ราคาทองคำ พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-Time High) เหนือ 3,100 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลหะมีค่า โดยปัจจัยทางจิตวิทยาถูกกวาดล้างไปด้วยปัจจัยหลายประการ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
ราคาทองคำแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,124.07 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 มีนาคม) ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของ Trump ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งรวมถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากธนาคารกลาง การคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและยุโรป และกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ากองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนที่รองรับด้วยทองคำเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบไตรมาส นับตั้งแต่เดือนกันยายน 1986 และพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดตลอดกาลแล้ว 19 ครั้งในปี 2025 โดยมี 7 ครั้งที่อยู่สูงกว่าระดับ 3,000 ดอลลาร์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่ความเคลื่อนไหวราคาตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน ราคาทองคำพุ่งขึ้น 18% หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้น 27% ตลอดทั้งปี 2024
YLG ปรับเป้าหมายทองคำไทย 51,000-51,500 บาทต่อบาททองคำ
ด้าน พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ราคาทองคำปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนทะลุเป้าหมายที่วายแอลจีให้ไว้ที่ 3,000-3,100 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ล่าสุดวายแอลจี จึงได้ปรับราคาเป้าหมายใหม่เป็น 3,150-3,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ หรือคิดเป็นราคาเป้าหมายทองคำแท่งไทยที่ 51,000-51,500 บาทต่อบาททองคำ (คำนวณจากค่าเงินบาท 34 บาทต่อดอลลาร์)
โดยระยะสั้น ราคาทองคำ ได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากความกังวล ‘นโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff)’ ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมประกาศในวันที่ 2 เมษายนนี้ ในขณะที่หลายประเทศส่งสัญญาณตอบโต้คืนเช่นกัน เช่น สื่อของรัฐบาลจีนโพสต์ข้อความ “หากสหรัฐฯ ตั้งใจทำลายผลประโยชน์ของจีน จะตอบโต้อย่างเด็ดขาด” เช่นเดียวกับทางด้าน คลอเดีย เชนบาม ประธานาธิบดีเม็กซิโก ประกาศ “จะใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้แบบครอบคลุมในวันที่ 3 เมษายน”
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดการปรับฐานอย่างมีนัยสำคัญ นักลงทุนบางส่วนจึงได้นำเงินลงทุนมาพักไว้ในสินทรัพย์ปลอดภัยโดยเฉพาะทองคำ และรวมไปถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี หากราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงในวันประกาศแผนภาษีดังกล่าว อาจต้องระมัดระวังการถูกขายทำกำไร หรือการ Sell on fact สลับออกมาด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันปัจจัยบวกด้านอื่นๆ ที่สนับสนุนทองคำในระยะยาวยังคงแข็งแกร่ง ทั้งการเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงการเข้าซื้อทองคำของกองทุน ETF ทองคำขนาดใหญ่ในปีนี้ โดยเฉพาะ ‘’SPDR Gold Shares ที่กลับมาเข้าซื้อต่อเนื่องในปี 2025 รวมแล้วมากถึง +59.42 ตัน รวมถึงความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตะวันออกกลางที่ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ล่าสุดด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้ขู่ทางอิหร่านว่าจะทำการทิ้งระเบิดและใช้มาตรการภาษีรอง (Secondary Tariff) หากอิหร่านไม่ยอมบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม การพุ่งขึ้นของทองคำในปีนี้ถือว่าปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วแบบไม่มีสลับพักฐาน จึงอาจทำให้มีข้อจำกัดในการปรับขึ้นต่อ แต่ยังเห็นว่า ราคาทองคำ ยังเดินหน้าสู่ทิศทางขาขึ้น เนื่องจากปัจจัยบวกที่กล่าวมาข้างต้นยังคงแข็งแกร่ง สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้น ควรรอให้ราคาย่อลงที่แนวรับ 3,074-3,055 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ แต่หากหลุดบริเวณดังกล่าวแนะนำให้ระมัดระวังการพักฐานลงในระยะกลาง ส่วนทองไทยแนะนำเข้าซื้อได้ที่ 49,400-49,000 บาทต่อบาททองคำ
อ้างอิง: