การแบ่งขั้วอำนาจโลกในปัจจุบันเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อบางประเทศรวมตัวกันเพื่อลดอำนาจของอีกกลุ่มประเทศหนึ่ง เช่น การควํ่าบาตรรัสเซียในปัจจุบัน ส่งผลให้รัสเซียถูกกีดกันจากหลายประเทศในด้านการเงินระหว่างประเทศ ทำให้รัสเซียต้องมองหาสินทรัพย์ที่ไร้ความเสี่ยง ได้รับการยอมรับจากคู่ค้าทั่วโลก และเป็นกลางต่อทุกประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นเครื่องมือต่อกรต่อมาตรการควํ่าบาตรจากบางประเทศ ซึ่งนั่นอาจจะเป็น ‘ทองคำ’ ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ก็เป็นได้
ปัจจุบันทั่วโลกยังต้องการทองคำ
ทองคำถือเป็นสินทรัพย์มีค่าที่ใครหลายคนอยากครอบครอง โดยเฉพาะในแวดวงเครื่องประดับ แต่ในภาคการเงิน ทองคำขึ้นชื่อว่าเป็นสินทรัพย์แห่ง ‘ความกลัว’ และ ‘ความหวาดระแวง’ เพราะในช่วงเศรษฐกิจขาลง สินทรัพย์ต่างๆ ย่อมมีมูลค่าด้อยลง แต่ทองคำกลับเป็นสินทรัพย์ที่ทุกคนต้องการในช่วงเวลานั้น ด้วยคุณสมบัติของการรักษามูลค่าและไม่เสื่อมสภาพ ทำให้หลายคนมองว่าการถือครองทองคำเป็นหลักประกันอย่างหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คัด 10 หุ้นราคาต่ำ 10 บาท P/E ต่ำ ปันผลสูง ราคา YTD ยังบวก
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
แม้นักวิเคราะห์บางรายมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้ผลตอบแทนและไร้ประโยชน์ แต่ตลาดกลับปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว หลังจากราคาทองคำเพิ่มขึ้นมาซื้อขายที่ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ปี 2022 ปริมาณการสั่งซื้อทองคำโดยรัฐบาลทั่วโลกสูงถึง 673 ตัน จากข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council) ขณะเดียวกันในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปริมาณทองคำในคลังนิรภัยใต้ดินของอังกฤษซึ่งเป็นที่เก็บทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ลดลงกว่า 500 ตัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อมูลของ LBMA
การใช้ทองคำจากประเทศที่เผชิญหรือเสี่ยงต่อการควํ่าบาตร
รัสเซียถือเป็นกรณีศึกษาของประเทศที่ถูกควํ่าบาตรได้เป็นอย่างดี อันที่จริงรัสเซียต้องเผชิญกับการถูกควํ่าบาตรทางการเงินมานับเกือบ 10 ปีแล้ว จากการถูกอายัดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม รัสเซียใช้แผนตอบโต้ด้วยการซื้อทองคำเพื่อใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศในจำนวนมาก การซื้อทองคำของธนาคารกลางรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2014 จนปัจจุบันรัสเซียมีมูลค่าทองคำสำรองสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และยังลงทุนทำเหมืองทองคำใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
อีกหนึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการถูกควํ่าบาตรในอนาคตคือ จีน จากการทำสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา และกรณีพิพาทกับไต้หวัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะถูกมาตรการกีดกันจากชาติตะวันตก จีนจึงเริ่มซื้อทองคำเพิ่มเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี และเป็นการซื้อ 2 เดือนติดต่อกัน เพื่อหวังคานอำนาจเงินดอลลาร์ ทำให้จีนก้าวเข้ามาเป็นประเทศที่มีมูลค่าทองคำสำรองสูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก
การเตรียมความพร้อมด้วยการใช้มาตรการเพิ่มปริมาณทองคำสำรอง โดยกดไม่ให้ราคาสูงมากเกินไป อาจเป็นมาตรการทางออกต่อการถูกควํ่าบาตร โดยเฉพาะกรณีรัสเซียและจีน ในขณะเดียวกันหากใช้สินค้าโภคภัณฑ์ในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ จะช่วยระงับผลจากการควํ่าบาตรได้
การใช้ทองคำเป็นเครื่องมือในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะเมื่อทศวรรษก่อนหน้านี้มีการกล่าวอ้างว่า ตุรกีได้ใช้ทองคำมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติจากอิหร่านที่กำลังถูกควํ่าบาตรจากกรณีโครงการนิวเคลียร์ หลังจากนั้นอิหร่านได้แลกทองคำบางส่วนเป็นสกุลเงินของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามรายงานของ Global Initiative against Transnational Organized Crime องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 Financial Action Task Force หน่วยงานหนึ่งของกลุ่มประเทศ G7 ระบุว่า ตลาดทองคำขนาดใหญ่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความเสี่ยงอย่างมากสำหรับการถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน แม้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สัญญาว่าจะจัดการอย่างจริงจัง แต่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก ปัจจุบันดูไบกำลังกลายเป็นแหล่งเก็บทรัพย์สินแห่งใหม่สำหรับชาวรัสเซีย
จุดสำคัญที่บรรดาผู้ใช้มาตรการควํ่าบาตรกำลังจับตามองในช่วงเวลานี้คือ ตลาดทองคำลอนดอนที่มีทองคำกว่า 9000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.44 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติพัวพันกับการฟอกเงินอยู่บ่อยครั้ง ทั้งหมดนี้อาจเป็นสัญญาณว่าทองคำกำลังกลายมาเป็น ‘ตัวแปร’ สำคัญต่อเหตุการณ์การควํ่าบาตรที่กำลังเกิดขึ้น
อ้างอิง: