กว่า 2 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่ GET ได้เข้ามาให้บริการที่ประเทศไทยในฐานะแพลตฟอร์มซูเปอร์แอปพลิเคชัน โดยเริ่มต้นชิมลางตลาดด้วยบริการเรียกวินมอเตอร์ไซค์ (GET WIN) ก่อนจะขยายไปสู่บริการส่งของ (GET DELIVERY) ส่งอาหาร (GET FOOD) และการทำธุรกรรมผ่านอีวอลเล็ต (GET PAY) จนมีผู้ใช้งานแพร่หลาย
จากที่เคยเป็นแค่แอปฯ หน้าใหม่ในตลาด GET ประเทศไทยได้สั่งสมประสบการณ์จนช่ำชอง เน้นการทำตลาดกับกลุ่มสตรีทฟู้ด พัฒนาคุณภาพการให้บริการของตัวเองจนก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในทางเลือกของบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครบครันในทุกมิติ ทั้งยังคว้าใจผู้ใช้งานประเทศไทยมาครองได้สำเร็จ (การันตีด้วยยอดออร์เดอร์ที่สำเร็จมากกว่า 20 ล้านออร์เดอร์ ด้วยคะแนนความพึงพอใจจากผู้ใช้งานหลักแสนรายที่ 96%)
กระทั่งวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็ได้เกิดขึ้น เมื่อ GET ตัดสินใจประกาศรีแบรนด์และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Gojek ’ อย่างเป็นทางการ
ถึงหลายคนคงจะพอทราบอยู่แล้วว่าพวกเขา (GET) ได้รับการสนับสนุนจาก Gojek มาตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ให้บริการที่ไทย แต่หากพิจารณาดูให้ดีก็จะพบว่าความเปลี่ยนแปลงในคร้ังนี้ย่อม ‘ไม่ใช่เรื่องธรรมดา’ แน่นอน
THE STANDARD ชวนคุณมาสะท้อนมุมมองการผลัดใบจาก GET สู่ Gojek ไปด้วยกันว่า ก้าวต่อไปของ Gojek ประเทศไทยจะดำเนินไปในทิศทางไหน พวกเขาจะสร้างอิมแพ็กให้กับตลาดได้มากน้อยระดับใด แล้วทำไมเหตุการณ์ในครั้งนี้ถึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามากเป็นพิเศษ
Gojek คือใคร พวกเขากำลังทำอะไรกันแน่?
ก่อนจะข้ามช็อตไปไกลกว่านี้ เราขอพาคุณย้อนเวลาถอยหลังสักนิดกลับไปในปี 2010 หรือเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับไทม์ไลน์ที่ Gojek ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ช่วงเวลาดังกล่าว นาดีม มาคาริม (Nadiem Makarim) ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Gojek ได้มองเห็นเพนพอยต์เล็กๆ แต่เป็นปัญาเรื้อรังที่พวกเขาก็ต้องเผชิญด้วยตัวเอง นั่นคือการต้องเสียเวลารอ ‘Ojek’ หรือวินมอเตอร์ไซค์ในประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลานานๆ ในทุกๆ ครั้ง
ทั้งคู่จึงปิ๊งไอเดียพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างคนขับและผู้โดยสารเพื่อให้เกิดความโปรดักต์ทีฟ ลดปัญหาความล่าช้าในการได้รับบริการไปพร้อมๆ กับช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนขับไปในตัว โดยเริ่มต้นจากการให้บริการผ่านคอลเซ็นเตอร์โดยมีมอเตอร์ไซค์ในฟลีตให้บริการที่ 20 คันเท่านั้น
ก่อนจะเริ่มให้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้ครั้งแรกในปี 2015 และเพียงแค่ในช่วงระยะเวลา 10 ปี Gojek ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็น ‘สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายแรกของอินโดนีเซีย’ ได้สำเร็จ
จากความสามารถของแพลตฟอร์มแบบออนดีมานด์และเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้ครบวงจร ไม่ว่าจะมุมการเดินทาง อาหาร ความบันเทิง การขนส่งโลจิสติกส์ การทำธุรกรรม และการเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันด้านต่างๆ โดยมีจำนวนบริการในแพลตฟอร์มรวมกว่า 20 บริการ และยอดดาวน์โหลดแอปฯ สูงถึงกว่า 170 ล้านครั้ง
ทั้งยังสามารถขยายตลาดออกไปในหลายๆ ประเทศจนกลายเป็นแพลตฟอร์มซูเปอร์แอปที่ให้บริการครอบคลุมตลาดในเซาท์อีสต์เอเชีย ประกอบด้วย อินโดนีเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์, รวมถึงประเทศไทย โดยเชื่อมต่อคนขับรถมากกว่า 2 ล้านราย และเมอร์เชนต์ผู้ค้ามากกว่า 500,000 รายทั่วอาเซียนให้เข้าถึงกัน
เมื่อไม่นานมานี้ มีการประเมินกันว่ามูลค่าบริษัท Gojek น่าจะอยู่สูงกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อพวกเขา ไปจนถึงผลกระทบเชิงบวกที่ Gojek ได้ร่วมสร้างให้กับผู้คนในสังคม
ทำไมการเปลี่ยนแปลงจาก GET สู่ Gojek ถึง ‘น่าสนใจ’ กลยุทธ์สำคัญเจาะตลาดประเทศไทยคืออะไร?
การเปลี่ยนแปลงรีแบรนด์ตัวเองจาก GET สู่ Gojek ในอีกนัยหนึ่งเปรียบเสมือนการเริ่มต้นแชปเตอร์ต่อไปของการทำธุรกิจ และการให้บริการโดยแพลตฟอร์มซูเปอร์แอปฯ จากอินโดนีเซียรายนี้ (แบรนด์ GoViet ในประเทศเวียดนามก็จะได้รับการอัปเกรดเป็นแบรนด์ Gojek เช่นกัน)
ในมุมหนึ่ง การใช้ชื่อ Gojek เจาะตลาดให้บริการไทยยังสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มข้น จริงจัง ที่บอกเป็นนัยว่าพวกเขาพร้อมบุกตลาดท้าชิงคู่แข่งในสังเวียนเต็มตัวมากขึ้น เพื่อเตรียมนำนวัตกรรมเด็ดๆ ต่อเติมเสริมยอดให้บริการ Gojek แข็งแกร่ง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และมุ่งลดข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด
ที่สำคัญ Gojek เวอร์ชันประเทศไทยที่เตรียมจะเริ่มต้นให้บริการเต็มรูปแบบเร็วๆ นี้จะยังคงบริหารงานภายใต้ทีมผู้บริหารชุดเดิม ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นความเป็น Hyperlocal ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการในตลาดประเทศไทยให้ได้มากที่สุด
ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ Gojek ประเทศไทย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไว้ว่า “เราตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ที่แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงเป็นประเทศยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของ Gojek นับตั้งแต่การเปิดตัว GET ในปี 2562 เราประสบความสำเร็จในการก่อตั้งและพัฒนาหนึ่งในแพลตฟอร์มออนดีมานด์ชั้นนำของประเทศ ผ่าน 4 บริการซึ่งได้รับอัตราความพึงพอใจของผู้ใช้งานสูงถึง 96%
“ขณะที่เรากำลังก้าวสู่ ‘การเติบโตในขั้นต่อไป’ ทีมบริหารชุดเดิมของไทยที่ได้พัฒนาและก่อตั้ง GET จะยังคงนำทีมบริหารและดำเนินธุรกิจของ Gojek ในประเทศไทยต่อไป พร้อมกับวางกรอบการพัฒนาโปรดักต์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการต่างๆ ของตลาดประเทศไทยที่มีการแข่งขันสูง โดยขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำจุดแข็งและศักยภาพของ Gojek มาขับเคลื่อนให้เราสามารถขยายธุรกิจและคงจุดยืนในฐานะบริษัทชั้นนำต่อไป”
ด้าน แอนดรูว์ ลี ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ (Group Head of International) ของ Gojek มองว่า การเปลี่ยนจาก GET ไปสู่ Gojek จะช่วยให้ทีมงานในไทยสามารถส่งมอบประสบการณ์การใช้บริการที่ดีย่ิงขึ้น และนำไปสู่ความสำเร็จในสเกลที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทีม Gojek ในการทำตลาดต่างประเทศภายใต้แบรนด์เพียงแบรนด์เดียว (One Brand) เพื่อลดอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ใช้บริการในไทย
สิ่งที่ต้องจับตาให้ดีต่อจากนี้คือการที่เราน่าจะมีโอกาสได้เห็น Gojek นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้นในต่างประเทศมาต่อยอดและรังสรรค์บริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานได้ตรงจุด สร้างผลกระทบเชิงบวกกับทั้ง Stakeholders ตั้งแต่คนขับ พาร์ตเนอร์ เมอร์เชนต์ ร้านค้า ไปจนถึงผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม
เมื่อถึงเวลานั้น เราน่าจะได้เห็นการแข่งขันในสังเวียนแพลตฟอร์มซูเปอร์แอปฯ ที่เข้มข้น ดุเดือด และเชือดเฉือนกันมากกว่าเดิม ซึ่งผลประโยชน์ทั้งหมดก็จะตกมาอยู่ที่ตัวผู้ใช้งานอย่างเราแน่นอน
ติดตามความเปลี่ยนแปลงของ GET สู่ Gojek ประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบได้เร็วๆ นี้ที่ https://www.gojek.com/th/
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์