แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed มีบทบาทสำคัญต่อราคาทองคำอย่างมาก เพราะจากสถิติในอดีต เห็นได้ชัดว่าในช่วงที่ Fed ผ่อนคลายนโยบายการเงินทองคำจะปรับตัวสูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2009-2011 และช่วงปี 2020 ขณะที่ในช่วงที่ Fed ยุติการผ่อนคลายนโยบายการเงินและกลับมาคุมเข้มนโยบายการเงินก็ส่งผลกดดันราคาทองคำเช่นกัน ดังที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2013-2018 ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งดอลลาร์สหรัฐกับทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม
ปีนี้เองดูเหมือนจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางด้านนโยบายการเงินของ Fed ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนจะมองข้ามไม่ได้ วันนี้ YLG จึงขอพาท่านผู้อ่านย้อนกลับไปในปี 2013 เพื่อไล่เรียงไทม์ไลน์ของการดำเนินการลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของ Fed พร้อมการตอบรับของราคาทองคำในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้นักลงทุนได้นำเอาสถิติไปใช้เป็นแนวทางการลงทุนในอนาคต
- ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2013 เมื่อ เบน เบอร์นันเก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวในการแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสว่า Fed อาจลดวงเงินของโครงการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงจนแตะระดับต่ำสุดของปี 2013 ที่ 1,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2013 โดยปรับตัวลดลงถึง 195 ดอลลาร์ต่อออนซ์จากราคาปิดของวันก่อนหน้าที่เบอร์นันเกเริ่มกล่าวถึงการลด QE ครั้งแรก
- ก่อนที่ราคาทองคำจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม 2013 ก่อนที่จะแตะระดับสูงสุดในวันที่ 28 สิงหาคม 2013 ที่ 1,433 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดถึง 253 ดอลลาร์ต่อออนซ์
- อย่างไรก็ดี ราคาทองคำค่อยๆ ปรับตัวลดลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งในเดือนธันวาคม เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งพอที่จะทำให้ Fed รู้สึกมั่นใจในการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 18 ธันวาคมปี 2013 Fed มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะลด QE ลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เหลือ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และโดยการลด QE เริ่มต้นดำเนินการจริงในเดือนมกราคม 2014 จนกระทั่งมาตรการ QE ยุติลงในเดือนตุลาคม 2014
- นั่นทำให้ราคาทองคำปิดตลาดในปี 2013 ที่ 1,205 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าราคาทองคำมีการปิดปรับตัวลดลงราว 165 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากราคาปิดของวันที่ Fed เริ่มส่งสัญญาณลดวงเงิน QE ครั้งแรก และปิดตลาดในปี 2013 ด้วยการปรับตัวลดลงมากถึง 469.44 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ -28% อย่างไรก็ดี ในปีดังกล่าวที่ราคาปรับตัวลดลงไม่ใช่จากประเด็น Fed เรื่องเดียว โดยราคาทองคำปรับตัวลงแรงในช่วงเดือนเมษายน 2013 จากข่าวที่รัฐบาลไซปรัสเทขายทองคำในคลังสำรองเพื่อระดมทุนให้ได้ 400 ล้านยูโร เพื่อให้บรรลุเงื่อนไขขอรับเงินกู้จากนานาชาติมูลค่า 1 หมื่นล้านยูโร จนก่อให้เกิดความวิตกว่าธนาคารกลางในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปจะเทขายทองคำเช่นเดียวกับไซปรัส
ดังนั้นหากอ้างอิงจากสถิติ พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ดังนี้
- ราคาทองคำจะตอบสนองในเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของ Fed มากที่สุดในช่วงก่อนที่ Fed จะดำเนินการลด QE จริง
- ราคาทองคำยังปรับตัวลงต่อในช่วงที่ Fed เริ่มลด QE ครั้งแรกไปจนถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก แต่การตอบสนองเชิงลบไม่มากเท่าระยะแรก และราคามีการปรับตัวลงทำระดับต่ำสุดในเดือนที่ Fed เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก
- ราคาทองคำเริ่มยกฐานขึ้นนับตั้งแต่ Fed เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2015
ดังนั้นหาก Fed มีการประกาศดำเนินการลด QE ภายในสิ้นปีนี้ และหาก History repeats itself อาจมีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวลดลงจากข่าวดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี Past performance do not determine future performance ที่สำคัญคือ ราคาทองคำไม่ได้เคลื่อนไหวตามนโยบายการเงินของ Fed เพียงปัจจัยเดียว ขณะที่ราคาทองคำจะปรับตัวลงมากเท่าใด และจะสามารถต้านต่อปัจจัยกดดันนี้ได้หรือไม่ อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ประกอบ นักลงทุนทองคำจึงต้องเตรียมพร้อมวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด