ในที่สุดเราก็ได้ดูกันเสียที สำหรับ Godzilla Minus One ภาพยนตร์ในการกำกับของ ทาคาชิ ยามาซากิ ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานเรื่องเยี่ยมอย่าง ภาพยนตร์ชุด Always: Sunset on Third Street และ STAND BY ME Doraemon (2014) โดยหลังจากที่ภาพยนตร์เข้าฉายทาง Netflix เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ภาพยนตร์ก็ก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมในไทยอย่างรวดเร็ว
โดยนี่ถือเป็นการกลับมาสร้างภาพยนตร์ Godzilla ฉบับคนแสดงอีกครั้งของ Toho หลังจากที่ Shin Godzilla เข้าฉายในปี 2016 ซึ่งภาพยนตร์ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์และผู้ชมอย่างล้นหลาม ด้วยการกวาดรายได้รวมในญี่ปุ่นไปกว่า 7.4 พันล้านเยน พร้อมได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Japan Academy Film Prize มากถึง 12 สาขา และคว้าได้ 8 สาขา รวมถึงสาขาใหญ่ของงานอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อีกทั้งยังสามารถเดินทางไปคว้ารางวัลออสการ์สาขาวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จอีกด้วย
Godzilla Minus One จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 1945-1947 หลังจากที่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงได้ไม่นานนัก แต่ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงอ่อนแอ อยู่ๆ ก็มีสัตว์ประหลาดยักษ์ที่ถูกเรียกว่าก็อดซิลล่าปรากฏตัวขึ้นและทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า
โดยบอกเล่าผ่านสายตาของ ชิกิชิมะ (คามิกิ ริวโนะสุเกะ) นักบินรบพลีชีพหรือที่รู้จักกันในชื่อ คามิคาเซะ ที่รอดชีวิตจากการโจมตีของก็อดซิลล่าที่เกาะโอโดะ จนได้มาพบกับ โนริโกะ (มินามิ ฮามาเบะ) หญิงสาวที่รอดชีวิตจากสงครามและได้ช่วยเด็กกำพร้าคนหนึ่งไว้ พวกเขาตัดสินใจอยู่ร่วมกันและค่อยๆ สร้างชีวิตที่ดีขึ้น กระทั่งก็อดซิลล่าได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ชิกิชิมะจึงตัดสินใจเข้าร่วมแผนการกำจัดก็อดซิลล่าที่แทบจะเป็นไปไม่ได้
ทาคาชิ ยามาซากิ นับว่าเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นที่ได้กำกับผลงานที่พูดถึงประวัติศาสตร์และสงครามของญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง ทั้ง Always: Sunset on Third Street ที่ดัดแปลงจากมังงะในชื่อเดียวกันของ เรียวเฮ ไซกัง เล่าเรื่องราวของผู้คนในถนนสายที่ 3 ที่ค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ซึ่งใน Always: Sunset on Third Street 2 (2007) เขาก็ได้พาก็อดซิลล่ามาปรากฏตัวในช่วงสั้นๆ อีกด้วย) หรือจะเป็น The Eternal Zero (2013) ที่ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกันของ นาโอกิ เฮียคุตะ เล่าเรื่องราวชีวิตของนักบินรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมุมมองของคนสองยุค และ The Great War of Archimedes (2019) ซึ่งดัดแปลงมาจากมังงะในชื่อเดียวกันของ มิตะ โนริฟุสะ ที่เล่าถึงเบื้องหลังการสร้างเรือรบของญี่ปุ่นในช่วงปี 1933
Godzilla Minus One จึงเป็นภาพยนตร์ที่อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดมากมายที่ผู้กำกับและทีมสร้างหยิบนำมาประกอบร่าง เพื่อพาผู้ชมเข้าไปสำรวจมวลความรู้สึกของผู้คนชาวญี่ปุ่นในช่วงพ่ายแพ้สงคราม อาทิ เรื่องราวของชิกิชิมะและทาจิบานะ (อาโอกิ มุเนะทากะ) ที่แม้จะรอดชีวิตจากสงครามมาได้ แต่พวกเขาก็ยังต้องเผชิญกับภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) อยู่ตลอด หรือจะเป็นมุมมองของผู้คนธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามซึ่งบอกเล่าผ่านสายตาของโนริโกะและซูมิโกะ (ซากุระ อันโดะ) ที่ต้องสูญเสียครอบครัวไป และการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ผ่านสายตาของโนดะ (ฮิเดทากะ โยชิโอกะ) และอาคิสึ (คุราโนะสุเกะ ซาซากิ)
ไปจนถึงการหยิบนำเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ อาทิ การถูกลดขนาดของกองทัพญี่ปุ่นมาใช้เป็นหนึ่งในปมปัญหาสำคัญในการต่อกรกับก็อดซิลล่า หรือการสอดแทรกเหตุการณ์ Operation Crossroads หรือปฏิบัติการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาในปี 1946 มาใช้ในฉากที่ก็อดซิลล่าตื่นขึ้นอีกครั้ง ก็เป็นการร้อยเรียงเรื่องราวจากเหตุการณ์จริงเข้ามาเสริมให้ประเด็นของภาพยนตร์ที่ผู้กำกับและทีมสร้างต้องการนำเสนอชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้วยรายละเอียดยิบย่อยเหล่านี้จึงส่งให้ Godzilla Minus One เป็นภาพยนตร์ก็อดซิลล่าอีกหนึ่งเรื่องที่มาพร้อมกับประเด็นทางการเมืองอันเข้มข้น และอัดแน่นไปด้วยมวลความรู้สึกของตัวละครที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม
ซึ่งในอีกแง่หนึ่ง สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ก็อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับและทีมสร้างที่ต้องการยกย่องแก่ Godzilla ฉบับปี 1954 ของผู้กำกับ อิชิโร ฮอนดะ ที่เปรียบก็อดซิลล่าให้เป็นสัญลักษณ์ของความน่าสะพรึงกลัวจากสงครามและอาวุธนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับ Shin Godzilla (2016) ของสองผู้กำกับ ฮิเดอากิ อันโนะ และ ชินจิ ฮิงุจิ ที่ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นในปี 2011 พร้อมนำเสนอประเด็นทางการเมืองอย่างเข้มข้นและตรงไปตรงมา
ขณะเดียวกัน แม้ว่าตัวภาพยนตร์จะฉายภาพความโหดร้ายของสงครามผ่านเรื่องราวของตัวละครที่ต้องเผชิญกับก็อดซิลล่า แต่ผู้กำกับและทีมสร้างก็ไม่ลืมที่จะสอดแทรก ‘ความหวัง’ ที่ตัวละครต่างช่วยกันก่อร่างขึ้นมาและโอบกอดมันไว้อย่างแนบแน่น เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ที่ชิกิชิมะตัดสินใจรับงานปลดทุ่นระเบิดที่เสี่ยงอันตราย แต่เขาก็เลือกที่จะทำเพื่อหวังว่าจะทำให้ชีวิตของโนริโกะและเด็กน้อยดีขึ้น หรือเหตุการณ์ที่โนดะอธิบายแผนการโค่นก็อดซิลล่าที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังมีผู้คนที่ตัดสินใจมาร่วมทำภารกิจครั้งนี้ให้สำเร็จ ด้วยความหวังที่อยากจะปกป้องอนาคตของผู้คนที่รักเอาไว้
ซึ่งหากมองในแง่หนึ่ง เราก็อาจตีความสิ่งที่ผู้กำกับและทีมสร้างต้องการนำเสนอได้เช่นกันว่า ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด ขอจงโอบกอดความหวังไว้ เพราะอย่างน้อยที่สุดมันก็อาจจะช่วยเป็นแสงเล็กๆ ที่ส่องนำทางให้เราพบกับทางออก และบางครั้งความหวังนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นอกเหนือจากเนื้อหาที่เข้มข้นและรายละเอียดมากมายที่ผู้สร้างใส่เข้ามา Godzilla Minus One ก็ยังเป็นภาพยนตร์สัตว์ประหลาดที่นำเสนอฉากแอ็กชันออกมาได้สนุกตื่นเต้นไม่แพ้กัน ทั้งฉากการบุกโจมตีกินซ่าที่เผยให้เห็นถึงความน่าเกรงขามของก็อดซิลล่า หรือฉากสุดท้ายของเรื่องที่อาจจะดูไม่ได้เวอร์วังอะไรนัก แต่ผู้กำกับและทีมสร้างก็นำเสนอฉากฉากนี้ออกมาได้อย่างลุ้นระทึกเช่นกัน
ในภาพรวม Godzilla Minus One เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ก็อดซิลล่าเรื่องเยี่ยมที่สมการรอคอย ทั้งการพาผู้ชมย้อนกลับไปสัมผัสกับรากฐานของก็อดซิลล่าอีกครั้ง ผ่านเนื้อหาที่เข้มข้นและเรื่องราวของตัวละครที่มีมิติน่าสนใจ พร้อมสอดแทรกรายละเอียดทางประวัติศาสตร์เข้ามาเสริมให้ภาพรวมของภาพยนตร์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และขณะเดียวกันก็ยังมีฉากแอ็กชันที่น่าตื่นตาและชวนให้เราอยากเอาใจช่วยให้พวกเขาแคล้วคลาดปลอดภัย
สามารถรับชม Godzilla Minus One ได้แล้วทาง Netflix
ภาพ: godzilla231103 / X (Twitter)
อ้างอิง:
- https://en.wikipedia.org/wiki/47th_Japan_Academy_Film_Prize
- www.animenewsnetwork.com/news/2024-04-23/27th-detective-conan-film-stays-at-no.1-bluelock-episode-nagi-opens-at-no.2/.210112
- www.imdb.com/name/nm0945724/?ref_=tt_ov_dr
- www.silpa-mag.com/culture/article_33250
- www.imdb.com/title/tt4262980/trivia/?item=tr3013228