารกลางเพิ่มสัดส่วนการถือทองคำ หลังการแช่แข็งสินทรัพย์ของรัสเซียในปี 2565 ตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและกลุ่ม G7 ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกมีการเพิ่มสัดส่วนของทองคำในทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความเสี่ยงที่จะถูกห้ามเคลื่อนย้ายเงินทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีข้อพิพาทกับสหรัฐฯ เช่น จีน อินเดีย โปแลนด์ และตุรกี
โดยข้อมูลจาก Goldman Sachs ระบุว่าการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางเพิ่มขึ้นราว 5 เท่า จากเฉลี่ย 17 ตันต่อเดือนเป็น 85 ตันต่อเดือน ขณะที่สัดส่วนทองคำในเงินทุนสำรองของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังอยู่ต่ำที่ระดับ 10% เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ 30% จึงมีแนวโน้มที่การเข้าสะสมทองคำจะยังดำเนินต่อไป โดยผลจากการเข้าสะสมทองคำของธนาคารกลางในช่วงที่ผ่านมาทำให้ปัจจุบันทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในระบบทุนสำรองของโลกในปี 2567 ที่ราว 19% เป็นรองเพียงสกุลเงินดอลลาร์ที่ 47%
- การอ่อนค่าของดอลลาร์ ข้อมูลในอดีตบ่งชี้ว่าการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์มักมีความสัมพันธ์ที่แปรผกผันกับราคาทองคำ โดยสกุลเงินดอลลาร์มีการอ่อนค่าลงราว 8% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม สาเหตุมาจากความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินและสินทรัพย์ของสหรัฐฯที่ลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นกว่าเศรษฐกิจประเทศหลักอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯให้ผลตอบแทนดีโดดเด่นต่อเนื่องกันหลายปี
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ประกอบกับนโยบายภาษีทางการค้าของสหรัฐฯ และการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ Moody’s ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาให้ความสำคัญกับการกระจายการลงทุน และพิจารณาเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ของภูมิภาคและประเทศอื่นๆ ที่มีปัจจัยหนุนและระดับราคาน่าสนใจกว่าโดยเปรียบเทียบ นอกจากนี้ทิศทางนโยบายการเงินการคลังในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มที่จะกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าต่อได้ จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯที่คาดว่าจะยังมีการปรับลดลงได้อีก 2 ครั้งหรือ 0.5% ในปีนี้ ขณะที่การขาดดุลการคลังและปริมาณหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเป็นอีกปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน
เรายังคงมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงในระยะกลาง แม้ว่าผลตอบแทนที่คาดหวังอาจไม่สูงเท่าช่วงที่ผ่านมาก็ตาม ปัจจัยหลักที่ยังคงหนุนราคาทองคำได้แก่ การเข้าสะสมของธนาคารกลางทั่วโลก การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และนโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลาย ขณะที่ระยะสั้น เราเห็นสัญญาณการเทขายทำกำไรจากนักลงทุนที่ลงทุนผ่าน ETF
นอกจากนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดล่าสุดในตะวันออกกลางก็ไม่ได้ส่งผลหนุนราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนว่าราคาปัจจุบันได้สะท้อนปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าไปพอสมควรแล้ว ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการเก็งกำไรระยะสั้น อย่างไรก็ตาม จังหวะการปรับฐานของราคาอาจเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าสะสมทองคำเพื่อการลงทุนระยะกลาง