×

ย้อนจุดเริ่มต้นความขัดแย้ง สู่การเป็นศัตรูคู่แค้นระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล

โดย THE STANDARD TEAM
15.04.2024
  • LOADING...

ความหวังที่ว่าภูมิภาคตะวันออกกลางจะกลับคืนสู่ความสงบสุขมีอันต้องห่างไกลออกไปอีก เมื่ออิหร่านเปิดฉากตอบโต้อิสราเอลด้วยโดรนและขีปนาวุธหลายร้อยลูกในช่วงกลางดึกวันเสาร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น เพื่อแก้แค้นอิสราเอลที่โจมตีทางอากาศต่อสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรียเมื่อวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของอิหร่านเสียชีวิต 7 นาย ซึ่ง 2 นายในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ขณะที่อิสราเอลไม่ได้ออกมายอมรับหรือปฏิเสธว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว

 

อิสราเอลและอิหร่านเป็นศัตรูกันมานานหลายทศวรรษ แต่การโจมตีของอิหร่านครั้งนี้ถือเป็นการโจมตีโดยตรงต่อดินแดนอิสราเอลครั้งแรก โดยที่ผ่านมาความบาดหมางอันยาวนานของ 2 ประเทศส่วนใหญ่เกิดขึ้นผ่านกองกำลังตัวแทน หรือโดยการมุ่งเป้าไปที่กองกำลังของต่างฝ่ายที่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศที่ 3 

 

แล้วอะไรคือชนวนเหตุที่ทำให้อิหร่านและอิสราเอลบาดหมางจนกลายเป็นศัตรูคู่แค้นกัน 

 

ปี 1979 จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง

 

ในช่วงที่อิหร่านถูกปกครองโดยราชวงศ์ปาห์ลาวี (Pahlavi Dynasty) เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษนั้น อิหร่านและอิสราเอลยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มากไปกว่านั้นอิหร่านยังเป็นประเทศมุสลิมประเทศแรกๆ ที่ยอมรับการจัดตั้งรัฐใหม่ของอิสราเอลอีกด้วย

 

ชาวปาเลสไตน์มองว่าการยอมรับดังกล่าวเป็นการยอมรับโดยปริยาย (Tacit Acceptance) ต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ‘นักบา’ (Nakba) หรือหายนะ โดยชาวปาเลสไตน์มากกว่า 700,000 คนต้องประสบกับการถูกยึดครองและถูกขับไล่ออกจากดินแดนเกิด เมื่อประเทศอิสราเอลถือกำเนิดขึ้นในปี 1948

 

ในส่วนของอิสราเอลนั้น หลังจากก่อตั้งประเทศก็เร่งเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์กับรัฐที่ไม่ใช่อาหรับ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงกับอิหร่าน

 

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านในปี 1979 ได้ส่งผลกระทบให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศต้องมาถึงทางแยก เมื่อพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ถูกโค่นลงจากบัลลังก์ และ อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดคนใหม่ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน พร้อมดำเนินนโยบายยืนหยัดต่อมหาอำนาจโลกที่ ‘หยิ่งผยอง’ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกาที่อิหร่านเรียกว่า ‘จอมมาร’ (Great Satan) และอิสราเอลที่ได้ชื่อว่า ‘มารน้อย’ (Little Satan)

 

ถึงกระนั้นก็ตาม อิสราเอลและอิหร่านยังคงความร่วมมือในระดับที่จำกัดเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1980 ก่อนที่การแข่งขันที่ไม่เป็นมิตรได้เริ่มปรากฏขึ้นเมื่ออิหร่านสร้างและให้ทุนสนับสนุนกองกำลังตัวแทนและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในซีเรีย อิรัก เลบานอน และเยเมน ซึ่งนับแต่นั้นสงครามเงาระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลก็เติบโตและขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

 

อิสราเอลผนึกกำลังสหรัฐฯ โจมตีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

 

โครงการนิวเคลียร์กลายเป็นเป้าหมายการโจมตีอิหร่านของอิสราเอล โดยเตหะรานเชื่อว่า อิสราเอลและสหรัฐฯ ปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์ Stuxnet ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เพื่อโจมตีเครื่องหมุนเหวี่ยงเพื่อเสริมสมรรถนะยูเรเนียมสำหรับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

 

การก่อวินาศกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 2020 ขณะที่อิสราเอลพยายามสร้างความเสียหายให้กับโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ก็ตกเป็นเป้าการโจมตีเช่นกัน 

 

อิหร่านยังคงยืนกรานมาโดยตลอดว่าโครงการนิวเคลียร์ของประเทศมีเป้าหมายเพื่อสันติ 100% แม้ว่าจะมีบางเหตุการณ์ เช่น การค้นพบอนุภาคยูเรเนียมโดยไม่ทราบสาเหตุ ณ พื้นที่ต่างๆ ที่อิหร่านไม่เคยเปิดเผยต่อหน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ซึ่งสร้างความคลางแคลงให้กับนักวิจารณ์ที่สงสัยแรงจูงใจของอิหร่าน

 

จนกระทั่งปี 2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดสินใจนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งถือเป็นความพ่ายแพ้ของเตหะราน และเป็นชัยชนะของอิสราเอล

 

นักวิเคราะห์มองว่า ด้วยเหตุที่อิหร่านอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรง ขณะที่อิสราเอลนั้นปกครองโดยกลุ่มอนุรักษนิยม จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ทั้ง 2 ประเทศจะกลับมาจับมืออย่างจริงใจกันได้ในเร็วๆ นี้

 

สงครามตัวแทน

 

เป็นที่ทราบกันว่า อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธทั่วภูมิภาคที่มุ่งเป้าโจมตีอิสราเอลและกองทัพสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อต่อสู้กับการยึดครองของอิสราเอลทางตอนใต้ของเลบานอน ฮิซบอลเลาะห์ได้ยิงจรวดเข้าใส่ทางตอนเหนือของอิสราเอลนับตั้งแต่สงครามฉนวนกาซาเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม

 

นอกจากนี้อิหร่านยังสนับสนุนฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่เปิดปฏิบัติการโจมตีตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคอยู่ในขณะนี้ 

 

กลุ่มติดอาวุธระดับแนวหน้าอีกกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านคือ กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน โดยกลุ่มฮูตียิงขีปนาวุธถล่มเมืองไอลัต ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศของอิสราเอลในทะเลแดง รวมทั้งโจมตีเรือขนส่งสินค้าเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มฮามาส

 

ขณะเดียวกันอิหร่านยังให้การสนับสนุนการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในซีเรีย โดยอิสราเอลระบุว่า เตหะรานใช้ดินแดนของซีเรียเพื่อจัดส่งขีปนาวุธและอาวุธอื่นๆ ให้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ขณะที่อิสราเอลเองได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศต่อซีเรียอย่างต่อเนื่องเพื่อหยุดการจัดส่งอาวุธดังกล่าว โดยอิสราเอลเชื่อว่า นายพลอิหร่านที่ถูกสังหารในการโจมตีสถานกงสุลที่ดามัสกัสนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการขนส่งอาวุธโจมตีอิสราเอล

 

ภาพ: Getty Images, Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising